เปิดสถิติอภิปรายทั่วไป 9 ชั่วโมง 'รัฐบาลแจงน้อยมาก'

เปิดสถิติอภิปรายทั่วไป 9 ชั่วโมง 'รัฐบาลแจงน้อยมาก'

สภาฯไม่ได้คำตอบนายกฯ ปมถวายสัตย์ไม่ครบ เจ้าตัวอ้างเป็นสิทธิ - เปิดสถิติอภิปรายทั่วไป 9 ชั่วโมง รัฐบาลแจงน้อยมาก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ วานนี้(18 ก.ย.) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. โดยใช้เวลาอภิปรายทั้งหมดรวม 9 ชั่วโมง แบ่งเป็นการซักถามของฝ่ายค้าน 7.52 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาลใช้เวลาตอบ 1.08 ชั่วโมง ซึ่งนายกฯ ได้ใช้เวลาตอบเองประมาณ 30 นาที ส่วนที่เหลือมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตอบข้อซักถามฝ่ายค้านแทน

 นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยในช่วงเช้า ถึงกรอบเวลาการอภิปรายว่า ฝ่ายค้านต้องปรับเวลาใหม่ เพราะมีพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ในเวลา 18.00 น. ณ พระลานพระราชวังดุสิต

“ทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะครม.ทุกคนจะต้องไปร่วมพิธี ไม่สามารถอยู่ร่วมชี้แจงได้ ดังนั้นฝ่ายค้านจะปรับเวลาอภิปรายใหม่ไม่เกิน 18.00 น. แต่ผู้อภิปรายยังเป็น 15 คนเช่นเดิม และปรับลดเวลาการอภิปรายแต่ละคนลง ให้เนื้อหากระชับมากขึ้น"

เวลา 09.30 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดประชุมเพื่อพิจารณาญัตติการอภิปรายทั่วไปตามญัตติที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านกับอีก 205 คนได้เสนอ เพื่อสอบถามกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ 

โดยนายชวน ได้ชี้แจงถึงขั้นญัตติขั้นขั้นตอนในการอภิปราย จนกระทั่งนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้ทักท้วงว่า ทางศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งไม่รับพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว เนื่องจากว่าถือว่า เป็นการกระทำระหว่างรัฐบาลกับองค์พระมหากษัตริย์จึงถือว่าญัตตินี้ไม่มีผล 

ชวนยันหากมีอะไรผิดรับผิดชอบ

นายชวน จึงกล่าวชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่มีคำสั่ง ไม่รับพิจารณาไว้วินิจฉัย ไม่ใช่เป็นคำวินิจฉัยของศาล จึงไม่ได้มีผลผูกพัน และทางสภาได้พิจารณาญัตตินี้ด้วยความรอบคอบแล้ว เห็นว่าเป็นเพียงการสอบถาม เพื่อหาข้อเท็จจริงเท่านั้น และก็มีการเสนอแนะเท่านั้น ไม่ได้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายอย่างรอบคอบแล้ว ดังนั้นจึงขอยืนยันว่า หากมีอะไรที่ผิดรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ ก็ต้องรับผิดชอบ

ผู้นำฝ่ายค้านเปิดฉากนำซัดนายกฯ

ต่อมานายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดอภิปราย โดยกล่าวสรุปย้อนไปถึงพฤติกรรมที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ทั้งการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนและการไม่ชี้แจงรายละเอียดงบประมาณในการดำเนินนโยบาย ถือเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง ซึ่งบทเรียนเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีไม่แสดงถึงความมีวุฒิภาวะ ไม่รับฟังข้อท้วงติงจากทุกฝ่าย จนก่อให้เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่ทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น เพราะจงใจกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายสำคัญของประเทษ เมื่อความเชื่อมั่นไม่เกิด ความยอมรับนับถือจึงไม่มี และจะนำพาสังคมที่เผชิญกับวิกฤตให้อยู่รอดได้อย่างไร

รวมถึงกรณีที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ฝ่ายค้านเห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างนโยบายการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานและโครงสร้างคมนาคม ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงงบในการดำเนินนโยบาย

ปิยบุตรเรียกร้องให้รับผิดชอบ

ต่อมาเวลา 11.00 น.นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ่้นอภิปรายว่า ความสำคัญของการกล่าวปฏิญาณตามถ้อยคำที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่นายกฯ กลับอ่านไม่ครบถ้วน จากคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ที่บอกว่าพูดจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว จึงตั้งคำถามว่านายกฯจะรับผิดชอบแบบไหนในทางการเมือง ขอเตือนสตินายกฯว่า ควรจะยุติพฤติกรรมไม่เคารพ และไม่แยแสรัฐธรรมนูญได้แล้ว ไม่อย่างนั้นวันดีคืนดีท่านก็จะกลายเป็นอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์เสียเอง แล้วบอกว่าอะไรคือข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญ ขณะที่คนอื่นต้องปฏิบัติตาม แต่พวกท่านยกเว้นได้ แม้นายกฯเคยออกมายอมรับ และระบุว่าจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แต่จนขณะนี้ท่านก็ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย

จากนั้น นายปิยบุตร ได้เข้าสู่การสอบถามข้อเท็จจริง 4 ข้อถึง พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ และในช่วงท้ายนายปิยบุตร ยังได้เรียกร้องให้นายวิษณุ กลับมาเป็นคนเดิม ยุติการให้ความเห็นความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากเรือแป๊ะ ออกมาอยู่ในความยุติธรรม

“ผมไม่ต้องการทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ คนเก่า และ พล.อ.ประยุทธ์ คนใหม่แล้ว ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการถวายสัตย์การปฏิญาณไม่ครบถ้วน ผมขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งครับ"

โครงข่ายขบวนการทำลายปท.โผล่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการฟังการอภิปรายจากฝ่ายค้านที่รัฐสภา เป็นที่สังเกตว่า บนโต๊ะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีรายงานโดยหน้าปกเขียนว่า “โครงข่ายขบวนการทำลายประเทศ” วางไว้ในช่วงที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล กำลังอภิปราย สร้างความฮือฮาให้กับบรรดาช่างภาพสื่อมวลชนที่เห็น 

ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า รายงานฉบับดังกล่าว เป็นข้อมูลที่หน่วยข่าวความมั่นคงทำสรุปขึ้นมา เพื่อเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการรายงานข่าวตามปกติ อย่างไรก็ตาม เนื้อหารายละเอียดเกี่ยวข้องและโยงเครือข่ายไปถึงฝ่ายการเมือง และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นสถาบันรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วการทำรายงานของหน่วยข่าวต่างๆ นั้น ได้เป็นการทำรายงานนำเสนอตามปกติ และจะไม่มีการเผยแพร่เนื่องจากเป็นข้อมูลด้านความมั่นคงและอ่อนไหวต่อสถานการณ์

ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เอกสารดังกล่าวที่สื่อมวลชนเผยแพร่ เป็นเอกสารที่ฝ่ายความมั่นคงสรุปข้อมูลส่งให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นความลับ ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้

 เสรีพิศุทธ์ชี้ไม่แก้ไขคือโจราธิปไตย

ต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้อภิปราย โดยระบุว่าการกระทำของนายกฯ ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และอาจเข้าข่ายละเมิด ลบหลู่สถาบันอย่างชัดเจนด้วย

“ผมขอฝากแนะนำพล.อ.ประยุทธ์ ฐานะเป็นรุ่นพี่ ที่ขอแนะนำนายกฯรุ่นน้อง แม้ท่านจะตัดผมออกไป แต่ผมไม่ได้ตัด คือให้เอาอย่างป๋าเปรม ที่เคยพูดว่าผมพอแล้วครับ ลาออกเถอะครับ”

ประยุทธ์แจงไม่มีปมถวายสัตย์

ต่อมาเมื่อเวลา 15.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเข้าร่วมประชุมตั้งแต่เช้า ได้ลุกขึ้นชี้แจงถึงที่มาของงบประมาณที่นำมาบริหารประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยยืนยันว่า การบริหารงบประมาณรัฐบาลและเคารพ พร้อมทั้งดำเนินการตามนโยบายเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงผลดีผลเสียในการดำเนินการ มีการดูแลประชาชนทุกภาคส่วนทั้งประเทศ ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองก่องบผูกพันจนเป็นภาระของงบประมาณ และคำนึงถึงผลดีผลเสียในการดำเนินการมีการดูแลประชาชนทุกภาคส่วนทั้งประเทศไม่ใช่ดูแลเฉพาะพื้นที่พรรคของตัวเองเท่านั้น 

“ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ตามที่มีการบอกว่าเป็นการร่างมาเพื่อผมนั้น ยืนยันอีกครั้งว่าผมไม่ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.เป็นคนร่าง ผมไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับท่านเลย จำไว้ผมจะไม่ยุ่งกับเขา เมื่อสักครู่ท่านพูดคำว่า ผมไปใช้กลไกเหนือทั้ง 3 อำนาจ ผมพูดถึงกรณีมาตรา 44 ท่านอย่าเอาเฉพาะประเด็นมาพูดตรงนี้ ผมพูดถึง 44 ตรงนั้น เพื่อจะปลดล็อคอะไรต่าง ๆ มันถึงได้ไงเพราะกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นท่านเอามาตี พันกันอย่างนี้ไม่ได้ ผมรับไม่ได้ ถึงแม้ 5 ปีที่ผ่านมาจะเป็นรัฐบาลก่อนหน้าการเลือกตั้งก็ตาม แต่ผมเคารพในหลักการของรัฐธรรมนูญทุกตัว จำเป็นต้องฟังผมบ้าง ผมไม่เคยที่จะไปล่วงละเมิดไม่มีที่จะทำอะไรเสียหาย" นายกฯ กล่าว

ตลอดช่วงการชี้แจง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขอโทษสมาชิกเป็นระยะ ถึงการพูดเสียงดังและการพูดเร็ว ระบุว่าเป็นเพราะเวลามีจำกัด โดยใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที และไม่มีการชี้แจงเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติ โดยก่อนจบ พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยมุกพร้อมยิ้มแย้มอย่างอารมณ์ดี

มอบวิษณุแจง-ไม่ตอบปมถวายสัตย์

จากนั้นเมื่อเวลา 15.53 น.​ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางออกจากห้องประชุมสภาฯทันที โดยผู้สื่อข่าวสอบถามว่าหลังงานสวดมนต์​ จะกลับเข้าสภาฯเพื่อมาตอบคำถามหรือไม่​ ซึ่งนายกฯกล่าวว่า “รับข้อเสนอไว้ทั้งหมด เดี๋ยวมีคนตอบให้ ส่วนเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ​ เป็นสิทธิที่จะไม่ตอบ”

เมื่อถามว่า​ นายกฯยังไม่ได้ชี้แจงเรื่องถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า​ “เดี๋ยวมีคนชี้แจง ผมให้แนวทางชี้แจงไปแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้แจง” ส่วนที่ถามหลังจากร่วมพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลฯ นายกฯจะไม่กลับมาสภาฯอีกแล้วใช่หรือไม่​นั้น “งานสวดมนต์เลิก​ 3 ทุ่ม​ ถ้ากลับมาคงเลิกประชุมแล้ว จะเอาอะไรกับผมนักหนา”

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหัวหน้าคณะ​รักษา​ความสงบ​แห่งชาติ​(คสช.)​ ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ​ นายกฯรู้สึกสบายใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามพร้อมชี้มือมาที่สื่อว่า “เหรอ ยังไม่รู้เลย ไม่รู้เรื่อง​ แล้วเชื่อศาลและเคารพศาลหรือไม่ ก็เป็นไปอย่างนั้นแหละ”

รับมีข้อมูลขบวนการทำลายปท.

ที่รัฐสภา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาฯ ว่า ในส่วนของนายกฯ ก็ชี้แจงครบถ้วนดี และสิ่งที่นายกฯพูดเป็นความจริงทั้งนั้น ส่วนเอกสารโครงข่ายขบวนการทำลายประเทศที่วางอยู่บนโต๊ะของพล.อ.ประยุทธ์ขณะอภิปราย ได้เห็นหรือไม่ และมีอยู่จริงหรือไม่นั้นา เห็นแล้ว ก็ดูเอาเอง เมื่อถามย้ำว่า ท่านมีข้อมูลอย่างไรบ้าง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็มีข้อมูล ส่วนเป็นเครือข่ายในประเทศหรือต่างประเทศและมีใครเกี่ยวโยงบ้างนั้น ยังไม่รู้

วิษณุแจงแทนปมถวายสัตย์

ต่อมาวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ชี้แจงปมถวายสัตย์ ว่า เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่ยืนยันต่อองค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้มาหลายฉบับ กรรมาธิการที่ร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าเป็นการยืนยันให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น นั่นคือ พระมหากษัตริย์ จึงเรียนว่า รัฐบาลอาจจะผิด ส่วนตัวก็อาจจะผิด แต่เราเข้าใจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างนั้น ในคำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในหน้าที่ 2 บรรทัดที่ 3 ก็ระบุว่า เป็นเรื่องระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์

ต้องแยกการปฏิญาณตน และ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เช่น ส.ส. ก่อนเข้าสภาต้องปฏิญาณตน แต่ ครม. ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณสำคัญคือมีผู้รับคำถวายสัตย์ฯ ทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ก็ไม่ได้ ต้องเอ่ยคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า... ดังนั้นไม่มีอะไรเป็นเรื่องลับ เมื่อมีการถวายสัตย์ฯ จบลงด้วยการพระราชดำรัสตอบทุกครั้งไป ซึ่งในวันที่ 16 ก.ค. เมื่อสิ้นสุดถ้อยคำถวายสัตย์ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำรัสตอบ ซึงไม่ต้องตีความ นี่คือพระบรมราชานุญาต และปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ไม่งั้น คสช. ก็ยังอยู่ รัฐบาลเก่ายังอยู่ รัฐบาลใหม่โมฆะ แต่ไม่ใช่แบบนั้นหลังจากนั้น มีการแถลงนโยบาย ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เหมือนทุกรัฐบาล