ยธ.นัดแถลงปิดเกม 'กำไลEM' ผิดทีโออาร์พรุ่งนี้!

ยธ.นัดแถลงปิดเกม 'กำไลEM' ผิดทีโออาร์พรุ่งนี้!

"สมศักดิ์" นัดแถลงผลสอบ จบปัญหา "กำไลEM" ผิดทีโออาร์ ยธ.ส่อยกเลิกสัญญา หลังเอกชนแก้ไขข้อบกพร่องไม่ได้ กำไล 2,000 ชิ้น ถอดง่ายพรุ่งนี้!

เมื่อวันที่ 19 ก.ย.62 แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้( 20 ก.ย.) เวลา 11.00 น.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นัดแถลงผลการตรวจสอบอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลอีเอ็ม ภายหลังกรมคุมประพฤติและกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบพบว่า ระบบการทำงานของกำไลอีเอ็มมีความบกพร่อง ผิดไปจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ตามสัญญาเช่าใช้ ซึ่งกรมคุมประพฤติได้แจ้งให้บริษัทสุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด แก้ไขข้อบกพร่องให้ตรงตามทีโออาร์ภายในเวลา 15 วัน ผลปรากฎว่า ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากกำไลอีเอ็มจะต้องถอดออกได้ยาก และมีสัญญาณแจ้งเตือนเมื่อถูกถอดออก ไม่ว่าจะสวมที่ข้อมือหรือข้อเท้า

นอกจากนี้ในการตรวจสอบกำไลอีเอ็มจำนวน 4,000 ชุด วงเงินจำนวน 74 ล้านบาท ยังพบว่ากำไลอีเอ็ม จำนวน 2,000 ชิ้น สามารถถอดออกได้ กรมคุมประพฤติจึงต้องแจ้งยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทดังกล่าวเป็นเวลา 23 เดือน ส่วนจะดำเนินการเปิดประมูลใหม่อย่างไร เป็นขั้นตอนที่กระทรวงยุติธรรมและกรมคุมประพฤติจะต้องเข้ามาดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐาน

สำหรับข้อบกพร่องของระบบกำไลอีเอ็มที่ตรวจสอบพบ มี 3 ประเด็น คือ อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) สามารถถอดออกจากข้อมือได้โดยไม่ต้องใช้การตัดสายรัดหรืออุปกรณ์พิเศษในการถอด ผู้ถูกคุมประพฤติที่สวมใส่ หลายรายเกิดอาการแพ้ โดยบางรายเกิดผื่นสีแดงขึ้นบริเวณข้อมือ หรือมีผิวหนังแห้งบริเวณข้อมือ หรือมีแผลติดเชื้อบริเวณข้อมือ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน (Term of Reference : TOR) ทั้งๆที่มีการกำหนดไว้ว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องได้รับการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือหรือจากผู้ผลิตว่าเมื่อสวมใส่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผู้สวมใส่ได้โดยง่าย (Hypo-allergenic) และกำไลอีเอ็มมีการแจ้งเตือนบ่อยครั้ง และอาจจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสัญญาณแจ้งเตือนและประสิทธิภาพของอุปกรณ์

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติจากศูนย์ควบคุมการติดตามตัวผู้กระทำความผิดในงานคุมประพฤติด้วยอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการนี้เมื่อ 1มกราคม 2562 ถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้ารับการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตัวในแต่ละเดือนอยู่ที่ 200-700 คน แต่มีการแจ้งเตือนว่าอุปกรณ์ถูกทำลายสูงกว่า 1,000-100,000 ครั้งต่อเดือน หรือ ไม่มีสัญญาณสูงกว่า 20,000-170,000 ครั้งต่อเดือน เป็นต้น