ยกเครื่องสวัสดิภาพเสือโคร่งของกลางวัดหลวงตาบัว หลังทยอยตายจากความเครียด

ยกเครื่องสวัสดิภาพเสือโคร่งของกลางวัดหลวงตาบัว หลังทยอยตายจากความเครียด

ทางวัดโวย เลือดชิดและการติดเชื้อเป็นเพียงข้ออ้าง

นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  เปิดเผยว่า ทางทีมสัตวแพทย์ได้ปรับมาตราการในการดูแลเสือโคร่งของกลางที่ยึดมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้การดูแลรักษาเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยง ได้มีสุขภาพที่ดี ลดอาการป่วยและตาย

โดยเบื้องต้น ได้คัดแยกเสือโคร่งตามกลุ่มอาการ โดยแบ่งกลุ่มอาการเป็น ๓ กลุ่ม คือกลุ่มปกติ ไม่แสดงอาการ กลุ่มเริ่มแสดงอาการเล็กน้อย และกลุ่มแสดงอาการปานกลางถึงรุนแรง เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจติดตามอาการและประเมินการรักษา

นอกจากนี้ยังได้ประสานกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการตรวจติดตามให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัขตามขั้นตอนและมีการติดตามผลเป็นระยะ

ในส่วนของการดูแลรักษาเสือโคร่งที่มีอาการป่วย นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า สัตวแพทย์จะดำเนินการให้รักษาและให้ยาตามอาการ สำหรับเสือโคร่งที่มีอาการหายใจเสียงดังอันเนื่องมาจากอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง และมีโอกาสตายหากไม่ได้รับการรักษา สัตวแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเป็นรายกรณี โดยอาจเชิญสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมรักษาหรือให้คำแนะนำ

ส่วนภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างและเขาสน จังหวัดราชบุรี ที่นำเสือของกลางไปฝากเลี้ยงไว้ จะควบคุมให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัยอย่างเข้มงวด พร้อมการปรับกรงคอกให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก และเพิ่มพื้นที่กรงคอก(สนาม)ให้เสือโคร่ง และส่งเสริมพฤติกรรมเพื่อลดความเครียดของเสือโคร่ง

ทั้งนี้ สัตวแพทย์ประจำสถานีและจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าจะสนับสนุนและติดตามการดูแลรักษาทุกสัปดาห์ โดยจะมีการประชุมเพื่อประเมินผลการดูแลรักษา นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าว

กรมอุทยานฯ ได้ออกมาชี้แจงกรณีสาเหตุการตายของเสือโคร่ง ซึ่งได้ตรวจยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ในช่วงต้นและกลางปี 2559 จำนวน 147 ตัว ก่อนนำมาฝากเลี้ยงที่สถานีเพาะเลี้ยงฯ ทั้งสองแห่งนานกว่า 3 ปี 

โดยเสือโคร่งเหล่านี้เกิดจากเสือโคร่งรุ่นแรกสายพันธุ์ไซบีเรียจำนวน 7 ตัวที่ทาวกรมป่าไม้เคยเข้าตรวจยึดในปี 2544 แต่ไม่ได้นำของกลางออกไป จนกระทั่งขยายพันธุ์เพิ่มจพนวนเป็น 147 ตัว

ในช่วงต้นปี 2558 ทางกรมพบว่ามีเสือหายไปจากวัด 3 ตัว จึงเร่ิมดำเนินการเคลื่อนย้ายของกลางในช่วงต้นและกลางปี 2559 โดยนำไปไว้ที่สถานีฯ เขาประทับช้าง 85 ตัว และที่เขาสน 62 ตัว ก่อนที่เสือจะทยอยตายลงเหลือที่เขาประทับช้าง 31 กับ 30 ตัวตามลำดับ

นายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเสือโคร่งของกลางจากวัดเป็นการดำเนินการในภาวะไม่ปกติ เสือโคร่งที่เคลื่อนย้ายมา ส่วนใหญ่มีภาวะเครียด เนื่องมาจากการขนย้ายและเปลี่ยนสถานที่ ซึ่งต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วย โดยพบว่า เป็นอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้าออกลำบาก เมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร มีอาการชักเกร็ง และตายในที่สุด

นอกจากนั้น ยังพบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสุนัข และสัตว์ป่าหลายชนิด รวมทั้งเสือโคร่ง ซึ่งหลังการติดเชื้อ จะพบอาการผิดปกติในระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร โดยปัจจุบันยังไม่มียารักษา เป็นการเฉพาะทำได้เพียงการรักษาตามอาการ เท่านั้น นายสุนทรกล่าว

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า ลิ้นกล่องเสียงของเสือที่บวม จะไม่สามารถขยับเปิดปิดระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหารได้สนิท ทำให้หายใจลำบากมีเสียงดังและมีอาการหอบ หากมีปัจจัยของอุณภูมิที่สูงขึ้น จะส่งผลต่ออาการเครียดและตายเฉียบพลัน 

การรักษาสัตวแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะลดอาการอักเสบ ลดไข้ รักษาอาการภูมิแพ้ บางตัวพบว่ามีอาการหายใจเสียงดังมาก สัตวแพทย์จะดำเนินการผ่าตัด แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดอาการของโรคที่แน่ชัด นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าว 

ต่อมา ทางทีมสัตวแพทย์ได้ส่งตัวอย่างเสือโคร่งที่ตายตรวจ จึงพบว่าให้ผลบวกต่อเชื้อไข้หัดสุนัข ซึ่งการรักษาดังกล่าวไม่มียารักษาเป็นการเฉพาะ สัตวแพทย์ต้องดำเนินการรักษาตามอาการเช่นกัน

ซึ่งหลังจากเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นทางด้าน พระวิสุทธิสารเถร (ภูสิต ขันติธโร) หรือหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัด ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก โดยยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้และเป็นเพียงข้อกล่าวอ้าง กรณีที่กรมอุทยานฯ ระบุว่า กลุ่มเสือโคร่งที่ตายส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไซบีเรีย ที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ในครอบครัวเดียวกันจนเลือดชิดที่ไม่มีภูมิคุ้มกันตัวเองที่ดีพอ จึงเป็นเหตุให้เสือป่วยตาย 

ส่วนกรณีที่ระบุว่าเสือเหล่านั้นน่าจะเป็นโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เป็นมาตั้งแต่เอาออกมาจากวัดฯ เรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริง เพราะเชื้อโรคไม่ใช้เวลาฟักตัวนานถึง 3 ปี และที่สำคัญวันที่เจ้าหน้าที่มาทำการขนย้ายเสือออกจากวัดฯ เสือทุกตัวจะมีการตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์กว่า 40 นาย ดังนั้นหากมีเสือติดเชื้อ หรือเป็นโรค เจ้าหน้าที่ก็จะต้องกล่าวหาวัดตั้งแต่วันนั้นแล้ว หลวงตาจันทร์กล่าว 

“หากเลี้ยงกันไม่ได้ ก็ให้เอากลับ แต่หากเสือของกลางไม่สามารถขนย้ายกลับมาได้ ก็ขอให้นำลูกเสือที่คลอดออกมาใหม่มาเลี้ยงที่วัดฯ โดยขอเอามาเลี้ยงเอง และจะเลี้ยงให้ดู” หลวงตาจันทร์กล่าว

นายอธิธัช ศรีมณี อายุ 50 ปี ผู้จัดการมูลนิธิวัดฯ กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ พยายามปิดข่าวนี้มาโดยตลอด ซึ่งตนในฐานะที่ผูกพันกับเสือเหล่านั้นมานาน ก็รู้สึกเสียใจ และหดหู่อย่างมาก 

เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาที่กรมอุทยานฯ มาเอาเสือไป อ้างว่าเสือเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน แต่วันนี้กลับมาระบุว่า เสือดังกล่าวเป็นเสือสายพันธุ์ไซบีเรีย และมาโยนความผิดให้กับวัดฯ เท่ากับกรมอุทยานฯ ไม่รับผิดชอบอะไรเลย นายอธิธัชกล่าว

การเคลื่อนย้ายเสือ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ปลุกกระแสให้คนเมืองกาญจน์ออกมาเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ต้องการทวงคืนเสือกลับมาให้วัดดูแลเหมือนเช่นในอดีต และบริหารจัดการร่วมกันระหว่างจังหวัดกับวัด  นายอธิธัชอ้าง

จากรายงานล่าสุดของสถานีฯ ในการตรวจตัวอย่างจากห้องปฏิบัติการปัจจุบันไม่พบการแพร่ระบาดเชื้อโรคไข้หัดสุนัข แต่เสือโคร่งยังมีอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียงที่เป็นสาเหตุการตาย ซึ่งสัตวแพทย์ได้ดำเนินการรักษาตามอาการ และกำหนดแนวทางการในการดูแลเสือโคร่งที่เหลืออยู่ ให้มีอัตราการตายลดลงและมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น

นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ  กล่าวว่า นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดี อส. ได้กำชับให้ตนเองดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะเป็นเรื่องที่สื่อมวลชนและสาธารณะชนให้ความสนใจ