“เอสบี”ทุ่ม 200 ล.รุกบลูโอเชี่ยน พลิกเฟอร์นิเจอร์สู่“รับเหมาฯ”

“เอสบี”ทุ่ม 200 ล.รุกบลูโอเชี่ยน พลิกเฟอร์นิเจอร์สู่“รับเหมาฯ”

“เอสบี” หนีแข่งเดือดตลาดเฟอร์นิเจอร์ พลิกโมเดลสู่ผู้รับเหมาบิวท์อิน ทุ่ม 200 ล้านบาท พลิกโฉมแฟล็กชิพสโตร์ซีดีซี แก้เพนพอยท์ติดตั้งเร็ว เจาะตลาดโครงการ-ดีไซน์เนอร์ ตั้งเป้าเพิ่มยอดขาย100 ล้านบาทใน 1 ปี คาดสิ้นปียอดขายทรงถึงติดลบ ผลกระทบอสังหาฯซบ

นางธัญญรักข์ ชวาลดิฐ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ เปิดเผยถึงการปรับตัวในธุรกิจอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันต้องการสินค้าที่ตอบสนองเฉพาะบุคคล (Customize)มากขึ้นว่า จากการแข่งขันในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีการแข่งขันรุนแรง มีคู่แข่งทั้งแบรนด์ในประเทศและต่างประเทศจากทั่วโลก เข้ามาแย่งชิงตลาดที่มีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท ทำให้เอสบีฯต้องปรับโฉมสาขาเฟอร์นิเจอร์เพื่อสร้างตลาดตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ที่มีโอกาสช่องว่างทางการตลาด ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการมองหาผู้รับเหมาออกแบบตกแต่งภายใน(Built- in)อย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ จัดหาวัสดุ ผลิต และติดตั้ง ตามความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ถือเป็น"จุดเปลี่ยน” ธุรกิจเอสบีฯ จะต้องปฏิวัติตัวเองและวงการผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นแบรนด์ที่สร้างความแตกต่าง เนื่องจากเป็นโอกาสตลาดผลิตเฟอร์นิเจอร์Built-inมีขนาดใหญ่และมีโอกาสเติบโตมูลค่าหลักพันล้าน ดังนั้นเอสบีฯ จึงทุ่มงบประมาณ 200 ล้านบาทในการปรับปรุงโชว์รูม “SD Design Square”ที่ คริสตัล ดีไซน์เซ็นเตอร์ (CDC)ถือเป็นการลงทุนสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่มีการเปิดตัวสาขาในปี 2552 เพื่อเป็นแฟล็กชิพ สโตร์ (Flagship Store)พลิกธุรกิจไปสู่ด้านการรับเหมาตกแต่งภายในครบวงจร

“เทรนด์ผู้บริโภคต้องการการตกแต่งแบบเฉพาะบุคคลที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ตัวเองมากขึ้น จึงมีการปรับวิธีคิดและกระบวนการทำงานใหม่ จากผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ที่เดิมมีบิวท์อินเพียงแค่ตู้เสื้อแต่หลังจากมีการวางแผนและปรับกลยุทธ์ธุรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงพลิกโฉมกระบวนการผลิตจากที่ผลิตในพื้นที่ไปสู่การออกแบบทำงานร่วมกับดีไซน์เนอร์ ช่วยแก้ไขปัญหาผลิตเฟอร์นิเจอร์พร้อมติดตั้ง ได้รวดเร็วกว่าเท่าตัวผ่านกระบวนการ”พรีแฟบ”(PREFAB)”

ผู้บริหารเอสบีฯ ยังกล่าวต่อว่า การปรับโฉม เอสบี ดีไซน์สแควร์ สาขาCDCบนพื้นที่ 15,000 ตารางเมตรเพื่อประกาศให้กับผู้พัฒนาโครงการ (Developer)รวมถึงดีไซน์เนอร์ ที่มีบทบาทในการกำหนดรูปแบบดีไซน์การตกแต่ง คัดเลือกวัสดุในการตกแต่งภายใน จึงเข้าไปออกแบบการทำงานที่เน้นการแก้ไขปัญหา(Pain Point)ให้กับดีไซน์เนอร์ ในทุกกระบวนการBuit-in

ทั้งนี้ยังยกระดับการบริการภายใต้แบรนด์Zelection Built-inซึ่งที่ผ่านมามีการบริการแค่เพียงในหมวดของตู้เสื้อผ้า แต่ปัจจุบันหลังจากมีการปรับตัว มีการพัฒนาการออกแบบทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการตกแต่งภายในบ้าน ที่ครอบคลุมการบริการงานโครงสร้างทุกชิ้นแบบอัจฉริยะ (Smart Structural Design) คือทุกชิ้นส่วนของงานโครงสร้างและวัสดุตกแต่งที่ช่วยประหยัดเวลาการติดตั้งเร็วกว่าเท่าตัว พร้อมกันกับรวบรวมวัสดุตกแต่งที่หลากหลายมากกว่า 1,000 รายการ อาทิ กระจก ไม้ กระเบื้อง โดยมุ่งเน้นไปที่แนวคิดการตกแต่งในยุคการตกแต่งหรูหรา จึงมีเพิ่มแบรนด์ลักชัวรี่ จากอดีตที่มีแบรนด์อาทิ ฮาบิแทท (Habitat) นำเข้าแบรนด์จากประเทศอังกฤษ ลอร่า แอชลี่ (Laura Asley)แบรนด์สไตล์โมเดิร์น วินเทจ (Modern Vintage)และแบรนด์จากสหรัฐ ยูนิเวอร์แซล (Universal)

โดยเป้าหมายการปรับปรุงสาขาต้องการขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้รับเหมาทั้งลูกค้ารายย่อยที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 80%จะมีโอกาสเพิ่มลูกค้าโครงการ จากปัจจุบันที่มีเพียง 10%ซึ่งมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่ากว่าพันล้านบาท ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายในสาขาCDCจากปัจจุบัน 600 ล้านบาทภายใน 1 ปี เพิ่มเป็น 700 ล้านบาท ซึ่งโมเดลนี้จะมีการขยายแบรนด์Zelection built-inไปยังสาขาอื่นๆ มีแผนจะเปิดในปลายปีคือพระราม 2

อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ส่งผลไปยังกลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ชะลอตัวไปด้วย จากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 5-10% โดยรายได้ในปี 2561 ที่ผ่านมามีมูลค่า 7,300 ล้านบาท คาดว่าปี 2562 จะติดลบหรือหากมีการกระตุ้นตลาดในช่วงปลายปีอาจจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา