'เอสซีบี'ยอมเฉือนรายได้100ล้าน เลิกค่าฟีลูกค้าเอสเอ็มอีบนดิจิทัล

'เอสซีบี'ยอมเฉือนรายได้100ล้าน เลิกค่าฟีลูกค้าเอสเอ็มอีบนดิจิทัล

ไทยพาณิชย์ ประกาศยกเลิก "ค่าธรรมเนียม" บนดิจิทัลให้ลูกค้าเอสเอ็มอี ทั้งค่าฟีโอนข้ามเขต ธุรกรรมเช็ค บาทเน็ต ผ่าน “มณี Free Solution”พร้อมให้ดอกเบี้ยบัญชีกระแสรายวัน 1% ยอมรับกระทบรายได้ปีละกว่า 100 ล้าน แต่มั่นใจส่งผลดีระยะยาว

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง จากภาวะความกดดันต่างๆ ทั้งจากผลกระทบในและต่างประเทศ และได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดีสรับชั่น ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

ดังนั้น เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี ธนาคารจึงมีการออกแคมเปญ “SME Fighto”เพื่อช่วยเอสเอ็มอี โดยภายใต้แคมเปญนี้ ธนาคารได้เปิดตัว “มณี Free Solution” ด้วย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มียอดขายไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้สามารถลดต้นทุนในการทำธุรกรรมได้ 3 ด้านด้วยกัน ด้านแรก ยกเลิกค่าธรรมทุกประเภท เมื่อทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม และมีบัญชีมณีมั่งคั่ง รวมถึงฟรีบริการรับฝากเช็คข้ามเขต ธุรกรรมบาทเนต 

สอง ให้ดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับ เอสเอ็มอีที่เปิดบัญชีมณีมั่งคั่ง ที่เป็นบัญชีกระแสรายวัน โดยให้ดอกเบี้ย 1% จากเดิมที่บัญชีนี้จะไม่ได้รับเงินฝาก และสุดท้าย ฟรีบริการ Co-working Space และสัมมนาต่อยอดธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยอมรับว่า การทำแคมเปญ มณี Free Solution จะมีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารให้หายไปค่อนข้างมาก จากเดิม ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียม จากการทำธุรกรรมของธุรกิจเอสเอ็มอีต่อปีกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้นรายได้ดังกล่าวจะหายไปทั้งหมด หลังจากมีการเสนอแคมเปญนี้ ซึ่งจะยิ่งมีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมในภาพรวมของธนาคารให้ติดลบต่อเนื่องใกล้เคียง1-2ปีก่อนหน้า ที่ค่าธรรมเนียมรวมของแบงก์ติดลบราว 10% ต่อปี หลังประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมบนดิจิทัล

ทั้งนี้ แม้รายได้จากค่าธรรมเนียมจะหายไป แต่ธนาคารคาดว่า ธนาคารจะมีฐานลูกค้าเอสเอ็มอีเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก 1แสนคน ในสิ้นปี 2563 จากปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าราว 2 แสนคน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธนาคารในระยะยาว ทั้งด้านดอกเบี้ย และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากดูพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีในปัจจุบัน อยู่ที่ราว 3แสนล้านบาท แบ่งเป็น เอสเอ็มอีรายกลาง มีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีไซส์เล็ก มีพอร์ตสินเชื่อรวมที่ 6 หมื่นล้านบาท

"การยกเลิกเก็บค่าฟีครั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมเราหายไปแน่นอน ปกติรายได้ค่าฟีของเอสเอ็มอีต่อปีอยู่ที่กว่า  100 ล้านบาท ดังนั้นพอเล่นแคมเปญนี้ค่าฟีจะหายไปทั้งหมด แต่เราก็ต้องยอม เพื่อช่วยเหลือลูกค้า เพราะถ้าเอสเอ็มอีอยู่ไม่รอด ธนาคารก็ไม่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงมองว่าการลดค่าฟีครั้งนี้จะดีระยะยาวกับแบงก์ ทั้งการที่ลูกค้าจะอยู่กับเรายาวขึ้น ทำให้เราสามารถให้บริการทางการเงินกลับกลุ่มนี้อีกมาก ที่เป็นการสร้างรายได้ใหม่ๆให้กับธนาคาร และเอสเอ็มอีบางคนมีภาระค่าธรรมเนียมที่สูงมากต่อปี บางรายต้องเสียรายได้ค่าฟีบนดิจิทัลปีละกว่า 1หมื่นล้นบาท อนาคตเราเชื่อว่าจะมีฐานลูกค้าเอสเอ็มอี เข้ามาใช้ SCB EASY เพิ่มขึ้นมาก จากวันนี้ที่มีฐานลูกค้าราว 10ล้านบัญชี"

นายอภิพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป ธนาคารต้องเร่งในการหารายได้ส่วนอื่นๆเข้ามาเสริมมากขึ้น เช่น การรุกเพิ่มสัดส่วนฐานบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์ และธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวที่จะทำให้ธนาคาร มีต้นทุนที่ต่ำและมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ จากการเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และภาระค่าใช้จ่ายจากการลดค่าธรรมเนียม จะทำให้คุณภาพหนี้ หรือเอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันที่อยู่ราว 8 %