'วิษณุ' แจงกรณีถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล

'วิษณุ' แจงกรณีถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล

"วิษณุ" ชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล ย้ำทุกอย่างจบไปแล้ว พร้อมยืนยันเอกสารที่นายกฯ หยิบจากกระเป๋าเป็นของสำนักเลขาธิฯ แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดอ่านจบแค่นั้น

เมื่อวันที่ 18 ก.ย.62 เวลา 16.55 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ในญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า ประเด็นของการถวายสัตย์ปฏิญาณ คือใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร แต่บางคนอาจไม่เข้าใจตนขอลำดับความว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 หลังจากทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. รวม 36 คน ต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์พระมหากษัตริย์ตามถ้อยคำก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ทั้งนี้ในวันดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้าราชการ และผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เข้าร่วมในพิธี

“นายกฯ ได้ล้วงหยิบเอาบัตรแข็งออกจากกระเป๋า ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเดียวเหมือนกับนายกฯที่ผ่านมาในอดีต ไม่ได้สลับ หรือเปลี่ยน บัตรแข็งที่หยิบ เป็นกระดาษที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เตรียมไว้ เหมือนกับที่เตรียมไว้ให้นายกฯ​ ทุกคนในอดีต แต่มีนายกฯ คนเดียวที่จำแม่น ไม่เคยหยิบ คือ นายชวน หลีกภัย แต่นายกฯ คนอื่นกลัวพลาดต้องหยิบล้วงจากกระเป๋าเสื้อ เหมือนกับพล.อ.ประยุทธ์ ​ในกระดาษนั้นหน้าแรก คือ คำเบิกตัว และหน้าสอง เป็นคำถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยทุกคนกล่าวตามไปทีละท่อน จนจบตามที่นายกฯ กล่าว ผมบอกไม่ได้ว่าถ้อยคำที่นายกฯ​อ่านและคนกล่าวตามมีว่าอย่างไร ไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังที่อ่านไปตามนั้นและแค่นั้นเป็นเพราะเหตุใด” นายวิษณุ ชี้แจง

นายวิษณุ ชี้แจงด้วยว่าตนขออธิบายรวมว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลและพระมหากษัตริย์ เพื่อยืนยันต่อความไว้วางใจต่อตัวผู้กล่าวนำคำปฏิญาณตนนั้น คือ พระมหากษัตริย์ไว้วางใจ ในตัวรัฐมนตรีที่กล่าว ที่บอกว่า นายกฯ หรือตนอาจจะผิด แต่เข้าใจในเจตนารมณ์ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เช่นนั้น แต่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ​ต่อประเด็นที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ 2 บรรทัดที่ 3 ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ครม. และ พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้อาจมีบุคคลโต้แย้งว่า ทำไมบังอาจทำให้ไม่เหมือนที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ อย่างไรก็ตามการถวายสัตย์ปฏิญาณต้องมีผู้รับถวาย ทั้งนี้ตนอดคิดไม่ได้ว่าไม่มีใครมีสิทธิเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้น ใครจะอนุญาต ทั้งนี้หลังจากกล่าวคำถวายสัตย์ มีพระราชดำรัสตอบ และมีสาระสำคัญคือให้ไปปฏิบัติหน้าที่ได้

“การถวาสัตย์ปฏิญาณผมขอขีดเส้นใต้ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณหรือสาบาน รัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ที่เริ่มตั้งแต่ ฉบับปี 2492 จนถึงปัจจุบัน ตามความหมายนั้นจงใจแยกคำ คือ ปฏิญาณตน และถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่มีความมุ่งหมายต่างกัน กล่าวคือ ส.ส.กล่าวปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ แต่ ครม. ไม่ได้ปฏิญาณตน แต่ใช้วิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ ระบุถึงการปฏิญาณตน ใช้กับบุคคล 3 ประเภท คือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องปฏิญาณตนต่อที่ประชุมรัฐสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา ในที่ประชุม หลายคนพูดถึงนายบารัค โอบาม่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวสาบานตนไม่ครบ แล้ววันรุ่งขึ้นได้กล่าวใหม่ แต่เมื่อสืบค้นให้นานกว่านั้น สมัยนายริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวสาบานไม่ครบ แต่ไม่ได้ทำอะไร”​ นายวิษณุ ชี้แจง

 

นายวิษณุ ชี้แจงด้วยว่า หลายคนวิตกกังวลว่าหากทำไม่ถูก จะโมฆะ อย่าฝันร้าย เพราะไม่มีเหตุที่เกิด ไม่ทีปัญหาศาลรัฐะรรมนูญมีคำสั่ง ไม่รับคำร้องทั้งหมด และให้เหตุผลตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาความของศาลฯ ระบุไว้ คือ เป็นความเห็นเอกฉันท์ของศาลไม่รับ เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง และเมื่อจบการถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระมหากษัตริย์พระราชทานพระราชดำนรัส เพื่อให้ ครม. น้อมนำเป็นแนวทางทำงาน และต่อมาครม. ได้เข้ารับพระราชดำรัสที่เป็นลายบลักษณ์อักษร ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณจึงไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ซึ่งสภาฯ คือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่นกัน

ส่วนที่ส.ส.จะยื่นเพื่อเอาผิดทางจริยธรรม นั้นตนขอชี้ช่องว่าหากจะเอาผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรม ขอให้ใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ส่งเรื่องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ทั้งนี้รัฐบาลมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยกำลังใจและมุ่งมั่นปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ และพรที่ได้พระราชทาน