ความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายแดน

การค้าขายลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยในอนาคต

การพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ความตกลงระหว่างประเทศ ITD ได้รวบรวมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ชายแดน ซึ่งประกอบด้วยอนุสัญญาและข้อตกลงความร่วมมือ

อนุสัญญาบาร์เซโลนาว่าด้วยเสรีภาพในการผ่านแดน เป็นความตกลงว่าด้วยการกำหนดสิทธิของการจราจรผ่านแดนหรือการขนส่งผ่านแดนให้แก่ประเทศที่ไม่มีทางออกติดทะเล โดยกำหนดหลักการให้ประเทศที่เป็นภาคีต้องอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่ง ผ่านเขตแดนโดยต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ และประเทศภาคียังคงมีสิทธิในการที่จะกำหนดกฎเกณฑ์การห้ามหรือกำกับดูแลการขนส่งผ่านแดนได้โดยพิจารณาจากกฎเกณฑ์ด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านการสาธารณสุขเพื่อการป้องกันโรคระบาดของสัตว์และพืช เป็นต้น

กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีระบบการขนส่งผ่านแดนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน กรอบความตกลงฉบับนี้จะใช้เฉพาะกับกรณีการขนส่งสินค้าผ่านแดน ซึ่งภาคีคู่สัญญาจะได้รับสิทธิพิเศษในการขนส่งสินค้าผ่านแดนโดยได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีและค่าบริการอื่น ๆ ประเทศไทยมีการจัดทำพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนปี 2556 ขึ้น และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2556 เพื่อให้เป็นไปตามกรอบข้อตกลง

กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นกรอบความตกลงที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนให้มีความสะดวกเป็นการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในกลุ่มประเทศอาเซียนให้มีความเป็นสากลและมีมาตรฐานเดียวกัน ไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบปี 2548 มีสาระสำคัญสอดคล้องกับกรอบความตกลงดังกล่าวนี้และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2548

กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศ เป็นความตกลงระดับภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศและในกลุ่มประเทศภาคีคู่สัญญา เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศภายในภูมิภาค ผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบ เงื่อนไขการขนส่ง การค้า และศุลกากรให้มีความ

สอดคล้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อสินค้าข้ามแดน สนับสนุนการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดระบบการขนส่งสินค้าข้ามแดนในอาเซียนที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกประเด็นของการขนส่งสินค้าข้ามแดน ไทยได้จัดทำพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนปี 2556 ขึ้น และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่วันที่ 20 มี.ค. 2556

ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นความตกลงเพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดน/การข้ามแดนของทั้งผู้คนและสินค้าในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการขนส่งทางบกผ่านแดนระหว่างกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มุ่งเน้นไปที่การลดขั้นตอนที่มีความยุ่งยากทั้งการผ่านแดนจากยานพาหนะ ผู้ขับขี่ การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงดำเนินการประสานด้านกฎหมาย กฎระเบียบพิธีการ ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของประเทศสมาชิก เพื่อช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ลดความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิกเดิมและสมาชิกใหม่ของอาเซียน การจัดระบบเศรษฐกิจตามแนวชายแดน สร้างศักยภาพและโอกาสอย่างยั่งยืน

กรอบความร่วมมือ ACMEC มีความร่วมมือทั้งหมด 8 สาขา ประกอบด้วย 1) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน 2) ความร่วมมือด้านการเกษตร 3) การเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคม 4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 6) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข 7) ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและพลังงาน 8) ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศโดยรอบอ่าวเบงกอล ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ไทย และศรีลังกา เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศสมาชิกและดึงดูดนักธุรกิจจากภายนอกให้เข้ามาทำการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิก BIMSTEC ให้มากขึ้น

ขอบเขตของกรอบความตกลง BIMSTEC ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การเปิดเสรีการค้าบริการ การเปิดเสรีการลงทุน สาขาของความร่วมมือภายใต้ความริเริ่มดังกล่าวมีด้วยกันทั้งสิ้น 14 สาขา ประกอบด้วย การค้าและการลงทุน เทคโนโลยี คมนาคม พลังงาน ท่องเที่ยว ประมง เกษตร สาธารณสุข การจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การลดความยากจน วัฒนธรรม ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น การพัฒนาเชิงพื้นที่ชายแดนจำเป็นต้องเข้าใจและผลักดันการใช้ประโยชน์ความตกลงเหล่านี้ให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ