ระวัง! เตือนภัยเชื้อไวรัส 'อาร์เอสวี' ในเด็ก

ระวัง! เตือนภัยเชื้อไวรัส 'อาร์เอสวี' ในเด็ก

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV)

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) โรคนี้พบมากในช่วงฤดูฝน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทั่วไปเชื้อไวรัส RSV ไม่ใช่ไวรัสที่เป็นอันตรายรุนแรงในคนปกติ มักจะเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งอาจทำให้มีอาการไอหรือมีอาการคล้ายโรคหวัดทั่วไปเท่านั้น

เด็กโตและผู้ใหญ่จะมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจมากจนถึงขั้นที่เป็นอันตราย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่อาการจะดีขึ้นหลังการรักษา 1-2 สัปดาห์ แนะล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งผู้ติดเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้นรีบไปพบแพทย์ทันที

นายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนในประเทศไทยมักพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) โดยเชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย เป็นต้น โดยเชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน 

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV ขั้นรุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กเล็กที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดตั้งแต่กำเนิด เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เด็กที่ได้รับเคมีบำบัดหรือได้รับการปลูกถ่ายกระดูก ทารกที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่แออัด ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ หรือเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เป็นโรคลิวคิเมียหรือผู้ติดเชื้อ HIV หรือเอดส์ เป็นต้น อาการโดยทั่วไปอาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจำเพาะของเชื้อนี้ที่มักพบในเด็กเล็กคือ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจดังวี้ด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ 

สถานการณ์โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี องค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า พบเด็กอายุต่ำกว่า5 ปี ทั่วโลกติดเชื้อ RSV ถึงปีละ 33.8 ล้านราย เสียชีวิต 160,000 ราย สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการย้อนหลัง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในปี 2560 เชื้อไวรัส RSV จะระบาดในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.โดยพบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 9 แห่ง (โครงการ WHO RSV Surveillance Project) จำนวน 1,935 ราย ติดเชื้อ RSV 148 ราย คิดเป็น 7.65% และปี 2561 จำนวน 968 ราย ติดเชื้อ RSV 115 ราย คิดเป็น 11.88% 

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี แต่สามารถปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยการล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด ควรสอนให้เด็ก ๆ ล้างมืออย่างถูกต้อง และรักษาสุขอนามัยส่วนตัว หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก

ผู้ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และควรปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม ทำความสะอาดบ้าน และของเล่นเด็กเป็นประจำ ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ

สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422