‘แบงก์-ตำรวจ-ธปท.’ ประเดิมเทรนด์เอไอตรวจจับใบหน้า

‘แบงก์-ตำรวจ-ธปท.’ ประเดิมเทรนด์เอไอตรวจจับใบหน้า

เนคเทคเปิดเวทีวิชาการตั้งโจทย์สงสัยหัวข้อ “เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า ประเทศไทยพร้อมใช้แล้วจริงหรือ” ดึงนักการธนาคาร ธปท. นักกฎหมายและนักเทคโนโลยี ขึ้นเวทีแชร์ประสบการณ์ที่ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ในการทำงาน

เนคเทคเปิดเวทีวิชาการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเอไอ “ระบบรับรู้จำใบหน้า” มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการยืนยันตัวตน เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจและสร้างมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัย ธปท.เปิดแซนด์บอกซ์การใช้ไบโอเมตทริกซ์ตรวจสิทธิหรือแสดงตน ด้านนักกฎหมายแนะเพิ่มความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล สร้างการยอมรับจากผู้ใช้งาน


ระบบรับรู้จำใบหน้า (Face Recognition) เป็นเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์สำหรับตรวจสอบและระบุตัวตนของบุคคล โดยเปรียบเทียบลักษณะใบหน้าจากฐานข้อมูลภาพใบหน้า ผ่านการวิเคราะห์และประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ประยุกต์ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในทุกแวดวง เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยืนยันตัวตน ทำให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกมากขึ้น

สายการเงินใช้ยืนยันตัวตน

การใช้งานของ “ระบบรับรู้จำใบหน้า” ในมุมมองของภาคธนาคารอย่าง ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Principal Visionary Architech บริษัท กสิกร แล็บส์ จำกัด ในเครือของธนาคารกสิกรไทย ที่ถูกสะท้อนออกมาในการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า ประเทศไทยพร้อมใช้แล้วจริงหรือ” ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2562 เนคเทค กล่าวว่า เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการให้บริการลูกค้าในวงการธนาคาร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เริ่มวิจัยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับเดโม่ในบริษัทผ่าน Face Pay ในการจ่ายเงินโดยใช้ใบหน้าของผู้มาใช้บริการแทนกระเป๋าสตางค์ ระบบจะรู้ได้ทันทีว่าบุคคลนั้นมีชื่อว่าอะไร และลิงค์กับบัญชีโดยอัตโนมัติ ถือเป็นกระบวนการที่ง่ายต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่โดยใช้เทคนิค ‘ดีพ เลินนิ่ง’ (Deep Learning) และ แมชชีน เลินนิ่ง (Machine Learning) เพื่อเชื่อมต่อใบหน้าพร้อมแปลงข้อมูลให้กลายเป็นตัวเลขหนึ่งแถว ที่ใช้ในการตรวจสอบของระบบธนาคารเพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าที่ทำธุรกรรมกับธนาคารเป็นบุคคลนั้นจริง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารใช้เพียงวิธีการตรวจสอบโดยให้พนักงานเทียบใบหน้าลูกค้ากับบัตรประชาชน ทำให้บางครั้งมีความคลาดเคลื่อนเพราะรูปภาพกับตัวจริงนั้นอาจแตกต่างกัน


ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้กำกับดูแลกฎระเบียบของธนาคาร หรือ สถาบันการเงินที่ให้บริการแก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมผู้ให้บริการทางการเงินนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ วิจิตรเลขา มารมย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในปัจจุบัน ธปท.มีกลไกที่เรียกว่า Regulatory Sandbox หรือ สนามทดลองสำหรับการสร้างนวัตกรรม ที่ให้ผู้บริการทางการเงินมาทดสอบนวัตกรรมกับประชาชนหรือลูกค้าจริงๆ แต่ต้องอยู่ในวงจำกัดเพื่อกำหนดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้


หนึ่งในเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการทดสอบคือ การใช้ ไบโอเมตทริกซ์ หรือ วิธีการใช้ข้อมูลทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะ เฉพาะทางกายภาพหรือพฤติกรรม มาใช้ในการตรวจสิทธิหรือแสดงตน เช่น ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ หรือ ระบบรับรู้จำใบหน้า เพราะฉะนั้นสถาบันการเงินมีหน้าที่ ที่จะต้องรู้จักลูกค้าหรือที่เรียกว่า Know You Customer (KYC) ทั้งในช่องทางที่เป็น face to face หรือการเดินทางเข้าไปเปิดบัญชีที่สาขาด้วยตนเอง ส่วนอีกหนึ่งช่องทางนั้นคือ ดิจิทัล non face to face ที่ได้รับความนิยมมากมาย ไบโอเมตทริกซ์ จะมีผลที่ต้องพิสูจน์ทราบว่าเขาคือเขาจริงๆ ในการมาเปิดบัญชี ส่วน face pay นั้นอาจจะต้องเป็นเคสถัดไปที่เราจะต้องมาดูแลความเสี่ยงต่อไป


“หากถามว่าทำไมธนาคารถึงเลือกใช้ใบหน้าเป็นไบโอเมตทริกซ์ ชิ้นแรก และใช้ทำอะไรได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันเคสตัวอย่างการใช้บริการจริงในวงจำกัดที่อยู่ภายใต้กรอบของแซนด์บอกซ์ เนื่องจากแบงก์ชาติมองว่าการที่เข้าถึงบริการทางการเงินอื่นๆ จะต้องผ่านการมีบัญชีธนาคารก่อน และการที่จะเปิดบัญชีโดยง่ายและครอบคลุมที่สุดคือการตรวจสอบผ่านใบหน้าของผู้มาใช้บริการ” วิจิตรเลขา กล่าว


ความผิดพลาดของเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ ที่ภาคธนาคารรับรู้นั้นคือโดยส่วนมากแล้วค่าความผิดพลาดจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ False Acceptance Rate (FAR) อัตราการผิดพลาดจากการตรวจสอบเปรียบเทียบ จากการวิจัยผ่านผู้ใช้งานกว่า 1 หมื่นรายในการตรวจสอบด้วยบัตรประชาชนและถ่ายภาพใบหน้า หรือการเซลฟี่นั้นพบว่ามีโอกาสการผิดพลาดเพียง 0.1% ในส่วน False Rejection Rate (FRR) หรือ อัตราการหลุดรอดของผู้แปลกปลอมจากการตรวจสอบ เนื่องจากผู้ที่ได้รับการตรวจสอบอาจมีใบหน้าที่คลาดเคลื่อน จากการทดสอบพบว่ามีโอกาสคลาดเคลื่อนเพียง 0.83% ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการทดสอบจากนักสร้างโปรแกรมในประเทศอื่นๆ และเทคโนโลยีของคนไทยเรานั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ

ก้าวแรกการพัฒนาให้ตรงจุด


ด้านผู้ผลิตนวัตกรรมและเทคโนโลยี ชาลี วรกุลพิพัฒน์ หัวหน้าวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ตลาดรวมของระบบรับรู้จำใบหน้าในปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 9.6 พันล้านดอลลาร์ สอดคล้องกับโปรเจคที่ทำอยู่ก็เกี่ยวกับไบโอเมตทริกซ์ ก็จะมีการทำระบบตรวจสอบใบหน้า เพราะสามารถตอบโจทย์ในทุกๆ ภาคส่วนและทุกอุตสาหกรรม


แต่มีสิ่งที่ต้องคำนึงอยู่หลายอย่าง เช่น เรื่องทางกฎหมาย คือความยินยอม ซึ่งการใช้ใบหน้านั้นมีความถูกต้องน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับวิธีอื่น เช่น ลายนิ้วมือ แต่ระบบรับรู้จำใบหน้านั้นสามารถนำข้อมูลมาได้ง่ายและสะดวกที่สุดแม้ว่าจะอยู่ในระยะที่ไกลกันก็ตาม ดังนั้น ในขั้นตอนการทำวิจัยก็ต้องดูว่าจะใช้วิธีไหนที่จะตรวจสอบใบหน้าได้ง่ายที่สุด คนที่รับการตรวจสอบต้องยินยอมในการตรวจสอบอย่างชัดเจน จึงได้มีการวิจัยพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่คนเข้าใจยอมรับและตรวจสอบได้ง่ายที่สุดโดยการบูรณาการให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น

ตร.เตือนเสี่ยงละเมิดสิทธิ์

ทางด้านความปลอดภัยนั้น พ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย สารวัตรป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กล่าวว่าสนใจนำระบบรับรู้จำใบหน้ามาใช้งานในการรักษาความปลอดภัยยกตัวอย่างการนำมาใช้ในช่วงพระราชพิธีสำคัญที่ผ่านมา เป็นกล้องของหน่วยงานความมั่นคงที่ติดดั้งตามสถานที่สัญจร สถานีขนส่งสำคัญ ซึ่งการใช้ระบบรับรู้จำใบหน้าของทางตำรวจทหารนั้นจะมีทั้งข้อมูลสหพันธ์รัฐไทย, ผู้ต้องหาที่มีหมายเกี่ยวกับความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือบุคคลวิกลจริตที่ชอบถวายฎีกา ตรงนี้เองได้ถูกนำมาใช้จริง และเกิดประโยชน์จริงๆ


นอกจากนี้ก็ยังมีการสแกนลายนิ้วมือด้วย เพราะคนร้ายบางคนไปทำหน้ามาใหม่ก็จะต้องมีการพิสูจน์ด้วยลายนิ้วมือ ถ้าหากเป็นคนร้ายที่ประเทศต้นทางต้องการตัว ก็จะขึ้นสีแดงและจะทำการจับกุมส่งกลับไปยังประเทศต้นทางทันที


ในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้นของกระบวนการทำงานตำรวจนั้น อาจติดขัดเรื่องข้อจำกัดหลายๆ อย่างในการติดตั้งระบบรับรู้จำใบหน้า ทำให้ไม่เอื้อต่อการทำงาน เนื่องจากหากจะต้องมีการติดตั้งในที่สาธารณะ หรือมุมอับที่อาจก่อให้เกิดอาชญากรรม จะข้องเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน ที่กำกับดูแลในพื้นที่นั้นๆ และบางพื้นที่เป็นสถานที่ส่วนบุคคล ทำให้ยากต่อการดำเนินการ ในการรักษาความปลอดภัยของตำรวจนั้น ที่จะมีการติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ เช่น หมอชิต บีทีเอสจตุจักร และเกรงว่าจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย หากไม่ติดตั้งอย่างจริงจังก็อาจะเกิดเหตุต่างๆได้ แต่หากมีเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยส่งเสริมจะทำให้การทำงานง่าย สะดวก และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนมากขึ้น อีกทั้งยังได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายผ่านการบูรณาการร่วมกันให้เกิดเป็นระบบการรู้จำใบหน้าอย่างแท้จริง

ประเด็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลนั้น ทัดพงศ์ มองว่า การที่เราจะเอาเทคโนโลยีมาใช้งานนั้นควรนำไปวางอยู่บนแอพพลิเคชั่น แต่ผู้ใช้บริการต้องรับทราบดีว่าเทคโนโลยีใดๆ ก็ตามนับว่ามีความเสี่ยงทั้งหมด แต่อยู่ที่ว่าข้อจำกัดและการใช้งานได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และรับได้หรือไม่ ส่วนทางด้านแบงก์ชาติ มองว่าเจ้าของข้อมูลมีอำนาจในการตัดสินใจจึงไม่ดูเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใดๆ โดยปกติแล้วผู้ใช้บริการจะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน มีสิทธิที่จะรู้ว่านำข้อมูลไปทำอะไร ซึ่งปัจจุบันมี พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระบุไว้ชัดเจนว่า จะต้องเฉพาะเจาะจงวัตถุประสงค์ที่จะเอาไปใช้ ส่วนคนที่เก็บข้อมูลจะต้องมีการบริหารจัดการข้อมูล และดูแลความเสี่ยงอย่างรัดกุม ปลอดภัยถึงขีดสุด


อีกทั้งการรักษาความปลอดภัยของตำรวจนั้น ที่จะมีการติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ เช่น หมอชิต หรือว่า BTS จตุจักร และเกรงว่าจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย หากไม่ติดตั้งอย่างจริงจังก็อาจะเกิดเหตุต่างๆได้ ซึ่งหากมีเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยส่งเสริมจะทำให้การทำงานง่าย สะดวก และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนมากขึ้น อีกทั้งยังได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายผ่านการบูรณาการร่วมกันให้เกิดเป็นระบบการรู้จำใบหน้าอย่างแท้จริง


ทางด้านนักพัฒนาอย่าง ชาลี เสริมว่า เมื่อเราใช้ระบบไอทีความเป็นส่วนตัวของท่านจะไม่มีอยู่แล้ว หากมองในมุมมองผู้พัฒนาระบบ สิ่งเดียวเลยที่ลูกค้าหรือผู้ใช้งานจะยอมคือ ผู้ใช้งานต้องรู้สึกว่าได้รับประโยชน์เขาจึงจะไม่รู้สึกว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเขา