‘เมียนมา’ดึงต่างชาติร่วมพัฒนาฟินเทค

‘เมียนมา’ดึงต่างชาติร่วมพัฒนาฟินเทค

ปัจจุบัน เมียนมา มีธนาคารแห่งรัฐอยู่ 4 แห่ง ธนาคารรัฐวิสาหกิจ 9 แห่ง ธนาคารเอกชน 14 แห่ง ธนาคารต่างชาติ 13 แห่ง และตัวแทนธนาคารต่างชาติอีก 49 แห่ง

รัฐบาลเมียนมาต้องการปฏิวัติระบบการเงินการธนาคารของประเทศ จากเดิมที่เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใช้เงินสด ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ไว้วางใจระบบธนาคารเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สาเหตุหนึ่งจากที่มีประสบการณ์กับธนาคารและเกิดวิกฤตการทางการเงินในอดีต ส่งผลให้ประชาชนนิยมเก็บเงินสดไว้ในมือ หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันทางการเงิน

กระทั่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคการเงินของเมียนมาได้มีการปรับตัวครั้งใหญ่ ลดการพึ่งพาการใช้เงินสดในการทำธุรกรรม โดยธนาคาร 21 แห่งในเมียนมาใช้ระบบการเข้ารหัส (SWIFT) ที่เป็นมาตรฐานสากลในการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารต่างชาติ

มินต์ มินต์ จี ผู้อำนวยการแผนกบัญชี ธนาคารกลางเมียนมา กล่าวภายในงาน “เมียนมา อินไซต์ 2019”(Myanmar Insight 2019) หัวข้อ “นโยบายการเงินและเทรนด์การทำธุรกิจในเมียนมา” ว่า ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบการเงินการธนาคารของประเทศให้ทันสมัย และพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ให้แข็งแกร่ง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน และสร้างบรรยากาศการแข่งขันด้านธุรกิจการเงินภายในประเทศ

ทั้งนี้ เมียนมามุ่งพัฒนาระบบการเงินการธนาคารภายในประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินเหมือนในอดีต เช่น ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินจ๊าตต่อดอลลาร์สหรัฐที่มีความผันผวน ยกตัวอย่างเดือนมีนาคม 2562 ในช่วงครึ่งเดือนแรกเงินจ๊าต อ่อนค่าลงมากที่สุดอยู่ที่ 1,542 จ๊าดต่อดอลลาร์ และเริ่มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา

มินต์ มินต์ จี กล่าวอีกว่า เมียนมามีแผนพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงิน ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อขยายบริการธุรกรรมทางการเงินจากเดิมผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ไปสู่เคาน์เตอร์เซอร์วิส และผ่านทางออนไลน์ตลอด 24 ชม. ตลอด 7 วัน ควบคู่ไปกับการยกระดับความปลอดภัยด้านการให้บริการบัตรเครดิต และแอพพลิเคชั่นโอน-ชำระเงิน ซึ่งขณะนี้ใช้ได้เฉพาะภายในประเทศเท่านั้น

ปัจจุบัน เมียนมา มีธนาคารแห่งรัฐอยู่ 4 แห่ง ธนาคารรัฐวิสาหกิจ 9 แห่ง ธนาคารเอกชน 14 แห่ง ธนาคารต่างชาติ 13 แห่ง และตัวแทนธนาคารต่างชาติอีก 49 แห่ง

“ล่าสุด เมียนมาได้ให้ใบอนุญาตกับธนาคารกว่า 10 แห่ง ในการให้บริการธุรกรรมทางการเงินกับประชาชนในประเทศ รวมถึงกลุ่มนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็นเกี่ยวกับธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการที่มีแรงงานเมียนมาอยู่ในประเทศไทย และอีกหลายๆประเทศในทั่วโลก เพื่อได้ส่งเงินกลับมายังประเทศ” ผู้อำนวยการแผนกบัญชี ธนาคารกลางเมียนมา

มินต์ มินต์ จี กล่าวด้วยว่า เมียนมายังร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น เพื่อยกระดับโครงสร้างระบบการเงินการธนาคารของเมียนมาให้ทันสมัย หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินกับระบบการเงิน ก็จะมีระบบสำรองฉุกเฉิน ( Disaster Recovery Site) เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาให้บริการแบบเร่งด่วน แต่เมียนมาต้องการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนพัฒนาระบบการเงินการธนาคาร และฟินเทคในเมียนมาอีกเป็นจำนวนมาก

ด้าน อ่อง หน่าย อู ปลัดกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศของเมียนมา กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในเมียนมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 - พ.ค. 2562 พบว่า คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา ได้อนุมัติการลงทุนคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,500 ล้านดอลลาร์ โดยมีสิงคโปร์เข้ามาลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนอยู่ที่ 64.51% รองลงมาเป็นฮ่องกง 11.15% อันดับ3 เป็นจีน 10.04% และอันดับ4 เป็นไทยมีการลงทุนสูงมีสัดส่วน 5.70%

ส่วน สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า ไทยและเมียนมาได้ประกาศยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนกับเมียนมา เพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน และยังได้จัดกิจกรรมและการพัฒนาการค้าตามแนวชายแดนให้คึกคัก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างเม็ดเงินจากการค้าการลงทุนในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.6 ล้านล้านบาท

ปัจจุบัน การค้าการลงทุนระหว่างไทย - เมียนมาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและเมียนมาในช่วง 5 เดือนแรก ตั้งแต่มกราคม – พฤษภาคม 2562 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,188.69 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 12.43 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เมียนมา มีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนอย่างยิ่ง เพราะมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 ตลาดใหญ่สำคัญๆ อย่างจีนและอินเดีย และมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก เมียนมาจึงเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกวางให้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคด้วย