มะม่วง 'น้ำดอกไม้' สยายปีกโกอินเตอร์หลังวิจัยปลดล็อคสำเร็จ

มะม่วง 'น้ำดอกไม้' สยายปีกโกอินเตอร์หลังวิจัยปลดล็อคสำเร็จ

ชาวสวนมะม่วงเตรียมเฮ! หลังต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 12 ปี ล่าสุดนักวิจัยไทยโชว์ปลดล็อคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ฉายรังสีไปสู่ตลาดสหรัฐฯสำเร็จ ก่อนจะส่งต่อองค์ความรู้สู่กลุ่มผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย หวังเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลไม้ไตรมาส 4 นี้

มะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจในหลายจังหวัด ซึ่งมีจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะกำลังเป็นผลไม้ยอดนิยมในญี่ปุ่น เกาหลี จีนและสหรัฐ ที่มีการนำเข้าคิดเป็น 30% ของผลไม้ทั้งหมด สร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่าพันล้านบาทต่อปี ส่วนในประเทศไทยนั้นมีมะม่วงถึง 170 สายพันธุ์แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “มะม่วงน้ำดอกไม้”

นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2550 ที่มีการเปิดตลาดส่งออกผลไม้สดของไทย 6 ชนิดไปสหรัฐ ได้แก่ มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะและสับปะรด ถือเป็นข่าวดีของวงการส่งออกผลไม้ไทยอย่างยิ่ง แต่ในปีต่อมากลับมีผลไม้ชนิดหนึ่งที่เมื่อส่งไปแล้วนั้นประสบปัญหาการส่งออกหลังฉายรังสีแกมม่า นั่นก็คือ “มะม่วงน้ำดอกไม้” โดยพบการเกิดเส้นดำบริเวณผิวเปลือกและเกิดเนื้อสีน้ำตาล ทำให้ไม่สามารถส่งออกผลมะม่วงสดไปยังสหรัฐจนถึงปัจจุบัน

จากปัญหาดังกล่าวจึงได้เกิดการร่วมมือกันของนักวิจัยไทยจากหลากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากชีวภาพ(องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ จัดทำโครงการ “การศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก” วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา และการลดความเสียหายของมะม่วงฉายรังสีแกมมา กระทั่งประสบผลสำเร็จในปี 2562 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ สามารถทำการส่งออกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

สุวิมล เจตะวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายบริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฯ กล่าวว่า การฉายรังสีแกมม่านั้นถือเป็นไฮไลท์หลักของเรื่อง เนื่องจากเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะวัดผลได้ว่ากระบวนการที่ทำมาทั้งหมดนั้นบรรลุผลหรือไม่ ขั้นตอนเริ่มจากนำมะม่วงที่บรรจุหีบห่อมาชั่งน้ำหนักเพื่อเตรียมวัดการกระจายของปริมาณรังสีที่จะได้รับ จากนั้นนำกล่องผลไม้ใส่ในตู้บรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อนำเข้าฉายรังสี ณ ห้องกำบังรังสีในปริมาณรังสีที่ 400 เกรย์ตามข้อกำหนดของสหรัฐ แต่ถ้าหากเป็นศญี่ปุ่นและเกาหลีก็จะเป็นขั้นตอนการอบไอน้ำ เนื่องจากกฎระเบียบและข้อบังคับของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ส่วนในอนาคตจะมีการทำวิจัยมะม่วงสายพันธุ์อื่นต่อไป

จากการที่ได้วิจัยเป็นระยะเวลานานกว่า 6 เดือนในการนำมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีคุณภาพเข้ารับการฉายรังสีแกมม่า 300 กิโลกรัมนั้น และติดตามผลเป็นระยะเวลา 6 วัน พบว่า มะม่วงมีคุณภาพดีทั้งภายนอกและภายในของผล ประกอบกับรสชาติไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งในปัจจุบันได้ส่งต่อให้ผู้บริโภคในสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้วในล็อตแรก

โครงการวิจัยมุ่งปรับปรุงมะม่วงสดให้ได้มาตรฐานและการยอมรับ ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถลดความเสียหายของมะม่วง กำจัดสารปนเปื้อน แมลง และยังคงคุณภาพผลผลิตที่ดีหลังการฉายรังสีแกมมา แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทยอีกขั้นที่สามารถส่งออกผลไม้ไทยที่มีคุณภาพไปสู่มือของผู้บริโภคในต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ และความเข้าใจของภาคการเกษตรไทยที่จะผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่องค์กรภาครัฐของไทยจะสามารถเผยแพร่ผลงานการวิจัยและต่อยอดให้กับกลุ่มธุรกิจ เกษตรกรไทย และผู้ประกอบการที่ต้องการจะขยายตลาดผลไม้สดของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป เบื้องต้นนั้นมีผู้ประกอบการไทยสนใจที่จะรับการถ่ายทอดนวัตกรรมแล้วกว่า 18 ราย

ขณะเดียวกันพบว่าในปีที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้ไทยไปยังตลาดโลกมีมูลค่า 2.6 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 17% ตลาดส่งออกหลักได้แก่ อาเซียน จีน และยุโรป ส่วนผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยมคือ มังคุด มะม่วง ทุเรียน และเมื่อประเทศไทยทำการวิจัยปลดล็อคมะม่วงสัมฤทธิ์ผล คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยในไตรมาส 4 ปีนี้อาจเพิ่มขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ประกอบการที่จะส่งผลไม้ไปแข่งขันในตลาดโลก

ทั้งนี้ ทางคณะวิจัยก็ได้นำร่องที่จะนำมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทยที่ผ่านการวิจัยปลดล็อคส่งออกไปยังอเมริกา จัดแสดงภายในงาน PMA Fresh Summit 2019 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงสินค้าสดระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค.นี้ เพื่อแสดงศักยภาพของผลผลิตทางการเกษตรของไทยให้ประจักษ์สู่สายตาชาวโลก