‘เซฟอินเทอร์เน็ต’ พลังบวก เสริมภูมิคุ้มกัน ‘ภัยออนไลน์’

‘เซฟอินเทอร์เน็ต’ พลังบวก เสริมภูมิคุ้มกัน ‘ภัยออนไลน์’

“เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีความสามารถในการใช้สื่อไอทีอย่างคล่องแคล่วมากกว่ารุ่นพ่อแม่ ทว่าไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะมีความรู้และทักษะที่จะใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย”

“อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค แสดงความเห็น พร้อมกับตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า วันนี้คุณคิดว่าข้อมูลบนออนไลน์น่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน? คุณยินยอมให้ผู้อื่นโพสต์ภาพลูกของคุณโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่? คุณเข้าใจความแตกต่างระหว่างการพูดหยอกล้อและการพูดทำร้ายจิตใจหรือไม่? และบุคคลที่สามารถพึ่งพาได้เมื่อลูกมีปัญหาไม่สบายใจคือใคร?

เธอชี้ว่า ออนไลน์เป็นทั้งโอกาสในการหาความรู้และสืบค้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถนำภัยอันตรายมาให้ จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ระหว่างเดือนพ.ย. – ธ.ค. 2560 โดยศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) กับกลุ่มตัวอย่างเด็กอายุ 9-18 ปีจากทั่วประเทศไทย

พบว่าเด็กๆ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางออนไลน์ ทั้งเคยพบเห็นสื่อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ 68.07% เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ 46.11% และเคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์ 15.97%

จุดพลุ‘เซฟอินเทอร์เน็ตฟอร์คิด’

ดังนั้นมีความจำเป็นที่ทั้งผู้ปกครองรวมถึงเด็กและเยาวชนต้องมี “Digital Resilience” หรือ ภูมิคุ้มกันจากภัยร้ายในโลกออนไลน์ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ “Safe (ปลอดภัย)” เด็กและเยาวชนจําเป็นต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย รู้จักปกป้องตนเอง ขณะเดียวกันไม่สร้างความเสียงและภัยร้ายแก่ผู้อื่น

ขณะที่ 2. “Savvy (สร้างสรรค์)” เด็กและเยาวชนจะต้องรู้วิธีแยกแยะโอกาสและความเสี่ยง มีความสามารถในการวิเคราะห์ ตัดสินใจเลือกใช้ข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการดําเนินชีวิตของตนเอง สุดท้าย 3. “Social (สร้างมิตร)” ต้องสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมืออย่างไม่สิ้นสุด รวมไปถึงเรียนรู้ที่จะมีความเคารพต่อผู้อื่นในฐานะที่เป็นพลเมืองโลกอินเทอร์เน็ตร่วมกัน

ล่าสุด ดีแทคภายใต้ความร่วมมือกับ เทเลนอร์ กรุ๊ป และ Parent Zone ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวจากประเทศอังกฤษพัฒนา “เซฟอินเทอร์เน็ตฟอร์คิดดอทคอม (SafeInternetForKid.com)” แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่ครูและพ่อแม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสอนเด็กๆ ให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากอินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันสามารถสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องกันตนเองจากความเสี่ยงในโลกออนไลน์

โอกาสนี้ ดีแทคยังได้รับความร่วมมือในการแนะนำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์และการจัดทำค่ายเยาวชนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เพื่อสนับสนุนให้เด็กมีทักษะความเข้าใจในการใช้สื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) ด้วย

หวังเข้าถึงเยาวชน5หมื่นคนปีนี้

SafeInternetForkid.com ได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างทักษะให้เยาวชนสามารถปรับตัวและมีภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์ สามารถแยกแยะความเสี่ยงบนออนไลน์, รู้วิธีการขอความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม, สามารถใช้ประโยชน์และสร้างโอกาสจากการใช้อินเทอร์เน็ต, รวมถึงสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมหากตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นเหยื่อในโลกออนไลน์

ด้านเนื้อหา เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนช่วงวัย 7 – 16 ปี แหล่งเรียนรู้ออนไลน์นี้ประกอบด้วยแบบฝึกหัดที่ครูสามารถดาวน์โหลดไปปรับใช้ในกิจกรรมการเรียนในห้องเรียนได้ รวมถึงเกมออนไลน์ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้อินเทอร์เน็ต โดยเนื้อหาในเกมจะเป็นการติดตามชีวิตของ “น้องฟ้า” ที่จะพาผู้เล่นไปรู้จักสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการถูกล่อลวง โดนกลั่นแกล้ง และอาจหลงเชื่อข่าวปลอม ภายใต้คำถามต่างๆ ที่ตั้งมาทดสอบโดยจะมีความยากง่ายตามอายุของผู้เล่น

ปัจจุบัน ดีแทคและบริษัท อินสครู จำกัด เริ่มนำร่องเผยแพร่แหล่งเรียนรู้ดังกล่าวผ่านการอบรมครูและนักเรียนจาก 400 โรงเรียนทั่วประเทศ และคาดว่าจะมีเด็กนักเรียนกว่า 50,000 คนได้รับประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้ดังกล่าวในปีนี้

"มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือกันสร้างศักยภาพให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างเร่งด่วนนับจากวันนี้ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอสําหรับการทํางานในอนาคต นอกจากภูมิคุ้มกันจากภัยร้ายในโลกออนไลน์ สิ่งที่ดีแทคให้ความสำคัญยังมี “Digital Future Skills” ซึ่งกินความหมายรวมไปถึงทักษะในการใช้และพัฒนาแอพพลิเคชั่นจากเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ), บิ๊กดาต้า เสริมด้วยความเข้าใจและทักษะด้านการอ่านข้อมลู(Data-Driven Mindset), การนําเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ (Data Visualization) และทักษะศตวรรษที่ 21"