อุตฯดันรายย่อย 'เอสเคิร์ฟ'

อุตฯดันรายย่อย 'เอสเคิร์ฟ'

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งพัฒนาเอสเอ็มอี S-Curve 3 กลุ่ม “เครื่องมือแพทย์–อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ–ชิ้นส่วนอากาศยาน” หนุนอุตฯไฮเทคลงทุนในอีอีซี ตั้งเป้าปี 2563 พัฒนา 6 หมื่นราย สร้างรายได้เพิ่ม 1.8 หมื่นล้านบาท

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยถึงแผนการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่ม S-Curve ในปี 2563 ว่า กสอ.ได้ส่งเสริมเอสเอ็มอีในกลุ่ม S-Curve ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.เครื่องมือแพทย์ 2.ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.ชิ้นส่วนอากาศยาน

โดยในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ กสอ.ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยรังสิต เนื่องจากทั้ง 2 มหาวิทยาลัยนี้มีโรงพยาบาลของตัวเอง ทำให้รู้ถึงความต้องการของผู้ป่วยและแพทย์อย่างแท้จริง โดยจะพัฒนาเครื่องมือแพทย์ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษา เช่น เครื่องมือตรวจชิ้นเนื้อที่ต้องสอดใส่เข้าไปในร่างกายเพื่อเก็บชิ้นเนื้อ

2.เครื่องมือที่ใช้บำบัดผู้ป่วย เช่น เตียงผู้ป่วยที่มีระบบถุงลมช่วยในการพลิกตัว , เตียงทันตกรรม เป็นต้น

3.เครื่องมือใช้ช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เช่น เซ็นเซอร์ที่ออกแบบเพื่อสวมใส่นิ้วของคนตาบอดเพื่ออ่านอักษรเบลล์แปลออกมาเป็นคำพูด รถเข็นไฟฟ้าที่มีระบบล้อหมุนได้ 360 องศา เป็นต้น ซึ่งจะต้องร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่หลากหลาย โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาสินค้าให้ได้ 40 ผลิตภัณฑ์ มีเอสเอ็มอีเข้าร่วม 80 ราย

เน้นเสริมศักยภาพรถไฟฟ้า

ส่วนกลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จะส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับคอน) พัฒนาระบบรถลำเลียงสินค้าอัจฉริยะ (เอจีวี) และหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาระบบเอจีวี จากเดิมที่รถลำเลียงอัตโนมัติจะเคลื่อนที่ตามเส้นบนพื้นที่กำหนดไว้ มาเป็นระบบอัจฉริยะ โดยการนำระบบเอไอ และจีพีเอส เข้ามาช่วยในการขนส่ง

นอกจากจะเป็นระบบอัจฉริยะแล้ว ยังรองรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้น เหมาะที่จะใช้ในท่าอากาศยาน คลังสินค้า และคลังสินค้าห้องเย็นที่ใช้เก็บอาหาร เนื่องจากการใช้ระบบเอจีวีจะสะอาดมากกว่าใช้รถยกแบบเดิม โดยตั้งเป้าหมายที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 2 ผลิตภัณฑ์ มีเอสเอ็มอีเข้ามาร่วมผลิต 20 กิจการ

ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอากาศยาน ได้ร่วมมือกับบริษัท เลนโซ่ แอโรสเปซ จำกัด ที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินป้อนให้กับโบอิ้ง และแอร์บัส มาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผลิตชิ้นส่วนต่างๆในเครื่องบิน โดยขณะนี้ได้รวมกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ 10 ราย ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควร เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูงมาก

“เอสเอ็มอีในกลุ่ม S-Curve ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และภาคกลาง เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีส่วนมากจะอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งการเข้าไปพัฒนาเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ จะช่วยรองรับอุตสาหกรรม S-Curve ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี รวมอยู่ในห่วงโซ่การผลิตในอนาคต”

เทคโนโลยีพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

นายกอบชัย กล่าวว่า ส่วนแผนตามนโยบาย “From Local to Global” by Marketing and Innovation คิือการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต ในกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรด้วยแนวคิดการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมผ่านกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารจัดการทรัพยากร ตั้งแต่ คน วัตถุดิบ เครื่องจักร และความต้องการของลูกค้า บริหารเครือข่ายธุรกิจภายใต้ Supply Chain ได้อย่างเป็นระบบ

การทำงานจะร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และกองทุนหมู่บ้าน คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าสู้โครงการพัฒนา ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ตั้งเป้าร่วมกับ กสอ. พัฒนาเอสเอ็มอีการเกษตรให้ได้ 1 หมื่นราย ขณะที่กองทุนหมู่บ้านมีสมาชิกกว่า 13 ล้านคน ซึ่งจะต้องคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ โดย กสอ. ตั้งเป้าในปี 2563 จะพัฒนาเอสเอ็มอีให้ได้ไม่น้อยกว่า 6 หมื่นราย สร้างมูลค่าเพื่มทางเศรษฐกิจจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การประหยัดพลังงาน การลดต้นทุน และการเพิ่มนวัตกรรมให้กับสินค้า มีมูลค่า 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท

ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม 15% 

“คาดว่ากลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการชุมชนที่ได้รับการยกระดับการบริหารจัดการเชิงอุตสาหกรรมจะมีความเข้มแข็ง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15%”

สำหรับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,280 ล้านบาท สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ สถานประกอบการ และวิสาหกิจชุมชนกว่า 6 หมื่นราย พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้กว่า 3 พันผลิตภัณฑ์ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย 35 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้ในช่วงแรก 1.3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ จากนโยบายการตลาดนำการส่งเสริมทั้งด้านบุคลากรและการสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น การค้าออนไลน์ โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างแบรนด์ธุรกิจ บิ๊กดาต้า เป็นฐานข้อมูลการจับคู่ธุรกิจบน T-GoodTech โดยมีผู้เข้ารับการอบรมกว่า 4 พันราย เกิดการต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าผลผลิต ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 500 ล้านบาท

เชื่อมงานวิจัยกับผู้ประกอบการ

สำหรับนโยบายนวัตกรรมนำการส่งเสริม กสอ. ได้ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ผ่านกิจกรรม และโครงการต่าง ๆ ที่เกิดจากการบูรณาการกับสถาบันการศึกษา 8 แห่ง ในการดำเนินกิจกรรม ‘Research Connect’ หรือ ตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมระหว่างผู้พัฒนาและผู้ประกอบการ พร้อมต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์

โดยมีการนำผลงงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 65 ผลงาน ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูป กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มการแพทย์-สุขภาพ และกลุ่มซอฟต์แวร์และดิจิทัล มานำเสนอแก่ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการต่อยอดจับคู่ธุรกิจ จำนวน 15 ราย คาดเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 77 ล้านบาท

นอกจากนี้ กสอ. ยังขยายผลการดำเนินงานด้านการพัฒนานวัตกรรมผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC) ควบคู่กับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ล่าสุดมีผู้เข้ารับบริการแล้ว จำนวนกว่า 1.8 หมื่นราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3.5 พันล้านบาท