เผยแนวทางปลดล็อคปฎิรูปมหาวิทยาลัย

เผยแนวทางปลดล็อคปฎิรูปมหาวิทยาลัย

“สุวิทย์” ระบุแนวทางปลดล็อคและปฏิรูปมหาวิทยาลัย มุ่งแก้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในเชิงระบบ ปรับลดข้อจำกัดด้านตำแหน่งทางวิชาการ เพิ่มช่องทางการเข้าสู่ตำแหน่งมากขึ้น  พร้อมยกเครื่องกรอบมคอ.ให้คล่องตัว อัพคุณภาพของมหาวิทยาลัย ตามศักยภาพความสามารถ

        นายสุวิทย์  เมษินทรีย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เปิดเผยว่าตามที่ได้ตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมา 3 ชุด ได้แก่ ด้านตำแหน่งวิชาการ ด้านกรอบมาตรฐานคุณวุฒิฯ (มคอ.) และด้านคุณภาพมหาวิทยาลัย/OKRs รวมถึงเรื่องธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษานั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประชุมระดมความคิดเห็น เรื่องการปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษา และการพัฒนามหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์  ร่วมกับ ทปอ. 3 กลุ่ม สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคณะทำงานได้รายงานความคืบหน้าจากการทำงานและรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องมาในระยะ 1 เดือน  ดังต่อไปนี้

         1. การแก้ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาในเชิงระบบ สภาสถาบันและผู้บริหารสถาบันต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และต้องผลิตผลงานให้ตอบโจทย์ประเทศ สร้างความมั่นใจให้กับสังคม มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการบริหาร แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีภาระรับผิดชอบต่อสาธารณะ (accountability) โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่ประเทศถือว่าเป็นเจ้าของ

        2.การปรับลดข้อจำกัดด้านตำแหน่งทางวิชาการ เพื่อให้อาจารย์ซึ่งเป็นกำลังมันสมอง (brainpower) ส่วนใหญ่ของประเทศ ได้ทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวง ผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยและประเทศโดยรวมนั้น คณะทำงานได้รับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการตำแหน่งวิชาการของทุกมหาวิทยาลัยมาแล้ว มีบทสรุปเพิ่มเติมจากที่เคยนำเสนอไป เช่น จะเพิ่มช่องทางการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการเมื่อผลงานวิชาการมีจำนวนและคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์

       โดยไม่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา แต่ต้องศึกษาเกณฑ์ที่แตกต่างกันตามสาขาเพื่อให้เกิดวามยุติธรรม การปรับปรุงการให้คะแนนผลงานให้มีหลักการมากขึ้น เช่น การยกเลิกเปอร์เซ็นต์ผลงาน และการปรับแบบฟอร์มโดยใหม่ให้กระชับและไม่ใช้เวลามากในการจัดทำ โดยทั้งหมดจะจัดทำเป็นประกาศเดียวเพื่อป้องกันความสับสน คาดว่าจะนำเข้าพิจารณาใน ก.พ.อ. ที่อยู่ระหว่างการแต่งตั้งใหม่อย่างเร็วประมาณเดือนพ.ย.หรือธ.ค.

        3.การปรับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาหรือ มคอ. ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้คล่องตัว มีการปลดล็อคไปบางส่วนแล้ว ส่วนประเด็นอื่น ๆ ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ ที่ประชุมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาก 

        4.เรื่องคุณภาพของมหาวิทยาลัย โดยเน้นการแบ่งกลุ่มประเภทมหาวิทยาลัยตามศักยภาพตามความสมัครใจเพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถเปล่งรัศมีสูงสุดตามศักยภาพที่มี มหาวิทยาลัยควรมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไม่ทำเหมือนกันหมด มหาวิทยาลัยสามารถประเมินตนเองเพื่อการก้าวเข้าสู่กลุ่มประเภทที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เน้นความเป็นเลิศระดับแนวหน้าของโลก กลุ่มที่เน้นตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นเชิงพื้นที่ หรือกลุ่มที่เน้นการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรมและผู้ประกอบการ

        โดยในเดือนแรกที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อพลิกโฉมมหาวิทยาลัย university transformation advisory committee (UTAC) โดยผ่านความเห็นชอบจาก กกอ.แล้ว ในระยะถัดไปจะให้มหาวิทยาลัยเริ่มต้นจากการประเมินตนเองโดยการใช้ระบบที่เป็นที่ยอมรับ กระทรวงฯจะทำหน้าที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยดำเนินการในการประเมินตนเองได้ทันทีโดยจะมีการจัดอบรมชี้แจงการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง และจะดำเนินการพัฒนาเครื่องมือการประเมินกลุ่มยุทธศาสตร์ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และดำเนินการประเมินภายใน 6 เดือน จากนั้นจะใช้งบประมาณ 2564 ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย