ชุมชนกะเหรี่ยงฯ ยื่นข้อเสนอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก

ชุมชนกะเหรี่ยงฯ ยื่นข้อเสนอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจาน เป็นมรดกโลก

ด้านที่ปรึกษา รมว.ทส. รับจดหมายเปิดผนึก พร้อมประมวลข้อมูลหาแนวทางแก้ไขปัญหาคนกับป่า

ชาวกะเหรี่ยงในนามของ ชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมในผืนป่าแก่งกระจานยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการมรดกโลก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยมีที่ปรึกษา รมว.ทส. กัญจนา ศิลปอาชา เป็นผู้รับแทน ในพิธีรำลึกถึงบิลลี่และเสวนาวิชาการ “ปัญหาสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน กับการขึ้นทะเบียนผืนป่าแห่งกระจานเป็นมรดกโลก”วานนี้ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต

โดยเนื้อหาในจดหมายประกอบไปด้วยข้อเสนอ 3 ข้อที่ทางชุมชนต้องการให้รัฐบาลนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการปรับข้อเสนอการขึ้นทะเบียนหลังจากคณะกรรมการมรดกโลกมีข้อทวงติง รวมทั้งในส่วนของสิทธิชุมชนในพื้นที่และส่งเรื่องกลับมาให้ประเทศไทยนำไปปรับข้อเสนอ่อนนำเสนอคณะกรรมการอีกครั้งในอนาคต

โดยชุมชนกล่าวว่า ในการจัดทำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกที่ผ่านมา ยังขาดสาระสำคัญเรื่องของวิถีชีวิตของชุมชนพื้นเมืองดั้งเดิม ซึ่งอาศัยและบำรุงรักษาผืนป่าแก่งกระจานมาโดยตลอด รัฐควรทบทวนปรับปรุงและระบุถึงความสำคัญต่อสาระสำคัญที่ขาดหายไป 

นอกจากนี้ ชุมชนยังต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเตรียมข้อเสนอตั้งแต่เริ่มกระบวนการ โดยมองว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ยังไม่ใช่ความเห็นที่แท้จริงของชุมชน

และข้อเสนอสุดท้าย ชุมชนต้องการเห็นหน่วยงานรัฐปรับทัศนคติ ซึ่งพวกเขามองว่า ยังมีทัศนคติและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วน ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการจัดการดูแลทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน โดยเฉพาะวิถีทำกินที่คิดว่าไร่หมุนเวียนเป็นไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและพยายามให้กะเหรี่ยงออกจากป่า บางครั้งจึงใช้กำลังบังคับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

“พวกเราต้องการให้ผืนป่าแก่งกระจานและวิถีชีวิตดั้งเดิมได้เป็นมรดกโลกควบคู่กัน พวกเราพร้อมใ้การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกครั้งใหม่จามแนวทางที่ได้เสนอ 3 ข้อนี้” ชุมชนกล่าว

ผู้อำนวยการส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ สุนีย์ ศักดิ์เสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มป่าแก่งกระจานซึ่งรัฐบาลได้มีมติควรเสนอเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ IUCN ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประเมินโดยได้ให้คำแนะนำหลายด้านในปี 2557  ทั้งนี้ กระบวนการนำเสนอของอส. อาจมีการตกหล่น เพราะเน้นเรื่องการดูแลทรัพยากร 

แต่อย่างไรก็ตามหลังจากที่การประชุมมรดกโลกครั้งที่ผ่านมาที่มีการส่งคำแนะนำกลับมาให้ ได้มีการหารือแบบเปิดกว้าง โดยมีจัดประชุมในพื้นที่ 4 ครั้งโดยมีผู้แทนจาก 4 พื้นที่ ซึ่งไม่ได้มองไปที่กลุ่มชาติพันธุ์โดยเฉพาะ แต่มองโดยภาพใหญ่ในกลุ่มคนที่อาจได้ผลกระทบทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่าเราตั้งใจดูแลรักษาพื้นที่ 

ผอ.สุนีย์ กล่าวว่า การเป็นมรดกโลกเหมือนกับคำมั่นสัญญาว่า เราจะดูแลผืนป่านั้นอย่างไร ดังนั้น จึงต้องมีแผนงานชัดเจนตามกฎหมายใหม่ เช่น ในการพิสูจน์สิทธิ์ในการดูแลชาวบ้านอย่างไร ซึ่งได้รับรายงานจากหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานว่าได้สำรวจเรียบร้อยแล้วเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้อย่างสมดุลย์ 

“เราไม่ได้รีบร้อนที่จะเสนอกลับไป แต่พร้อมที่จะรับฟังเพื่อให้ได้ฉันทามติร่วมกันแต่ละหน่วยงาน อาจมีกฎหมายที่อาจมีเป้าหมายขัดแย้งกัน ก็เป็นความท้าทายที่จะมานั่งพูดคุยกันเพื่อนให้ได้ข้อสรุป” ผอ. สุนีย์ กล่าว 

ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตตะนาวศรี วุฒิ บุญเลิศ กล่าวว่า เราได้ทำหนังสือส่งให้ประชาคมโลกรู้ว่าในผืนป่าแก่งกระจาน นอกจากสังคมพืชและสังคมสัตว์แล้ว มีสังคมมนุษย์อยู่ด้วย

ที่ผ่านมาไม่มีเรื่องของมนุษย์อยู่ในเอกสารราชการ มีพูดถึงไว้ไม่กี่บรรทัดและเห็นก็ถูกเบี่ยงเบนด้วยคำเรียกอื่นๆ เช่น กะหร่าง นำมาซึ่งทัศนคติและความคิดต่างๆ ซึ่งนานาชาติให้ความสำคัญกับมนุษย์จึงตีกลับมา ถือว่าติดกระดุมเม็ดแรกผิดไปตั้ง 3 ครั้ง

“ที่บางกลอย วัฒนธรรมข้าวถูกทำลาย ถ้าแก้ปัญหาได้คือแก้ให้พื้นที่ให้เกิดความสมดุลก่อน เพราะไร่หมุนเวียนทำให้พื้นที่สมบูรณ์และทำให้ชาวบ้านมีข้าวกิน มรดกทางวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าคนไม่มีข้าวกิน 

“ผมเชื่อว่ามันยังขาดความไว้เนื้อเชื่อใจเพราะการถูกกระทำในพื้นที่ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงต้องหาคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจมาหารือกัน” นายวุฒิ กล่าว 

ทางด้าน ที่ปรึกษาฯ กัญจนา กล่าวว่า ต้องการมาฟังข้อมูลและความในใจของชาวบ้าน ตอนนี้ทส.มีเรื่องเข้ามามาก แต่ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 

ที่ปรึกษาฯ กัญจนา กล่าวว่า จะเก็บเกี่ยวข้อมูลในทุกมิติจากเวที เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และเสนอไปยังรัฐมนตรี 

“เราตั้งใจจริงที่เข้ามาแก้ปัญหา ไม่ว่าพี่น้องกลุ่มใด เราก็อยากให้อยู่อย่างมีความสุข โดยป่าอยู่ได้และคนก็อยู่ได้ 

“ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งรู้สึกเห็นใจทุกคนที่ไม่มีโอกาสพูดบ้าง พูดแล้วไม่มีคนฟังบ้าง แต่เราขอรับปากว่าจะเก็บข้อมูลทั้งหมดไปหาทางแก้ไขปัญหา” ที่ปรึกษาฯ กัญจนา กล่าว