กก. วัตถุอันตราย มีมติให้ กษ. นำหารือ 4 ฝ่าย แบนสารพิษเกษตร พร้อมหาวิธีทดแทนใน 60 วัน

กก. วัตถุอันตราย มีมติให้ กษ. นำหารือ 4 ฝ่าย แบนสารพิษเกษตร พร้อมหาวิธีทดแทนใน 60 วัน

เครือข่ายหนุนการแบนสารพิษ ชี้ มติวนแนวทางแก้ปัญหาเดิมๆ

โดยมูลนิธิชีววิถี (BioThai) หนึ่งในองค์กรหลักของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ตั้งข้อสังเกตภายหลังการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันนี้ว่า วาระการพิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนที่ไม่ได้บรรจุในวาระการประชุม โดยนายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ลงนามรับหนังสือเรียกประชุมคณะกรรมการเมื่อวานนี้ และนำเข้าพิจารณาเลย

นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการฯ อ้างข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานหารือกัน เหมือนเป็นการย้อนเวลากลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ได้บัญชาให้ 3 กระทรวงหลักหารือกันเพื่อหาข้อยุติการแบนสารพิษ มูลนิธิชีววิถี ระบุ

โดยเมื่อมีการเรียกร้องให้มีการแบนภายในสิ้นปี 2562 รัฐบาลก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ แต่คราวนี้ ได้เสนอองค์ประกอบของ ผู้นำเข้า และเกษตรกรที่ใช้สารเคมี เข้ามาเพิ่ม มูลนิธิกล่าวเพิ่มเติม

การที่คณะกรรมการและประธาน กล่าวย้ำถึงการหาวิธีการทดแทนสารเคมีเกษตรเหล่านั้น โดยต้องไม่แพงกว่าและต้องไม่เป็นอันตราย อาจเป็นข้ออ้างของคณะกรรมการฯ ในการไม่แบนสารเหล่านี้ได้ มูลนิธิฯ ตั้งข้อสังเกต แม้ทางประธาน กก. จะแจ้งว่า ส่วนใหญ่กรรมการวัตถุอันตรายจะเห็นชอบไปตามข้อเสนอ หากกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันการแบนสารเคมีเหล่านี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประชุมพิจารณาการแบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตในวันนี้ โดยอ้างหนังสือบัญชาของนายกรัฐมนตรี ที่ให้หารือ 4 ฝ่าย ประกอบไปด้วย 1. หน่วยงานรัฐ 2.ผู้นำเข้าสารเคมี 3. เกษตรกร และ 4. ผู้บริโภค และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการดังกล่าว พร้อมกับนำเสนอวิธีการทดแทน ที่ต้องไม่แพงและไม่เป็นอันตราย เพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาภายใน 60 วัน

ก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายฯ ได้เข้าพบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีการต่อทะเบียนให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่หมดอายุตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และตนยังได้สั่งการให้ยุติการนำเข้าสารที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชนิดแล้ว

นอกจากนี้ รมว. ช่วย มนัญญา ยังกล่าวอีกว่า มีข้อมูลสต็อกสารเคมีในมือแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ส่วนเรื่องการแบนสารก็ดำเนินงานมาแล้ว 50% และมั่นใจว่าปี 2562 นี้ ยกเลิกได้แน่ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมคณะทำงานเพื่อนำเสนอเรื่องสารทดแทนและวิธีการทดแทนต่างๆในการผลิต และได้ส่งหนังสือจากกระทรวงเกษตรฯ ไปถึงคณะกรรมการฯ ให้ยกเลิกการใช้สารดังกล่าวแล้ว ซึ่ง รมว. ช่วย มนัญญา กล่าวว่า จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงเกษตรฯไม่สามารถไปเร่งรัดได้

และในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา รมว. ช่วย มนัญญา ได้เดินทางไปยังสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อทวงเอกสารเกี่ยวกับสต๊อกสารเคมีพิษภาคการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศไทยด้วยตนเอง เพื่อรวบรวมเอกสารทั้งหมด โดยกล่าวว่าได้ติดตามเอกสารมาหลายวันแล้ว

ก็บอกเขาไปว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ คุมกรมวิชาการฯ แต่ถ้าคิดว่าคุณไม่ฟัง คุณก็ไปเอาคนมาถอดฉันออกไป ถ้าคุณมาปลดฉันออกไปเมื่อไหร่ ฉันจะได้ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับตรงนี้ แต่ตอนนี้ ดิฉันยังอยู่ตรงนี้อยู่ คุณก็ต้องเชื่อฟังฉัน” รมช.เกษตร กล่าว

มูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า เรื่องนี้ สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่อยู่เบื้องหลังการแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืช ที่เชื่อมโยงกับอย่างแนบสนิทระหว่างระบบราชการกับบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากมีข้าราชการหลายคนเมื่อเกษียณอายุราชการก็มาทำงานให้กับสมาคมของบริษัทค้าสารพิษ หรือเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เดินสายต่อต้านการแบนฯ

ความสัมพันธ์แบบอัปลักษณ์นี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปเสียแล้วในกระทรวงเกษตรฯของประเทศไทย

นี่เป็นเหตุผลที่รัฐมนตรีช่วยผู้นี้บอกผ่าน 686 องค์กรว่า การแบนสารพิษร้ายแรงนี้ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศด้วยจึงจะสำเร็จ.” มูลนิธิ ระบุ

มูลนิธิฯ ได้ประเมินว่า ผลประโยชน์ของสารพิษ 3 สารนั้นมีมูลค่าตลาดราวๆ 20,000-30,000 ล้านบาทต่อปี (จากมูลค่าตลาดสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 60,000-90,000 ล้านบาท)

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจับมือลงมติด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 399:0 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม โดย ส..จากทุกพรรคการเมืองต่างอภิปรายไปในทางเดียวกันว่าอ ประเทศไทยต้องยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ตัว ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยจำนวนมาก

ภาพ/ เฟสบุ๊คเพจ พรรคภูมิใจไทย