“มหกรรมบ้าน-คอนโด”ยอดจองไม่หวือหวา 

“มหกรรมบ้าน-คอนโด”ยอดจองไม่หวือหวา 

ดีเวลลอปเปอร์ ประเมินอสังหาฯท้ายปียังหืดจับ ยอดจองมหกรรมบ้านและคอนโดไม่หวือหวา แม้เทหน้าตักอัดแคมเปญ หวั่นแบกสต็อกกระทบสภาพคคล่อง ด้านศูนย์ข้อมูลอสังหาฯเผยคอนโดอ่วมทั้งปีติดลบ 7.7% ฉุดเลื่อนเปิดโครงการใหม่

นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยถึงผลการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 13-15 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปี 2562 โดยพบว่า ยอดจองใกล้เคียงกับในช่วงต้นปีที่มีการจัดงานไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวและกำลังซื้อหดตัว ดังนั้นการประคับประคองให้สถานการณ์ยอดจองบ้านและคอนโดไม่ตกไปมากกว่าในช่วงการจัดงานต้นปีถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

“ในช่วงเดือนมี.ค.จัดงานมหกรรมบ้านฯ เป็นช่วงก่อนประกาศใช้มาตรการคุมเข้มสินเชื่อ(LTV) ส่วนใหญ่เป็นคอนโดเพื่อลดผลกระทบของมาตรการแอลทีวี แต่การจัดงานช่วงปลายปีที่เพิ่งจบไป ยอดจองส่วนใหญ่เป็นแนวราบ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้ออยู่จริง หลังจากตลาดต่างชาติหดตัว ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นการอัดแคมเปญหนักก่อนสิ้นปี ที่ทุกค่ายอสังหาฯ ต่างเทหมดหน้าตักก็ยอดขายเท่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมกำลังซื้อชะลอตัวจริง”

เขายังกล่าวต่อว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการบางราย มีปัญหาถือซัพพลายที่สร้างเสร็จเหลือขาย (Inventory)ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ขายไม่หมด จะต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2563

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการ ยังหวังรอมาตรการกระตุ้นตลาดในช่วงปลายปีจากภาครัฐอีกรอบ ซึ่งปัญหาอสังหาฯในปัจจุบันเป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังซื้อลดลง ประกอบกับมาตรการแอลทีวี ทำให้สถาบันการเงินค่อนข้างเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลทำให้ผู้ซื้อบ้านถูกปฏิเสธสินเชื่อมีอัตราสูงขึ้น

ด้านนายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)กล่าวว่า ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา อสังหาฯค่อนข้างติดลบค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยคาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในจำนวนหน่วยติดลบ 7.7% คิดเป็นมูลค่าติดลบ 2.7%

อย่างไรก็ตาม การติดลบของภาคอสังหาฯ เป็นการปรับฐานที่อัตราติดลบกลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะเติบโตคือในปี 2560 แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือจะมีการติดลบต่อเนื่องหรือไม่ หรือทรงตัวและปรับตัวและเติบโตต่อไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยทั้งปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจโลก และปัจจัยภายใน รวมไปถึงการกระตุ้นการตลาดจากภาครัฐ

เขายังกล่าวต่อว่า ตลาดคอนโด ติดลบค่อนข้างสูงหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยคอนโดในไตรมาสที่ 1 ติดลบ 14%ไตรมาส 2 ติดลบ 20%ไตรมาสที่ 3ติดลบ 14%และคาดว่าไตรมาสที่ 4จะติดลบ 20%  โดยปีนี้มีจำนวนหน่วยผังเหลือขาย หรือ สินค้าที่ทั้งวางแผนก่อสร้างและเปิดตัวและสร้างเสร็จสูงกว่าปีที่ผ่านมา จำนวน 1.5 แสนยูนิต ขณะที่ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.3 แสนยูนิต

“ในปัจจุบันมีสินค้าเหลือขายในตลาดจำนวนมาก ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวโดยการเลื่อนเปิดตัว หรือเปิดตัวระหว่างก่อสร้างมีการขายดาวน์ไปก่อน ขณะเดียวกันก็เร่งขายโครงการเก่าให้หมดไม่เช่นนั้นจะเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และได้รับเงินคืนกลับมาช้า”