ฟาร์มไก่ใช้ "เอไอ"ทำงาน

ฟาร์มไก่ใช้ "เอไอ"ทำงาน

ในอนาคตอันใกล้ จำนวนแรงงานมนุษย์ หรือ คนทำงานจะค่อยๆลดจำนวนลงจนถึงขั้นขาดแคลน ดังนั้น คนงานหนึ่งคนต้องทำงานที่มีประโยชน์ ได้ประสิทธิผลมากกว่าไม่ใช่แค่การใช้แรงงาน หรือทำงานซ้ำๆอีกต่อไป “เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ” จึงเป็นคำตอบแห่งอนาคตที่เริ่ม

โดย ซีพีเอฟ และบริษัท เซอร์ทิส จำกัด จับมือร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีบริหารและจัดการฟาร์ม “CPF AI FarmLab Powered by Sertis”

เรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า การจัดการฟาร์ม และยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ จึงร่วมกับบริษัท เซอร์ทิส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจปศุสัตว์ โดยจะส่งเสริมผู้ประกอบการ เจ้าของฟาร์มและเกษตรกรให้มีความสามารถในการแข่งขันและก้าวทันยุคสมัย ภายใต้โครงการ “CPF AI FarmLab Powered by Sertis”

ทั้งนี้เซอร์ทิส ได้นำเทคโนโลยีเอไอ และ Computer Vision มาพัฒนาระบบบริหารและจัดการฟาร์ม โดยเริ่มจากฟาร์มที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือระบบป้องกันโรค เป็นหลัก

แม้ว่าลักษณะฟาร์มดังกล่าวจะมีความปลอดภัยสูงอยู่แล้วแต่การตรวจสอบย้อนกลับพบว่า ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะจุดที่ขายสุกร ที่มีการเปลี่ยนถ่ายมีความเสี่ยงสูงถึง 70 % ต่อการนำโรคเข้ามาระบาดในฟาร์มทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา 

ดังนั้นระบบเอไอจะเข้าไปติดตั้งบริเวณนี้ก่อน เป็นเฟสแรก สร้างระบบเตือนภัยแบบเรียลไทม์ เพื่อจะสามารถหยุดได้ทันทีที่มีปัญหาเกิดขึ้น โดยการลงทุนประมาณจุดละ 3 แสนบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีเฟสที่สอง เป็นการพัฒนาต่อยอดการนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาช่วยติดตามและประเมินสุขภาพสัตว์ ซึ่งความชื้น อุณหภูมิ ของโรงเล้า ที่ปัจจุบัน ซีพีเอฟร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการนำร่องไปแล้วโดยใช้งบลงทุน จุดละ 5 แสนบาท 

วิธีการเหล่านี้จะส่งผลให้ผู้ประกอบการรับทราบปัญหา แก้ไขได้ทันท่วงที และลดความเสียหาย ลดต้นทุนการเลี้ยงได้ เป็นการยกระดับฟาร์มอัจฉริยะ หรือ Smart Farm ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และสะดวกยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงไก่ สุกร ของไทยมีขนาดใหญ่ การดูแลด้วยคน อาจไม่ทั่วถึง บางครั้งอาจละเลยเพราะเหนื่อยเพลีย ซึ่งเป็นจุดอ่อน การแก้ไขทำได้ยาก เมื่อนำเอไอมาใช้จะสามารถปิดจุดอ่อนเหล่านี้ได้ทั้งหมด และพนักงานเหล่านี้ยังมีเวลาเหลือที่จะไปทำอย่างอื่นที่มีศักยภาพมากกว่า"

 โดยซีพีเอฟจะสนับสนุนให้ฟาร์มสุกร และไก่ไข่ ที่เป็นลูกเล้า ทั้งหมดใช้ระบบเอไอ นี้ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

ธี วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด กล่าวว่า เซอร์ทิส เป็นเหมือนมันสมองที่ใช้เทคโนโลยีเอไอ ควบคุมการทำงานในแง่ของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยทำหน้าที่ตรวจสอบเฝ้าระวัง การปฏิบัติงานของพนักงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านกล้องวงจรปิดที่ถูกติดตั้งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภายในฟาร์ม ระบบเอไอจะตรวจจับและวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพที่ได้รับ และแจ้งเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องทราบในทันที

 หากพบว่ามีพนักงานสัญจรเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีการส่งข้อความแจ้งเตือน ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ (Line)และภาพถ่าย snapshot นอกจากนี้ เจ้าของฟาร์มและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลสถิติย้อนหลัง ซึ่งถูกเก็บรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลที่แสดงผลบนแดชบอร์ด (Dashboard) เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

ทั้งนี้ การได้ร่วมมือกับซีพีเอฟ ยังเป็นการส่งเสริมแนวคิดและความมุ่งมั่นของเซอร์ทิส ในการนำเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในยุคดิจิทัล โดยเริ่มจากภาคการเกษตร อีกทั้งยังเป็นการสร้างแนวทางในการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เหมาะสมกับภาคธุรกิจต่างๆ ให้ก้าวทันยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง”

 ​    ธงชัย เดชอินทรนารักษ์ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เขาอ้อม จำกัด กล่าวว่า ฟาร์มเขาอ้อม ดำเนินธุรกิจด้านฟาร์มปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยได้ร่วมโครงการ CPF AI FarmLab Powered by Sertis”นี้ เพื่อช่วยกำหนดพื้นที่ภายในฟาร์มโดยแบ่งเป็นโซนอย่างชัดเจน รวมถึงสร้างมาตรการในการปฏิบัติงานในแต่ละพื้นที่ ไม่อนุญาตให้พนักงานเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหาการติดเชื้อและแพร่กระจายของโรคระบาดภายในฟาร์ม เช่น โรค ASF หรืออหิวาต์แอฟริกาในสุกร โรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์ปีก และโรคระบาดอื่นๆ

เทคโนโลยีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน คาดว่า ระบบนี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้อย่างดี ทั้งในแง่ของความปลอดภัยทางชีวภาพ และการทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 

อย่างไรก็ตามการทดลองใช้ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ากล้องดับบ่อยจากไฟดับและไม่เชื่อมต่อกับไฟสำรองได้ในระยะเวลาอันเร็ว แต่จะติดตั้งลำโพงใน เฟส 2 เพื่อให้รายงานปัญหาไดทันที

สุธี เตชะธนะวัฒน์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่จากแสงอุไรฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการนำเอไอมาใช้ในฟาร์ม เพราะขนาดฟาร์มที่ใหญ่ขึ้น อยู่ไกล ยากที่เจ้าของฟาร์มจะดูแลได้ตลอด24 ชั่วโมง 

“ต้องจ้างผู้จัดการ คนงานเพื่อช่วยในฟาร์ม แม้จะจัดวางไว้ทุกตำแหน่งอย่างทั่วถึงแล้ว แต่ยังมีช่องโว่และทำให้เกิดปัญหา และส่วนใหญ่มาจากคน”

การเลี้ยงไก่ในระบบปิดที่มีพัดลมควบคุมอากาศในโรงเล้ากว่า 20 ตัว ในช่วงกลางคืนฝนตก พายุเข้า อาจจะดับไป 5-6 ตัว ผู้จัดการฟาร์มอาจมองว่าไม่ใช้เรื่องใหญ่และไม่ได้แจ้งให้เจ้าของฟาร์มรับทราบในทันที แต่เรื่องนี้ได้สร้างความเสียหาย  ดังนั้นเอไอ ที่เข้ามาช่วยจะสามารถแจ้งเตือนได้อย่างเรียลไทม์ และตัดสินปัญหาได้เร็วขึ้น