มหิดลชู 'เอไอ' เสริม 'การแพทย์แม่นยำ' รักษาโรคได้ตรงจุด

มหิดลชู 'เอไอ' เสริม 'การแพทย์แม่นยำ' รักษาโรคได้ตรงจุด

ม.มหิดลเปิดประเด็นใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในงาน “เวชกรรมตรงเหตุ” เพื่อการรักษาโรคได้ตรงจุด หวั่นการใช้บริการของต่างชาติในการเก็บรักษาข้อมูลเสี่ยงรั่วไหล แถมยังเปิดโอกาสให้รู้ข้อมูลไทยหมด

หาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ร่วมกับ สำนักงานราชบัณฑิตสภา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตร จัดประชุมวิชาการ “เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0” (Precision Medicine in Thailand 4.0) เปิดโอกาสให้นักวิชาการจากทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความก้าวหน้าและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาขาที่เกี่ยวข้อง 

รศ.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Artificial Intelligence (AI), the Enabler of Precision Medicine” กล่าวว่า Precision Medicine หรือ “เวชกรรมตรงเหตุ” คือการทำอย่างไรจะรักษาโรคได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยมีการวิเคราะห์ไปถึงดีเอ็นเอร่วมกับปัจจัยของสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค 

คณะวิศวกรรมศาสตร์มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการใช้เอไอ เพื่อการพัฒนา “เวชกรรมตรงเหตุ” แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ Predictive Technology ได้แก่ อุปกรณ์สวมใส่ หรือเซ็นเซอร์ที่ติดตามร่างกาย เสื้อผ้าต่างๆ เพื่อที่จะวัดสัญญาณทั่วไปดูการเปลี่ยนแปลงของระดับเส้นประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ ประกอบกับการดูข้อมูลเวชระเบียนในเชิงสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม เพื่อคาดเดาการที่จะกลับมาเกิดโรค รวมทั้งการประมวลผลโดยการใช้ Imaging หรือรูปภาพต่างๆ มาเฝ้าระวังโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น 

กลุ่มที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการรักษา อย่างเช่น การนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการรักษาโรคออทิสติก ด้วยระบบซอฟต์แวร์ร่วมกับระบบเทรนนิง หรือทางด้านสมองก็มีการกระตุ้นสมองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ การทำสมองเทียมแทนสมองที่ตายแล้วด้วยเทคโนโลยีเอไอสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ตลอดจนในเรื่องของหุ่นยนต์ผ่าตัด โดยการใช้เทคโนโลยีเอไอวางแผนร่วมกับการใช้ Imaging 

และกลุ่มที่สามเป็นเรื่องเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ (Assistive tools) ซึ่งเป็นการพัฒนาในเรื่องซอฟต์แวร์เนื่องจากข้อมูลมีมหาศาล จึงจะต้องนำข้อมูลมาทำให้แพทย์สามารถใช้งานได้ทันที รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

“แนวโน้มของเอไอควรที่จะอยู่ในวิชาพื้นฐานของทุกวิชาชีพ วิศวกรที่มีความรู้ความชำนาญด้านเอไอเพียงฝ่ายอย่างเดียว ไม่สามารถคุยกับแพทย์ที่ไม่มีความรู้ด้านเอไอ แพทย์อาจไม่ต้องรู้ลึกมาก แต่รู้ว่ามันคืออะไร ใช้เป็น และช่วยคิดได้ ซึ่งปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดคอร์สเอไอ เป็นวิชาเลือกให้กับนักศึกษาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปสอนให้”

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือ การเก็บรักษาข้อมูลพวกกลุ่มระบบคลาวด์ต่างๆ ควรจะมองบริษัทของประเทศไทย ซึ่งมีให้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับโอกาส ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะว่าทุกครั้งที่ใช้บริการของต่างประเทศ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้รู้ข้อมูลไทยหมด อีกทั้งคนที่ทำงานด้านเอไอทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญา ก็มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนา Open Platform เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนที่ทำงานด้านเอไอเพิ่มเติมด้วย