‘สแตนชาร์ด’ปั้นธุรกิจไทย ดัน‘การค้า-ลงทุนนอก’

 ‘สแตนชาร์ด’ปั้นธุรกิจไทย  ดัน‘การค้า-ลงทุนนอก’

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ สถาบันการเงินชั้นนำจาก “อังกฤษ” ซึ่งเข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ 125 ปีที่ผ่านมา

ยังคงเดินหน้าขยายการดำเนินธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สโลแกน "Here for Good" โดยยืนเคียงข้างภาคธุรกิจทั้งในยามตลาดขาขึ้นและขาลง มั่นใจมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายบิล วินเทอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า  กลยุทธ์สำคัญของธนาคาร คือการมองหาโอกาสใหม่มากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการดูแลตลาดที่มีอยู่ให้เติบโตมากขึ้น เช่นตลาดในประเทศไทย ที่ธนาคารดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 125 ปี ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตของธนาคารอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ หากดูการดำเนินธุรกิจธนาคารในปัจจุบัน นอกจากมีการให้บริการอยู่ในทุกประเทศอาเซียนแล้ว ยังมีการดำเนินธุรกิจอยู่ใน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินเดีย แอฟริกา ตะวันออกกลางด้วย

โดยกลยุทธ์หลักๆของธนาคาร คือลงทุนอย่างหนักเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนข้ามชาติ และการลงทุนทุกตลาด เพราะตลาดเหล่านี้เป็นตลาดที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก และคาดว่าการเติบโตของโลกใน 20ปีข้างหน้า จะมาจากการเติบโตจากตลาดเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญ

อีกทั้ง ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจและการเข้าไปเติบโตในตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น ล่าสุดที่ธนาคารเพิ่งได้ใบอนุญาตประกอบการธนาคารในประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาโอกาสใหม่ๆในการทำธุรกิจใหม่ๆเพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ จากความแข็งแกร่ง และการสร้างความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจ ที่ถือเป็นจุดแข็งของธนาคาร ทำให้เป็นส่วนสำคัญ ต่อการเติบโตของรายได้ของธนาคารในอีก 3ปีข้างหน้าให้เติบโต ระดับ 5-10% ต่อปีต่อเนื่องได้

“เรื่องราวของธนาคารในทุกตลาดมีทั้งช่วงขาขึ้นและขาลง บางตลาดเศรษฐกิจดี บางตลาดเศรษฐกิจไม่ดี บางตลาดมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เราดำเนินงานตามคำขวัญของธนาคาร ที่ว่า Here for Good ซึ่งหมายถึง การเดินเคียงข้างกับตลาดทั้งในยามขาขึ้นและขาลง และเมื่อเราตัดสินใจลงทุนแล้ว หมายความว่าเราตั้งใจจะอยู่ระยะยาว โดยเรามุ่งขยายธุรกิจต่อเนื่อง กลยุทธ์ของเราคือ เดินหน้าทำสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้วต่อไปในตลาดเหล่านี้ และมีส่วนในการสร้างการเติบโตให้กับตลาดเหล่านี้”

ส่วนดิจิทัลดิสรับชั่นที่เข้ามา ทำให้ธนาคารปรับตัวต่อเนื่อง เพื่อให้ธนาคารอยู่แถวหน้าในการเปลี่ยนแปลง โดยการลงทุนทั้งแง่เงินทุน เวลา และทรัพยากรเพิ่มขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีศักยภาพมากขึ้น ในการให้บริการทีดีขึ้น 

โดยทุกปี ธนาคารจะมีการลงทุนใหม่ราว 1-2 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 60,000 ล้านบาท โดยงบลงทุนหลักๆอยู่ที่ digitalisation เพื่อปรับกระบวนการทำงานเข้าสุู่ดิจิทัล และที่ผ่านมาธนาคารมีการให้บริการผ่านไลเซ่นส์ใหม่ ซึ่งเป็นการให้บริการบนระบบดิจิทัล ที่ไม่ต้องมีสาขา (stand alone digital banks) ซึ่งปัจจุบันให้บริการแล้ว รวม 10 แห่ง เช่น ในแอฟริกา อินเดีย สิงคโปร์ และกำลังสร้าง digital bank ใหม่ในฮ่องกง ดังนั้นเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของธนาคารในอนาคตมาก

ด้านนายพลากร หวั่งหลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า การเติบโตของธนาคารในไทย น่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงปีก่อน โดยรายได้รวมปีก่อนเติบโตกว่า 26% เนื่องจากการเติบโตของธนาคารแต่ละปี มีฐานรายได้ที่ชัดเจนและแน่นอน โดยกลยุทธ์ของธนาคารที่สำคัญ คือการผลักดันให้ภาคธุรกิจเกิดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคธุรกิจในการเติบโตในต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน ธุรกิจรายใหญ่หลายราย เริ่มอิ่มตัวในการทำธุรกิจในประเทศ ดังนั้นจึงพยายามมองหาการเติบโตในตลาดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเอเซีย หรืออาเซียน เช่น เวียนนาม พม่า ลาว กัมพูชาที่เริ่มเห็นการออกไปลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้นด้วยจุดแข็งของธนาคารที่มีเครือข่าย และความเชี่ยวชาญทั่วโลก จะสามารถเข้าไปตอบโจทย์กับภาคธุรกิจได้มากขึ้น

ไม่ใช่แค่การเติบโตในเรียลเซกเตอร์เท่านั้น แต่การหวังการเติบโตด้านการลงทุนในตลาดหุ้น ก็เป็นส่วนผลักดันการเติบโตของธนาคาร โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดค่อนข้างผันผวนสูง ธนาคารก็สามารถเข้าไปดูแลลูกค้า ในการบริหารความเสี่ยงความผันผวนในการทำธุรกิจมากขึ้น และด้วยความเชี่ยวชาญของธนาคารยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่จากต่างประเทศมาตอบโจทย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างชาติมากขึ้นด้วย

“ส่วนการดีสรับชั่นที่เข้ามา ทำให้ธนาคารต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องดังนั้นธนาคารจึงมีการสนับสนุนและจัดสรรการลงทุนด้านดิจิทัล หรือเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในการเอื้อการทำธุรกิจ เช่นการจับมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พัฒนาระบบการชำระเงิน ผ่านโครงการอิทนนท์ หรือการจับมือกับสถาบันการเงินในประเทศ ในการออกหนังสือค้ำประกันผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือล่าสุดที่จับมือกับปตท. ในการนำทดสอบธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมัน ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ปตท. บนแพลทฟอร์มบล็อกเชนของ Voltron เหล่านี้เพื่อยกระดับการให้บริการของธนาคารมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจให้กับลูกค้าธนาคารมากขึ้น”