“ค้าปลีก”พลิกเกม ปรับสู่ “นิวรีเทล”แก้เกมตลาดโตต่ำ

“ค้าปลีก”พลิกเกม ปรับสู่ “นิวรีเทล”แก้เกมตลาดโตต่ำ

ผู้ประกอบการค้าปลีก วิพากษ์ อุตสาหกรรมค้าปลีก เผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ชี้ไทยโตต่ำสุดในภูมิภาค กระทุ้งรัฐรื้อโครงสร้างใหม่เอื้อทำตลาด รีเทล ฟอร์ ทัวริสต์ พร้อมเร่งทรานส์ฟอร์มสู่ “นิวรีเทล” ผสานเทคโนโลยีเชื่อมออฟไลน์-ออนไลน์ ดักลูกค้าทุกช่องทาง

วานนี้ (19 ก.ย.) สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จัดงาน TRA RETAIL FORUM 2019 ระดมผู้เขี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีกทั้งด้านออฟไลน์ โมเดิร์นเทรด เทรดดิชั่นนอลเทรด และออนไลน์ ร่วม “ถอดบทเรียนค้าปลีกออนไลน์โลก สู่ ค้าปลีกออนไลน์ไทย” โดยนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

พร้อมเสวนา “สงครามออนไลน์: ค้าปลีกไทย จะรอด หรือ จะรุ่ง” โดยนางสาวภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้านค้าปลีกซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ชื่อท็อปส์ และเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ กรรมการผู้จัดการ ห้างตั้งหงี่สุ่น อุดรธานี นางอมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) นายนิธิพนธ์ ไทยานุรักษ์ ซีอีโอ ผู้ก่อตั้ง บริษัท บ๊อกซ์24 และ แอพพลิเคชั่นสั่งซื้อสินค้าช่วยโชห่วย กeพ Retail และนายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

นายวรวุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยขณะนี้เผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน จากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อในประเทศชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยภายนอกประเทศทั้งสงครามการค้าจีน สหรัฐ การลดค่าเงินหยวน เงินบาทแข็งค่า กระทบต่อภาคการส่งออก หนึ่งในเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

โดยปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ส่งผลอุตสากรรมค้าปลีกไทย มูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท เติบโตในอัตรา 2-3% ต่ำสุดในอาเซียนที่ธุรกิจค้าปลีกเติบโตสูง 9-10% ในขณะที่ไทยมีความได้เปรียบปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนสูง 30-40 ล้าคนต่อปี แต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้จ่ายจากอำนาจซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไทยยังขาดมาตรการรองรับ กระตุ้นให้เกิดการจับจ่าย

“ปีนี้คาดการณ์ค้าปลีกไทยโตได้แค่ 2-3% ต่ำกว่าจีดีพี ซึ่งผิดปกติ และขณะนี้เพื่อนบ้านต่างมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนักท่องเที่ยวมีการลดภาษีสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของนักเดินทางที่นิยมซื้อเมื่เดินทางท่องเที่ยว แม้กระทั่งจีนซึ่งเคยเปนตลาดใหญ่ในการขอปปิงของไทยเวลานี้ปรับโครงสร้างภาษีลงมีราคาต่ำกว่าไทยมีผลกระทบแน่นอน”

จี้มาตรการ รีเทล ฟอร์ ทัวริสต์

ทั้งนี้ เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทางด้านภาคการท่องเที่ยวไทย สร้างรายได้สูงอันดับ 4 ของโลกและมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 10 ซึ่งการท่องเที่ยวไทย 80% มาจากจีน เมื่อค่าเงินหยวนอ่อน เงินบาทแข็ง หากจีนมาเที่ยวไทยต้องใช้จ่ายแพงขึ้น 20% ขณะเดียวมีมาตรการกระตุ้นการใข้จ่ายภายในประเทศ แน่นอนว่านักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง ยังมีแนวโน้มใช้จ่ายน้อยลง โดยเฉพาะแบรนด์หรูหรา

"ปัจจัยลบด้านบาทแข็งเงินหยวนอ่อนนั้นยังไม่มีทีท่าผ่อนคลายลง สงครามการค้าสหรัฐจีนยังคงเข้มข้นอีก4-5ปี ปัญหาคือ เราจะอยู่กันอย่างไร ดังนั้นในภาคธุรกิจไทยจะต้องปรับตัวอย่างหนัก”

ประการสำคัญภาครัฐต้องพิจารณานโนยายและมาตรการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในระยะยาว ทั้งการปรับโครงสร้างภาษีสินค้าแบรนด์เนม มาตรการกระตุ้นการทำตลาด การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี

แนะทรานส์ฟอร์มสู่นิวรีเทล

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกไทยต้องปรับตัวด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวสู่ นิวรีเทล ด้วยการผสานออฟไลน์ ออนไลน์ สร้างการเข้าถึงลูกค้าทุกช่องทาง ทุกที่ ทุกเวลา

การใช้ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ทั้งรายใหญ่ กลาง เล็ก เบื้องต้นใช้เพสบุ๊ก ไลน์ สร้างการรับรู้แบรนด์ ควบคู่ไปกับการบริการ ด้านการแนะนำสินค้า ซ่อม บริการหลังการขายที่ดี และจัดกิจกรรมที่สร้างการเข้าถึงต่อตัวลูกค้าโดยตรง เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าให้เข้ามาในร้านค้า

แนะรัฐหนุนมาตรการยาว

นายวรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยส่วนตัวมองว่ามาตรการภาครัฐที่ออกมาในช่วงนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เช่น การให้เงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อัดฉีดเงิน 300,000 ล้านบาทเพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการใช้เงินเพียงรอบเดียวไม่ช่วยให้ห่วงโซ่เศรษฐกิจขับเคลื่อน ฉะนั้นควรแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างอาทิ ด้านกำแพงภาษีโดยลดอัตราภาษีนำเข้าเพื่อให้คนไทยซื้อสินค้าในประเทศมากขึ้น เพิ่มจำนวนผู้ประกอบจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีมากกว่าการผูกขาดเพียง 1 ราย เป็นต้น

เปลี่ยนวิธีคิดดันธุรกิจโต

นายมิลินทร์ กล่าวว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองทางธุรกิจค้าปลีกที่ไม่สามารถทำแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป ต้องผสานเทคโนโลยี ประสบการณ์ใหม่ พันธมิตรคู่ค้าทั้งรายเล็ก รายใหญ่ เปิดกว้างทางธุรกิจทุกรูปแบย แต่ต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าเป้าหมายในแต่ละทำเลที่มีความแตกต่างกัน

ทางด้านนางอมร ย้ำว่า ค้าปลีกออฟไลน์ยังมีโอกาสเติบโตและขยายเครือข่ายสาขา โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในชัวิตประจำวัน ซึ่งหัวใจสำคัญคือต้องพาตัวเองเข้าไปใกล้ลูกค้าให้มากที่สุด ปัจจุบันธนพิริยะ เปิดให้บริการ 26 สาขา และยังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง