'การทูตแพนด้า' ซอฟต์พาวเวอร์ซื้อใจชาวโลกของจีน

'การทูตแพนด้า' ซอฟต์พาวเวอร์ซื้อใจชาวโลกของจีน

รายงาน: มาดูกันว่า การใช้แนวทางการทูตแพนด้าของรัฐบาลจีน หรือดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือใช้อำนาจทางวัฒนธรรมของรัฐบาลปักกิ่ง ได้ผลและคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สวนสัตว์ซานดิเอโกในสหรัฐ แถลงว่า เตรียมงานส่งหมีแพนด้าสองตัว คือ ไป่หยวน วัย 27 ปี และลูกชาย เสี่ยวลี่วู วัย 6 ขวบ คืนให้กับรัฐบาลจีน เนื่องจากสัญญายืมตัวหมดอายุลง โดยจะเปิดให้ชาวอเมริกันได้ร่ำลาแพนด้ายักษ์ทั้งสองตัวได้จนถึงวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา

แถมสวนสัตว์ซานดิเอโก ยังระบุว่า ทีมงานทุกคนอยู่ในสภาพเศร้าโศก เพราะคุ้นเคยกับหมีแพนด้าจากประเทศจีนมานานกว่า 20 ปี เพราะไม่สามารถยืม หรือซื้อหาหมีแพนด้า ซึ่งเป็น สัตว์ยอดนิยมของเด็กๆ มาทดแทนได้อีก แต่ในสหรัฐยังมีหมีแพนด้าให้ชมอีกอย่างน้อย 3 แห่ง คือที่สวนสัตว์สมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดีซี สวนสัตว์แอตแลนตา และสวนสัตว์แมมฟิส

นั่นคือการจาก “เป็น” แต่กรณีของ“ช่วงช่วง”แพนด้ายักษ์ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ในประเทศไทย เป็นการจาก “ตาย” ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ รวมทั้งบรรดาแฟนคลับช่วงช่วงต่างเศร้าโศกเสียใจไม่ต่างกับชาวอเมริกันในซานดิเอโก มาดูกันว่าการใช้แนวทางการทูตแพนด้าของรัฐบาลจีน หรือดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือใช้อำนาจทางวัฒนธรรมของรัฐบาลปักกิ่งได้ผลและคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

การทูตแพนด้าของจีน เริ่มตั้งแต่สมัยพระนางบูเช็กเทียน (ช่วงปี 690-705) ที่ส่งแพนด้าคู่หนึ่งไปประเทศญี่ปุ่น และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนก็ส่งแพนด้าไปเป็นทูตสันถวไมตรีกับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่ปี 2501-2525 จีนได้ส่งมอบแพนด้าในฐานะเป็นของขวัญให้กับประเทศต่าง ๆ 9 ประเทศ โดยส่งให้สหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย และอีกหลายประเทศ

แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ 2515 เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด นิกซัน ของสหรัฐเดินทางไปเยือนจีน ด้วยความหวังว่าอยากให้สัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับประเทศคอมมิวนิสต์จีนดำเนินไปด้วยความราบรื่นมากกว่าที่เป็นอยู่ จีนจึงตอบรับการเปิดประตูครั้งนี้ของสหรัฐ ด้วยการส่งมอบแพนด้า 2 ตัวไปให้สวนสัตว์ในวอชิงตัน ดีซี ขณะที่สหรัฐส่งชะมดวัวไปให้จีนเลี้ยงเป็นการตอบแทน

พอมาถึงปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่่แพนด้ามีจำนวนลดลงมาก รัฐบาลจีน จึงปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องนี้ใหม่ ด้วยการเลิกส่งแพนด้าไปเป็นของขวัญแก่นานาประเทศ แต่เปลี่ยนมาเป็นการให้ขอยืมแพนด้าเป็นระยะเวลา 10 ปี และมีการพิจารณาต่อสัญญากันเป็นระยะๆ

ข้อมูลเมื่อปี 2560 จำนวนแพนด้าทั่วโลกเหลืออยู่แค่ 1,800 ตัวและที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกต้องจ่ายเงินประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ให้จีนเป็นค่าตอบแทนในการยืมแพนด้ามาไว้ในประเทศตัวเอง และหากแพนด้าเหล่านี้มีลูกก็จะต้องจ่ายเพิ่มตัวละ 4 แสนดอลลาร์ โดยที่ลูกของแพนด้ายังคงถือเป็นสมบัติของรัฐบาลจีน

ในปี 2560 รัฐบาลจีนส่งแพนด้ายักษ์ “เมิ่งเมิ่ง” และ “เจียวชิ่ง” ให้รัฐบาลเยอรมนี ด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้าของสายการบินลุฟต์ฮันซา พร้อมกับเสบียงอาหารอย่างต้นไผ่ แอปเปิ้ล และขนมแป้งนึ่งสูตรจีน รวมทั้งหมดกว่า 1,000 กิโลกรัม รวมถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยการเพาะเลี้ยงแพนด้ายักษ์เฉิงตูและสัตวแพทย์อาวุโสจากสวนสัตว์เบอร์ลิน

แพนด้ายักษ์เมิ่งเมิ่ง เพศเมียวัย 4 ปี และเจียวชิ่ง เพศผู้วัย 7 ปี มีสุขภาพแข็งแรงดีและเมิ่งเมิ่งที่ยังไม่โตเต็มวัยถูกคาดหวังให้ร่วมกันผลิตทายาทกับเจียวชิ่งหลังจากมันอายุครบ 6 ปี ซึ่งจีนมอบแพนด้ายักษ์คู่นี้ให้เยอรมนี เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับเยอรมนี แพนด้ายักษ์ทั้งสองตัวจึงใช้ชีวิตอยู่ที่สวนสัตว์เบอร์ลินเป็นเวลา 15 ปี

แต่ในฐานะเป็นทูตสันถวไมตรี เมื่อจีนต้องการแสดงออกว่าไม่พอใจประเทศใด ก็จะแสดงออกผ่านแพนด้าด้วยเหมือนกัน อย่างเช่น ที่จีนระงับจัดส่งมอบแพนด้ายักษ์ให้มาเลเซีย หลังจากไม่พอใจการรับมือเหตุของรัฐบาลมาเลเซียกรณีเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ของเครื่องบินโบอิง777 สูญหายอย่างลึกลับ

ในครั้งนั้น ทางการจีนออกคำสั่งเลื่อนการส่งมอบ “เฟิ่งอี้” และ “ฝูหวา” คู่แพนด้ายักษ์ ที่จีนตั้งใจมอบให้มาเลเซียเป็นของขวัญในโอกาสเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศครบ 40 ปี และเป็นไปตามข้อตกลงยืมแพนด้าที่ทั้งสองประเทศได้ทำร่วมกันไว้เมื่อปี 2555

สถานทูตจีนประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ยืนยันกับเซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ว่า คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้โดยสารซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นชาวจีนและลูกเรือบนเครื่องบินโบอิง 777 เที่ยวบินเอ็มเอช370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์สที่สูญหาย รวมถึงบรรดาญาติและครอบครัวของผู้โดยสารที่ต่างตกอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจ

ทั้งนี้ เฟิ่งอี้ และฝูหวา มีกำหนดเดินทางออกจากศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์แห่งนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ในคืนวันที่ 15 เม.ย. และจะถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ในช่วงเช้าวันถัดมา ซึ่งมาเลเซียก็จัดเตรียมสถานเลี้ยงดูที่จำลองสภาพแวดล้อมจากบ้านเกิด มูลค่ากว่า 25 ล้านริงกิต ไว้ต้อนรับอย่างดีแต่กระแสต่อต้านมาเลเซียในจีน ที่ไม่พอใจมาตรการแก้ไขปัญหาเหตุโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย ก็ทำให้ทางการแดนมังกรเริ่มลำบากใจ และเลือกระงับการส่งมอบแพนด้าออกไปอย่างไม่มีกำหนดแทน

แต่นอกเหนือจากแพนด้าแล้ว จีนใช้สัตว์ชนิดอื่นเป็นเครื่องมือส่งเสริมการทูตกับนานาประเทศทั่วโลกด้วย เช่น ปลาสเตอร์เจียน เต่ายักษ์ และม้า และหากไม่ใช่การใช้สัตว์เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมสัมพันธไมตรี จีนก็ใช้รูปแบบมอบความช่วยเหลือกด้านต่างๆให้แทน เช่น ให้เงินทุนช่วยเหลือแบบให้เปล่า ให้กู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย คิดดอกเบี้ยปกติแต่ให้กู้ระยะยาว และในบางกรณีก็็ยกหนี้ให้เลย ซึ่งวิธีการแบบนี้ ทำให้จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก เมื่อมาทำโครงการหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง หรือ โครงการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งตามแนวเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน

การใช้แพนด้ายักษ์เป็นเครื่องมือทางการทูตของจีนสิ้นสุดลงหลังจากที่ทางการจีนเลิกมอบแพนด้าให้แก่ประเทศต่างๆเป็นการถาวร แต่หันมาให้เช่าเป็นการชั่วคราวแทนตั้งแต่ปี 2527 และมีอย่างน้อย 9 ประเทศที่ทำสัญญาเช่าแพนด้ายักษ์จากจีน แต่แพนด้ายักษ์ก็ไม่ได้รับการต้อนรับเสมอไป โดยในปี 2541 ทางการจีนส่งแพนด้ายักษ์ 2 ตัวให้ไต้หวัน แต่จีนแถลงกับองค์กรดูแลการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชระหว่างประเทศ (ไซเตส) ว่า การส่งแพนด้าครั้งนี้เป็นการส่งภายในประเทศไม่ใช่การส่งออกนอกประเทศ ซึ่งคำแถลงนี้ทำให้ไต้หวันปฏิเสธไม่รับแพนด้าทั้งสองตัว

อย่างไรก็ตาม ตัวทูตสันถวไมตรีเอง ซึ่งก็คือแพนด้ายักษ์นั้น ไม่ใช่ทุกตัวที่จะประพฤติตัวเป็นนักการทูตที่ดี โดยในปี 2534 อังกฤษได้แพนด้ายักษ์ชื่อ “หมิงหมิง” มาจากจีน และได้ “เปาเปา” มาจากเยอรมนี และสวนสัตว์กรุงลอนดอน ตั้งความหวังว่าจะให้แพนด้าทั้งคู่ออกลูกให้ได้ แต่ปรากฏว่า นอกจากทั้งคู่จะมีนิสัยเข้ากันไม่ได้แล้ว ยังต่อสู้กันแบบไม่มีใครยอมแพ้ใคร จนสวนสัตว์กรุงลอนดอนต้องส่งแพนด้ายักษ์ทั้งสองกลับประเทศไปตามระเบียบ