บริษัทมหาชนสั่นคลอน ผู้บริหารแตกแถวไร้มืออาชีพ

บริษัทมหาชนสั่นคลอน  ผู้บริหารแตกแถวไร้มืออาชีพ

ข่าวครึกโครมในวงการตลาดหุ้นไทยที่สร้างผลกระทบวงกว้างคงหนีไม่พ้นการกล่าวโทษ กรณีผู้บริหารใช้ข้อมูลภายใน หรือ อินไซด์เดอร์ ซื้อขายหุ้นตัวเอง ซึ่งกรณีล่าสุด คือ ‘พิชญ์ โพธารามิก ‘ ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มจัสมิน

หลัง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบพฤติการณ์ ร่วมมือกับ นายเกริกไกร ไตรบัญญัติกุล ซื้อหุ้น บริษัทจัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JST ในช่วงปี 2559 ด้วยการใช้ข้อมูลในฐานะผู้บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS จึงกล่าวโทษทางแพ่งปรับ 58.77 ล้านบาท และขาดคุณสมบัตินั่งบริหารบริษัทจดทะเบียน

ผลพ่วงสิ่งที่เกิดขึ้นอันดับแรกกระทบราคาหุ้นบริษัทในกลุ่มแทบยกแผงไล่มาตั้งแต่ JAS ราคาปรับตัวลดลง 0.3 บาท หรือ 4.76% กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ลดลง 0.2 บาท หรือ 1.75 % และหุ้นบริษัทโมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MONO ราคาลดลง 0.07 บาท หรือ 4.69 %

นอกจากราคาจะปรับตัวลดลงจากข่าวลบดังกล่าวแล้ว ต้องเผชิญความไม่แน่นอนทางธุรกิจเพราะ ‘พิชญ์ โพธารามิก ‘ ไร้คุณสมบัติเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่งทุกบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้เมื่อหัวเรือใหญ่ที่นั่งบัญชาการธุรกิจไม่มีแล้วบริษัทดำเนินไปต่ออย่างไร

แม้ในความเป็นจริงจะยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และยังสามารถบริหารงานผ่านบุคคลอื่นได้แต่ด้านเครดิต ชื่อเสียง ในการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่า มาร์เก็ตแคปรวมกัน 1.19  แสนล้านบาท สร้างความมั่งคั่งให้กับบริษัท ผู้ถือหุ้น และตัวเอง กลับกลายเป็นรอยด่างพร้อย

จากที่ผ่านมา หุ้น JAS เป็นหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวหวือหวาจากประเด็นข่าวลือที่เกิดขึ้นว่าจะมีการเทคโอเวอร์กิจการเนื่องจากมีโอปอเรเตอร์ในไทยและเกาหลีใต้สนใจธุรกิจบรอดแบนด์ จนสุดท้ายเป็นเพียงข่าวลือ ข่าวบวกจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน JASIF ที่สร้างความสนใจให้นักลงทุนได้ตลอดเพราะทำให้คาดหวังรายการพิเศษหนุนกำไรพร้อมการจ่ายปันผลพิเศษตามมา

เม็ดเงินจากการจ่ายปันผลผ่าน 3 หุ้น ‘พิชญ์ โพธารามิก ‘ สามารถขึ้นแท่นเป็นแชมป์เบอร์หนึ่งที่ได้รับเงินปันผลเข้ากระเป๋ามหาศาล โดยงวดปี 2560 ได้รับเงินปันผลจาก JAS ถือหุ้น 4,572 ล้านหุ้น หรือ 56.08 % จำนวน 2,514 ล้านบาท ซึ่งมีการจ่ายเงินปันผล 3 ครั้ง รวม 0.55 บาทต่อหุ้น จาก MONO ถือหุ้น 2,231 ล้านหุ้น หรือ 64.29 % อีกจำนวน 133.86 ล้านบาท ซึ่งมีการจ่าย 2 ครั้ง รวม 0.06 บาทต่อหุ้น

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2561 ได้รับเงิน 1,371.6 ล้านบาท ได้รับจากเงินปันผล JAS อัตราหุ้นละ 0.30 บาท ส่วน MONO ไม่มีการจ่ายปันผล และล่าสุดงวดครึ่งปี 2562 ได้รับเงินปันผลรวม 1,280.16 ล้านบาท จาก JAS มีการจ่ายปันผลออกมาแล้ว 0.28 บาทต่อหุ้น เป็นการจ่ายจากกำไร 97 % ส่วน JASIF เป็นกองทรัสต์มีการจ่ายปันผลอัตราที่สูงอยู่แล้ว เกือบ 9 %

แน่นอนว่าเม็ดเงินมหาศาลที่ได้จากธุรกิจเชิงเงินปันผลยังไม่เพียงพอในการสร้างความมั่งคั่งให้กับเจ้าของธุรกิจที่ปลุกปั้นมากับมือ จนทำให้นำช่องโหว่งที่ได้เปรียบนำมาสร้างมูลค่าให้ตัวเองเพิ่มเติม ซึ่งไม่แตกต่างจากผู้บริหารรายอื่นที่แตกแถวด้านความเป็นมืออาชีพ

จากปี 2562 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษทางคดีแพ่งต่อผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไปแล้ว 4 เคส แต่ละเคสเปิดเผยรายชื่อออกมาสร้างความตกตะลึงไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐีหุ้นของไทย ‘ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ’ และพวก กรณีสร้างราคาบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ซึ่งมีการเรียกชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 499.45 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน

รวมทั้งกรณีสร้างราคาหุ้นบริษัทคราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA กล่าวโทษถึง 40 รายรวมไปถึง ‘อมร มีมะโน’ ผู้บริหารของบริษัทซึ่งมีการเรียกชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 2,303 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน  ปัจจุบันมีการยอมรับความผิดและชำระค่าปรับแล้ว 50.78 ล้านบาท ส่วนที่เหลือพร้อมด้วย ‘อมร มีมะโน’ ขอสู้ตามกระบวนการของศาล