ถอดรหัส 'โมเดลฟินแลนด์'ต้นแบบพัฒนาประเทศสีเขียว

ถอดรหัส 'โมเดลฟินแลนด์'ต้นแบบพัฒนาประเทศสีเขียว

ภายใต้หัวข้อ การออกแบบธุรกิจใหม่สู่ความยั่งยืน เชิญองค์กรระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมาให้ความรู้และมุมมองในการทำธุรกิจที่เกื้อกูลระบบนิเวศทางธรรมชาติ เอื้อให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

ฟินแลนด์ ครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ซึ่งในรายงานเครือข่ายการแก้ปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า คะแนนความสุขของคนที่นี่ ชี้วัดได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ การสนับสนุนทางสังคม สุขภาพ เสรีภาพการใช้ชีวิต ความเสมอภาคเท่าเทียม และคุณภาพการศึกษา ซึ่งหลอมรวมให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ จนได้ชื่อว่า “ประเทศสีเขียว” (Green Country)

สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ประจำกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) จัดงานสัมมนาโกลบอล บิสสิเนส ไดอะล็อก 2019 (Global Business Dialogue 2019) ภายใต้หัวข้อ การออกแบบธุรกิจใหม่สู่ความยั่งยืน เชิญองค์กรระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมาให้ความรู้และมุมมองในการทำธุรกิจที่เกื้อกูลระบบนิเวศทางธรรมชาติ เอื้อให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

ซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ กล่าวว่า วิกฤติความยั่งยืนเป็นผลมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และอุณหภูมิโลกสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลฟินแลนด์ได้เร่งรัด และผลักดันให้วิกฤตความยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ผลักดันให้ประเทศฝ่าวิกฤติก้าวขึ้นมาความยั่งยืนอันดับหนึ่งของโลก และเป็นประเทศสีเขียวในที่สุด

“วันนี้ทุกคนต้องตระหนักถึงวิกฤตความยั่งยืนให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ลองคิดดูว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นได้สร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อมรวมทั้งชีวิตหลายพันล้านคนบนโลกใบนี้” เคลฟเวน ระบุ

เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ชี้ว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งที่ทำให้โลกต้องเผชิญวิกฤติความยั่งยืน จากข้อมูลพบว่า อุณหภูมิในพื้นที่บริเวณแถบทวีปอาร์กติกที่สูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในทุกๆปี ส่งผลให้ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีปะการังตายเป็นจำนวนมาก นี่เป็นสัญญาณอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ

“มนุษย์สามารถร่วมมือสร้างความแข็งแกร่ง ในการหาแนวทางป้องกันกับวิกฤตครั้งนี้ และถือเป็นวาระเร่งด่วนที่จะหยิบขึ้นหารือในการประชุมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่74 ในปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศภาคีจัดวางเป้าหมายความยั่งยืนทางสภาพภูมิอากาศ” เคลฟเวนกล่าว

สำหรับฟินแลนด์มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นประเทศต้นแบบที่ดำเนินการจัดการกับวิกฤตโลกร้อนอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลฟินแลนด์ได้ออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดยตรง วางเป้าหมายอย่างท้าทายว่าภายในปี 2564 จะเป็นประเทศที่ปลอดคาร์บอน

ฟินแลนด์ ยังได้เชิญพันธมิตรในหลายภาคส่วนร่วมจัดทำมาตรการผ่านภาคประชาสังคม วางเป้าหมายเป็นสังคมสวัสดิการที่ไม่ใช้พลังงานจากฟอสซิลในอีก 12 ข้างหน้า หวังกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนสร้างนวัตกรมเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยรัฐบาลได้สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการทางภาษี

นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังมีนโยบายลดการตัดไม้ทำลายป่า สนับสนุนให้คนในประเทศปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มการดูดซับคาร์บอน และยังมีมาตรการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและภาคครัวเรือน รวมถึงเพิ่มบทบาทการเป็นประเทศผู้นำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ที่ผ่านมา รัฐบาลฟินแลนด์ได้ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมวางโรดแม็พแก้วิกฤติความยั่งยืน อย่าง บริษัท SITRA และบริษัท St1 Nirdic Oy เป็นองค์กรเอกชนชั้นนำระดับโลกของฟินแลนด์ ที่มีบทบาทสำคัญในการนำโมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางธุรกิจ

เออเนสโต ฮาท์ติไคร์เนียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อธุรกิจยั่งยืนของบริษัท SITRA กล่าวว่า บริษัทมีกองทุนนวัตกรรมฟินแลนด์ ซึ่งเป็นกองทุนอิสระ โดยมีภารกิจในการเข้าไปสนับสนุนและลงทุนในโครงการ และธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับโลก และส่งเสริมการพัฒนาที่มั่นคงและเกิดสมดุลในประเทศให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และยังเป็นกองทุนที่มีบทบาทในการวางโรดแม็พเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระของชาติของฟินแลนด์

ฮาท์ติไคร์เนียน มองว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเป็นโมเดลของการทำธุรกิจในอนาคต เพราะนอกจากจะดีต่อสภาพแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ พิสูจน์ได้จากตัวเลขของบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมีส่วนสร้างดัชนีทางเศรษฐกิจในฟินแลนด์ได้มากถึง 2.5 พันล้านยูโร

“ปัจจุบันสินค้าที่เกิดจากเศรษฐกิจหมุนเวียนยังไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดมากนัก เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่อย่าลืมว่าสินค้าที่ขายอยู่ตามท้องตลาดในวันนี้เป็นราคาที่ถูกเกินไป เพราะยังไม่ได้รวมค่ากำจัดขยะ ฉะนั้นทุกคนจะต้องมาร่วมกันคิดแล้วว่าเราจะทำอย่างไร ในการคำนวณต้นทุนเหล่านั้นลงไปในราคาสินค้าด้วย ตนคิดว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะเรากำลังอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่าน" ผู้เชี่ยวชาญบริษัท SITRA ระบุ

ในตอนท้าย ฮาท์ติไคร์เนียน ยังแนะนำแนวคิดการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า จะต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เข้ามาช่วยยืดวงจรของสินค้าให้มีความยาวนานมากขึ้น และเข้าไปเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคที่ทำให้เกิดความยั่งยืน

ดังนั้นองค์กรควรออกแบบสินค้าและบริการของตัวเองในแบบใหม่ เช่น แทนที่จะผลิตสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ก็หันมาใช้วัสดุรีไซเคิล หรือขยะชีวภาพ ควบคู่ไปกับใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการจำหน่ายสินค้า ขณะที่องค์กรในภาคธุรกิจบริการ อาจนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจการแบ่งปัน (Sharing Economy) ให้กับลูกค้าได้จ่ายเงินค่าสินค้าและบริการตามการใช้งานจริง โดยวันนี้ บริษัท SITRA ได้เริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้แล้วในธุรกิจเช่ารถยนต์แล้ว