ทัวร์อัดโปร“ไทยเที่ยวนอก” บาทแข็ง-ปอนด์อ่อน ไฮซีซันคึก 

ทัวร์อัดโปร“ไทยเที่ยวนอก” บาทแข็ง-ปอนด์อ่อน ไฮซีซันคึก 

บาทแข็งดันคนไทยแห่เที่ยวนอกไฮซีซั่น ทัวร์เอาท์บาวด์เร่งโปรโมทแพ็คเกจทัวร์อังกฤษ-ยุโรป ดึงคนไทยเที่ยวช้อปของถูก รับอานิสงส์ปอนด์-ยูโรอ่อนยวบ “ทีทีเอเอ” ชี้แนวโน้มไทยเที่ยวนอกปีนี้แตะ 11 ล้านคน

จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ รวมถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินต่างประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรป อาทิ ปอนด์ ซึ่งเคยทำสถิติร่วงถึงระดับ 36 บาทต่อปอนด์เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา จากความเสี่ยงของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต) ก่อนจะดีดกลับมาอยู่ที่ระดับ 38 บาทต่อปอนด์ ขณะที่เงินยูโรร่วงมาอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อยูโรแล้ว ส่งอานิสงส์ต่อมู้ดและการจับจ่ายของตลาดนักท่องเที่ยวขาออก (เอาท์บาวด์) หรือคนไทยเที่ยวต่างประเทศในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ปลายปีนี้

นายโชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด และกรรมการสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง บริษัทได้เร่งโปรโมทขายแพ็คเกจทัวร์ท่องเที่ยวยุโรปทุกรายการแก่ตลาดคนไทยในไฮซีซั่นนี้ โดยเฉพาะจุดหมายประเทศอังกฤษซึ่งเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) จากอากาศหนาวเย็น และมีเทศกาลจับจ่ายสินค้าราคาถูกในเดือน พ.ย.-ธ.ค.ก่อนเข้าปีใหม่ น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยไปจับจ่ายได้ในภาวะที่เงินปอนด์อ่อนค่า

ส่วนจุดหมายในยุโรป พบว่าโซนยุโรปกลางและตะวันออก เช่น ออสเตรีย และสาธารณรัฐเช็ก สถานการณ์ดีที่สุดในรอบ 2 ปี ตั้งแต่การบินไทยเปิดเส้นทางบินตรง กรุงเทพฯ-เวียนนา ซึ่งบริษัททัวร์สามารถทำแพ็คเกจทัวร์ขายราคาถูกได้ที่ 3 หมื่นบาทปลายๆ สำหรับเดินทาง 7 วัน 4 คืน เพราะไม่มีต้นทุนค่าเข้าชมสถานที่ เน้นท่องเที่ยวธรรมชาติ

ขณะที่ประเทศรัสเซียก็เป็นอีกจุดหมายที่คนไทยสนใจ โดยเฉพาะทริปชมแสงเหนือ เพราะไม่ต้องยื่นขอตรวจลงตรา (วีซ่า) และราคาแพ็คเกจทัวร์ถูกกว่า 30% เมื่อเทียบกับจุดหมายในสแกนดิเนเวียหรือไอซ์แลนด์ซึ่งราคาสูงเกือบ 1 แสนบาทต่อคนขึ้นกับช่วงเวลา ประกอบกับกระแสของคนเอเชียโดยเฉพาะชาวจีนและญี่ปุ่น ยังฮิตกับกระแสชมแสงเหนือ ทำให้ราคาค่อนข้างแพง

ญี่ปุ่นจุดหมายฮิตคนไทย 

ด้านจุดหมายประเทศญี่ปุ่น นอกจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งยังอยู่ที่ระดับ 28 บาทต่อ 100 เยนแล้ว ยังได้อานิสงส์จากการแข่งขันของสายการบินต่างๆ ที่เข้ามาให้บริการเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ราคาตั๋วเครื่องบินถูกลง หนุนทำราคาแพ็คเกจทัวร์ได้ถูกลงตามไปด้วย เฉลี่ยอยู่ที่ 2.6-2.7 หมื่นบาทต่อคน ต่างจากช่วงก่อนญี่ปุ่นจะดำเนินนโยบายยกเว้นวีซ่าแก่คนไทยเมื่อกลางปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งราคาเฉลี่ยมากกว่า 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อคน

“เมื่อราคาแพ็คเกจทัวร์ญี่ปุ่นถูกลง คนก็เข้าถึงง่ายขึ้น ประกอบกับแลนด์สเคปธุรกิจท่องเที่ยวในญี่ปุ่น เช่น โรงแรม และรถบัส ไม่ได้มีแค่บริษัทญี่ปุ่นทำเท่านั้น แต่ยังมีบริษัทจากเกาหลีและจีนเข้าไปทำธุรกิจแบบเน้นราคาและปริมาณ ด้วยการเช่าโรงแรมและรถบัสเอง แล้วมาขายให้บริษัททัวร์ของไทยใช้บริการอีกทอด ซึ่งได้ราคาถูกและยืดหยุ่นกว่ามาก จึงเป็นช่องทางทำราคาแพ็คเกจทัวร์ได้ถูกลง ดึงคนไทยไปเที่ยวได้มาก ส่วนตลาดอินเซนทีฟทัวร์หรือท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลขององค์กรต่างๆ พบว่าสนใจไปญี่ปุ่นลดลง เพราะคนไทยไปเองได้ ไม่ต้องรอไปเที่ยวจากการทำยอดขาย โดยนิยมไปยุโรปมากขึ้น”

ประเมินเที่ยวญี่ปุ่น1.27ล้านคน

ทั้งนี้ จากรายงานขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจเอ็นทีโอ) ระบุว่าปี 2561 มีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น 1.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเพิ่มเป็น 1.27 ล้านคน

ด้านภาพรวมตลาดทัวร์ไทยไปไต้หวัน คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะยังเติบโตดี เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสวยงาม และกำลังสร้างจุดขายใหม่เรื่องไหว้พระขอพรที่วัดและศาลเจ้า ถูกจริตนักท่องเที่ยวไทยที่ชื่นชอบการขอพรและโชคลาภจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากฮ่องกงหาจุดแข็งเรื่องนี้เจอ และโปรโมทจนขายดีมากในปีที่แล้ว แต่พอมาเจอสถานการณ์ชุมนุมในฮ่องกงตั้งแต่กลางปีนี้ จึงไม่ค่อยเห็นทัวร์ออกเดินทางนัก

ทีทีเอเอชี้ไฮซีซันคึกคัก

นางสาวทัศนีย์ เกียรติกำจรชัย ผู้อำนวยการ บริษัท เอี่ยมทัวร์ แอนด์ ทรานสปอร์ต จำกัด และเลขาธิการสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) คาดว่า ภาพรวมตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศในไฮซีซั่นนี้ไม่ซบเซา เป็นไปในทิศทางบวก เติบโตกว่า 10% เมื่อเทียบกับไฮซีซั่นปีที่แล้ว หลังได้อานิสงส์เงินบาทแข็งค่า ทำให้คนไทยเดินทางมากขึ้น

โดยจุดหมายหลักที่คนไทยสนใจยังคงเป็นญี่ปุ่น เพราะมีซัพพลายที่นั่งบนเครื่องบินให้บริการจำนวนมาก ส่วนจุดหมายระยะไกลทั้งอังกฤษ ประเทศอื่นๆ ในยุโรป และสหรัฐ แม้เงินปอนด์ ยูโร และดอลลาร์สหรัฐจะอยู่ในช่วงอ่อนค่า เอื้อให้คนไทยตัดสินใจไปเที่ยวและจับจ่ายง่ายขึ้น แต่ก็มีการแข่งขันเพื่อชิงนักท่องเที่ยวกันเอง โดยเส้นทางยุโรป ราคาแพ็คเกจทัวร์ปัจจุบันมีขายตั้งแต่ 3 หมื่นบาทถึง 1 แสนกว่าบาทต่อคน ถูกสุดคือตุรกีที่ราคาต่ำกว่า 3 หมื่นบาทก็พอมีให้เห็นในตลาด

โปรไฟไหม้ลดความหวือหวา 

สำหรับภาพรวมการทำโปรโมชั่น “ทัวร์ไฟไหม้” ในปัจจุบัน การเล่นราคาอาจไม่หวือหวามากนัก เพราะกรมการท่องเที่ยวเล็งกำหนดอัตราราคาทัวร์ขั้นต่ำ ทั้งนี้ทัวร์ไฟไหม้เริ่มมีในตลาดมากว่า 5 ปี เพิ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างช่วง 2-3 ปีหลังจนเกิดเป็นกระแส โดยมองว่าเป็นหนึ่งในลูกเล่นทางการทำตลาดด้วยการขายแพ็คเกจทัวร์แบบล้างสต็อกของบริษัททัวร์ เหมือน Clearance Sale ตามห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะตั๋วเครื่องบินใกล้หมดอายุการเดินทาง ก็ต้องนำมาเทกระจาดขายราคาถูก เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่พร้อมเดินทางในช่วงเวลากระชั้นชิด (ลาสต์ มินิท)

“ในมุมผู้ผลิตแพ็คเกจทัวร์ การทำโปรโมชั่นทัวร์ไฟไหม้ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยระบายสินค้า แทนการปล่อยให้เงินมัดจำหรือที่นั่งบนเครื่องบินหายไป แต่ในมุมผู้ขายแพ็คเกจทัวร์ ก็อาจจะกังวล เพราะทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป หันมารอซื้อทัวร์แบบลาสต์มินิทมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกกว่า เช่น แพ็คเกจทัวร์ไปญี่ปุ่น ราคาปกติ 2-3 หมื่นบาทต่อคน แต่โปรฯทัวร์ไฟไหม้อยู่ที่ 1 หมื่นบาทต่อคน ขณะที่ฮ่องกง ราคาปกติ 1 หมื่นกว่าบาทต่อคน แต่โปรฯทัวร์ไฟไหม้อยู่ที่ประมาณ 8 พันบาทต่อคน”

คาดไทยเที่ยวนอกแตะ11ล้านคน

นางสาวทัศนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีทีเอเอคาดการณ์จำนวนคนไทยเดินทางไปต่างประเทศตลอดปี 2562 รวมอยู่ที่ 11 ล้านคน เติบโตจากฐาน 10 ล้านคนของปีที่แล้ว คาดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 3 หมื่นบาท มูลค่าเงินสะพัดเบื้องต้นราว 3.3 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นการเดินทางกับบริษัททัวร์ไม่ถึง 50% ซึ่งต้องปรับตัวด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม

ด้านข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รายงานสถิตินักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศ 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) 2562 พบว่ามีจำนวน 7.85 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 7.11 ล้านคนในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

และเมื่อดูตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยไปเยือน 5 ประเทศในเอเชีย ซึ่งได้รับรายงานจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และมาเลเซีย พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปฮ่องกงช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ที่ 3.22 แสนคน เพิ่มขึ้น 11.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว, ญี่ปุ่น 7 เดือนแรก มี 7.56 แสนคน เพิ่มขึ้น 11.12%, เกาหลี 7 เดือนแรก มี 3.31 แสนคน ลดลง 1.24%, ไต้หวัน 7 เดือนแรก มี 2.32 แสนคน เพิ่มขึ้นถึง 29.27% และมาเลเซีย 6 เดือนแรก มี 9.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 4.15%