เครือข่ายชุมชนจัดการภัยพิบัติเปิดอู่ต่อเรือ รับบริจาคทุนสร้างเรือให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม อุบลฯ

เครือข่ายชุมชนจัดการภัยพิบัติเปิดอู่ต่อเรือ รับบริจาคทุนสร้างเรือให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม อุบลฯ

ตั้งเป้าอย่างน้อย 10 ลำ ลำละ 60,000 บาท ภายใต้แนวคิดให้ชุมชนพึ่งตนเองได้

ชุมชนรับมือภัยพิบัติวาริน และองค์กรเครือข่ายจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน รวมทั้งเครือข่ายภัยพิบัติชุมชนและมูลนิธิชุมชนไท ร่วมรณรงค์สร้างเรือเพื่อใช้ประโยชน์ในการกู้ภัย ภายใต้แนวคิดช่วยชุมชนรับมือภัยพิบัติและช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้

โดยเครือข่ายฯ ขอเปิดรับทุนร่วมสร้างเรือ จำนวน 10 ลำ ลำละ 60,000 บาท ซึ่งขณะนี้สามารถระดมทุนมาได้สำหรับการต่อเรือจำนวน 2 ลำ แล้ว ยังขาดอีก 8 ลำ

พร้อมกันนี้ ได้ทำพิธีเปิดอู่ต่อเรือโดยชุมชนในวันนี้ ณ อบต.หนองกิลเพล อ.วารินชำราบ

“ทางเครือข่ายชุมชนภัยพิบัติวารินและภาคีตกลงสร้างเรือในทันที เพื่อให้ผู้บริจาคมั่นใจว่า ระบบชุมชน เครือข่าย สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริจาคทุกคนได้
“เราทำทันที เพราะที่ต้องสร้างเรือ เพราะเรือสร้างคน คนสร้างชุมชน เรือเฉพาะพื้นที่ เหมาะกับการใช้ประโยชน์ กู้ภัย กู้ชีพ ช่วยคน อพยพ ย้ายสิ่งของได้ทันทีเมื่อภัยมา ช่ว
กันเองได้” นายไมตรีผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าว

นายไมตรี ซึ่งเคยเป็นผู้ประสบภัยสึนามิมาก่อนจากบ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา และเรียนรู้การจัดการภัยพิบัติจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น จนขยายเป็นเครือข่ายภัยพิบัติชุมชนที่ยึดหลักชุมชนพึ่งตัวเองและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแนวทางดังกล่าวทั่วประเทศ กล่าวว่า ตนเคยได้รับของแจก ข้าวกล่อง มาม่า ยาสีฟัน กินมาม่า ติดต่อกัน 1 ปี และรับเงินแจกทุกวัน ซึ่งผลก็คือ มันทำให้คนหยุดทำงานและวิ่งหาแต่ของแจก

“ช่วงนั้นเราถูกเรียกว่าเป็นโรคผู้ประสบภัย” นายไมตรีกล่าว

นายไมตรีกล่าวว่า แม้เงินจะดูว่าสำคัญในช่วงนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ชุมชน ในยุคสึนามิ พื้นที่ใดที่ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยของแจกมาก เงินมาก โดยไม่มีจัดระบบชุมชนรับมือกับความช่วยเหลือ พื้นที่นั้นจะพึ่งตนเองไม่ได้เลยหลังการฟื้นฟู แต่ชุมชนไหนที่จัดระบบชุมชนในช่วงฟื้นฟูสึนามิ ชุมชนเหล่านั้นสามารถพัฒนาตนเองได้มาอย่างต่อเนื่อง จนวันหนึ่งจากที่เคยเป็นผู้ประสบภัย พวกเขาจะสามารถพัฒนามาเป็นชุมชนช่วยเหลือภัยพิบัติได้

“เราในฐานะผู้ประสบภัยสึนามิ เป็นภัยพิบัติรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ เราจึงยึดแนวทางยั่งยืนเท่านั้นในการช่วยเหลือตามแนวทางของเรา แม้แบบอื่นอาจจำเป็นต้องทำ ก็ถือว่าช่วยกันไปคนละไม้คนละมือ” นายไมตรีกล่าว

หลังการลงพื้นที่ นายไมตรีกล่าวว่า เครือข่ายได้มีการรับฟังความต้องการของผู้ประสบภัยน้ำท่วมอุบลราชธานี และพบว่า ที่ผู้ประสบภัยต้องการเร่งด่วนคือ เรือ เสื้อชูชีพ ห้องน้ำ สำหรับให้ชุมชนดูแลตัวเองได้

เมื่อน้ำมา ชุมชนริมน้ำที่มีเรือประมงเล็กๆ ก็จะขนย้ายคนได้ 2-3 คนเท่านั้น เสี่ยงต่อการช่วยเหลือคนอื่นๆได้ทัน เรือจากภายนอก จะยังไม่มีโอกาสเข้ามาช่วย เพราะต้องเป็นภัยพิบัติแล้วถึงจะมีคนเข้ามา จะมีโอกาสมาดูแลกันตอนน้ำสูงสุดๆแล้ว

เรือชุมชน(เหมาะกับพื้นที่) ชาวบ้านทำเอง ออกแบบเอง สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ ขนคนป่วย ขนคนเจ็บ ย้ายของหนีน้ำ ทำได้ทันที มีระบบช่วยกัน ชุมชนฝึกดูแลกัน ลดการพึ่งพิงและเรียกร้อง ทำเองได้ ...ไม่ใช่เขาจะได้ใช้เฉพาะวันนี้ ครั้งนี้ แต่เราจะร่วมกันพัฒนาระบบให้เขามีการดูแลกันในระยะยาว” นายไมตรีกล่าว

นายไมตรีกล่าวว่า แนวทางที่คาดหวังจากการดำเนินการในครั้งนี้คือ ช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ก่อน ซึ่งหมายถึงการจัดระบบชุมชนผู้ประสบภัย จัดบทบาท จัดตั้งกรรมการชุมชน จัดทำข้อมูล สร้างอาสาสมัคร ดูแลตัวเองและชุมชน จากนั้น คือแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประสบภัยให้สามารถอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเองได้ หมายความว่า ผู้ที่เข้ามาช่วยกู้ภัย มักจะมาแค่ชั่วคราวในช่วงแรกๆ พอสักพัก เขาก็ต้องกลับ

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นควรสร้างอู่ต่อเรือเพื่อให้ผู้ประสบภัยที่อุบลฯ ทำเองเป็น และบริหารเองได้ในอนาคต

นายไมตรีเชื่อว่า ด้วยแนวทางดังกล่าว ผู้ประสบภัยจะทำทุกอย่างเองและอยู่ได้ โดยเครือข่ายฯ พร้อมติดตามหนุนเสริมพัฒนาแผนรับมือภัยในอนาคต

และสุดท้าย คือการสนับสนุนให้ผู้ประสบภัยช่วยเหลือผู้อื่น โดยนายไมตรีกล่าวว่า การทำให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ และหาวิธีชวนเขาให้ช่วยชุมชนอื่นๆ ต่อ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการที่เราช่วยผู้ประสบภัยจากชุมชนหนึ่ง ไปช่วยอีกชุมชนหนึ่ง คือการฝึกให้เขาอ่านใจ อ่านแววตาผู้ประสบภัยด้วยกัน แล้ววันหนึ่ง ทุกชุมชนที่เครือข่ายเข้าไปช่วย จะลุกขึ้นมาช่วยคนอื่นต่อ นายไมตรีสรุป


“การช่วยแบบไหนก็ไม่ผิด แต่เราจะยึดแนวทางนี้ในการช่วย”
นายไมตรีกล่าว

ร่วมบริจาคส้รางเรือโดยชุมชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขา ตลาดสดวารินชำราบ เลขบัญชี 9830819965 ชื่อบัญชี นางสุรีรัตน์​ ขัน​ลับ​ หรือ นางจำปี มรดก หรือ น..สุอำพร อุตรา