“สรรพชัย หุวะนันทน์” กางยุทธศาสตร์ดิจิทัลปั้นรายได้หมื่นล้าน

“สรรพชัย หุวะนันทน์” กางยุทธศาสตร์ดิจิทัลปั้นรายได้หมื่นล้าน

กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสพูดคุยกับ ซีอีโอ บมจ.กสท โทรคมนาคม เกี่ยวกับแผนงาน การดำเนินธุรกิจของกสทฯ รัฐวิสาหกิจอีก 1 รายภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ

กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสพูดคุยกับ ซีอีโอ หรือ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม เกี่ยวกับแผนงาน การดำเนินธุรกิจของกสทฯ รัฐวิสาหกิจอีก 1 รายภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี มีการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงและมองทิศทางการบริหารองค์กรเพื่อรับกับดิจิทัล ดิสรัปชั่น โดยตัวของซีอีโอกสทฯ “พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์” เล่าว่า ในปีนี้จนถึงต้นปี 2563 กสทฯได้เปิดโต๊ะเจรจาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนดิจิทัล โซลูชั่น เพื่อหวังดันรายได้บริการดิจิทัลภายใน 6 ปีแตะ 10,000 ล้านบาท

คาดรายได้ปีนี้เป็นตามเป้า

พ.อ.สรรพชัย เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2562 คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,700 ล้านบาท หลังจากในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.2562) บริษัทมีกำไรสุทธิแล้ว 9,400 ล้านบาท มาจากการดำเนินงานของบริษัทเอง และเป็นผลจากการยุติข้อพิพาทเสาโทรคมนาคมกับคู่สัมปทานคือบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

ขณะเดียวกัน รายได้รวมปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 49,000 ล้านบาท หลังจากในช่วง 8 เดือนแรกมีรายได้แล้ว 36,000 ล้านบาท มาจากธุรกิจโมบาย ซึ่งเป็นรายได้หลัก 65% และธุรกิจอินเทอร์เน็ต คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 13% ของรายได้รวม ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจดาต้าคอม, ธุรกิจโทรคมนาคมระหว่างประเทศ, บริการดิจิทัล และการให้เช่าเสาโทรคมนาคม

คาดว่ากำไรสุทธิปี 2562 จะอยู่ที่ 9,700 ล้านบาท มาจากกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเอง และกำไรพิเศษจากการยุติข้อพิพาทกับดีแทค แต่หลังปรับปรุงรายการทางบัญชีกรณีศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่บมจ.ทีโอที ฟ้องเรียกร้องค่าเชื่อมโยงโครงข่ายโทรคมนาคม (เอซี) จากบริษัทจำนวนกว่า 200,000 ล้านบาท จะทำให้กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากกำไรสุทธิในปี 2562 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทมีแผนนำเงินไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ โดยขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะลงทุนในส่วนใดบ้าง คาดว่าจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ในพ.ย.2562

ปั้นบริการดิจิทัลเสริมแกร่ง

นอกจากนี้ บริษัทพยายามสร้างรายได้ในส่วนของบริการดิจิทัล โดยตั้งเป้าหมายมีรายได้บริการดิจิทัลภายใน 6 ปี (2563-2568) อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนรายได้ธุรกิจโมบาย ที่ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท

โดยบริการดิจิทัล 3 กลุ่ม ที่บริษัทให้ความสำคัญและมุ่งจะขยายการให้บริการ ได้แก่ สมาร์ทโซลูชั่น-ไอโอที, บิ๊กดาต้า และความปลอดภัยระบบไอที ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาร่วมลงทุนกับพันธมิตรในไทยเกี่ยวกับดิจิทัล โซลูชั่น ใช้เงินลงทุนประมาณหลัก 10 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องพันธมิตรภายในสิ้นปี 2562

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2563 เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และมีรายได้รวมอยู่ที่ 39,500 ล้านบาท เนื่องจากปี 2563 บริษัทจะไม่มีรายได้พิเศษจากการยุติข้อพิพาทเสาโทรคมนาคมกับคู่สัมปทานดีแทคเหมือนปี 2562 ขณะที่งบลงทุนปี 2563 ตั้งไว้ที่ 3,600 ล้านบาท โดยหลักๆ จะใช้สำหรับปรับปรุงคุณภาพโครงข่าย

เร่งเครื่องอินฟราสตรัคเจอร์

ส่วนความคืบหน้าโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ภายใต้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้รับมอบหมายจากกระทรวงดีอีให้เป็นผู้ดำเนินการใน 3 โครงการปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1 การขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศเชื่อมโยงไปยังชายแดน เพื่อเชื่อมต่อประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท

รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 2300 Gbps และโครงการที่ 2 การขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่มีอยู่ในเส้นทางสิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยรวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps และสามารถรองรับปริมาณทราฟิกทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7,512 Gbps เตรียมส่งมอบสิ้นปีนี้

ขณะที่โครงการที่ 3 การลงทุนก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เพื่อเชื่อมโยงไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการใต้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท

ในส่วนความคืบหน้าโครงการ ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์นั้น คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการ ดิจิทัล พาร์ค อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงทีโออาร์ใหม่ หลังจากเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าร่วมบริหารพื้นที่โครงการยื่นซองประมูลโครงการดังกล่าว แต่ไม่มีผู้สนใจยื่นซองประมูล เนื่องจากทีโออาร์มีข้อกำหนดบางข้อที่ไม่ยืดหยุ่นสำหรับนักลงทุน คาดว่าจะออกทีโออาร์ใหม่ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้เปิดขายซองต่อไป โดยคาดมีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศสนใจซื้อซองไม่ต่ำกว่า 10 ราย