“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” พิสูจน์ความท้าทาย "ดีอี" ที่มีมากกว่า "เฟค นิวส์"

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” พิสูจน์ความท้าทาย "ดีอี" ที่มีมากกว่า "เฟค นิวส์"

วันนี้ครบ3ปีกระทรวงดีอีผมอยากให้การทำงานเป็น "เชิงรุกทุกมิติ"

"การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี แต่ใจผมนั้น อยากให้เรียกว่า ดีอีเอส เพราะ “เอส” มันหมายถึงการมองภาพรวมของสังคมที่จะต้องเติบโตไปควบคู่กับดิจิทัล"

“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีกระทรวงดีอี ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า เข้ามารับตำแหน่งได้ราว 2 เดือนนับตั้งแต่ 11 ก.ค. 62 และวันนี้ (16 ก.ย) ครบรอบกระทรวงดีอี 3 ปี (หลังเปลี่ยนชื่อจากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร) ภารกิจ เร่งด่วนของกระทรวงนี้ยัง “มีอีกหลายเรื่อง” แต่ช่วงที่เกิดการหลั่งไหลของข้อมูล ความแพร่หลายในการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์กของประชาชนคนไทย ปัญหาที่แทรกซึมเข้ามาคือ “เฟค นิวส์” มีการเผยแพร่ข่าวปลอม ข่าวที่สร้างความตื่นตระหนก รวมถึงข่าวที่แสดงความเกลียดชังด้วยเรื่องที่ไม่จริง

ในตำแหน่งของรัฐมนตรีที่ดูแลตรงนี้ จึงได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อหนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (แอนตี้ เฟค นิวส์ เซ็นเตอร์) ครอบคลุมการแก้ไขข่าวปลอมที่อยู่ในกระแสสังคมออนไลน์ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภัยพิบัติ , เศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร-หุ้น , ผลิตภัณฑ์สุขภาพ-สินค้า และบริการที่ผิดกฎหมาย กลุ่มนโยบายรัฐบาล-ข่าวสารที่กระทบสังคม และความมั่นคงในประเทศ

1พ.ย.ศูนย์เฟคนิวส์ครบเครื่อง

การทำงานของศูนย์มีกรอบเวลาเต็มรูปแบบ คือ ตั้งเป้าไว้ไม่เกินวันที่ 1 พ.ย.นี้ ระหว่างนั้นเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าปลอม ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และให้การติดต่อสื่อสาร และการยืนยันผลกระทบถึงประชาชน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สื่อสารถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างกระชับ ได้ใจความ และรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมงด้วย

กระทรวงดีอี เป็นหนึ่งในกระทรวงที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านดิจิทัลต่างๆ มีหน่วยงานในสังกัดหลายหน่วยงาน หลายความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับดิจิทัลในหลากหลายมิติ การนำไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ การสื่อสารยุคใหม่ การต่อยอดดิจิทัล เพื่อให้เกิดมูลค่าในระบบเศรษฐกิจ เขาในฐานะผู้ขับเคลื่อนกระทรวงจึงไม่สามารถมองข้ามความรับผิดชอบไปได้แม้แต่เรื่องเดียว

2.1หมื่นล.เคลื่อนดิจิทัลประเทศ

อีกหนึ่งในเรื่องสำคัญของการเคลื่อนทัพดิจิทัลประเทศ คือ “งบประมาณ” พุทธิพงษ์ เผยว่า การของบประมาณประจำปี 2563 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะเป็นนำเงินลงไปป้อนหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงรวมๆ 21,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสำนักงานปลัดฯ 3,200 ล้านบาท กรมอุตุนิยมวิทยา 3,800 ล้านบาท สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2,000 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สดช.) 2,500 ล้านบาท สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) 6,900 ล้านบาท และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) 1,900 ล้านบาท ส่วนของแอนตี้ เฟค นิวส์ เซ็นเตอร์นั้น ในเบื้องต้นจะเป็นการทำงานร่วมกันภายในสำนักปลัดฯ ซึ่งยังไม่ได้มองงบในส่วนนี้

“การทำงานของกระทรวงฯ ผมอยากมองในมิติเชิงลึก เพราะดิจิทัลมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และคงต้องมุ่งเน้นภาคสังคม ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย และพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 30 ล้าน เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาเราวางโครงสร้างบรอดแบรนด์และใช้เทคโนโลยี เอื้อประโยชน์กับคนชั้นกลาง ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าทัน ทั่วถึง และเท่าเทียม”

จุดพลุ "บิ๊กดาต้า ภาครัฐ"

พุทธิพงษ์ บอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีความพยายามทำข้อมูล "บิ๊กดาต้าภาครัฐ" เพื่อให้การเกิดนำข้อมูลไปใช้โดยสมบูรณ์และให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะมีการกำหนดกรอบการจัดทำที่กว้างเกินไป ประกอบกับข้อมูลมีความหลากหลายจึง "ยาก" ในการจัดการ

ในความเห็นส่วนตัวเลยมองว่า การจัดข้อมูลบิ๊กดาต้า ต้องเริ่มทำทีละด้านจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น และทำให้การจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าภาครัฐเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมได้

“ช่วงแรกน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ เพื่อรวบรวมข้อมูล ซึ่งการทำงานของดีอีต้องสอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ผมมองไปที่บิ๊กดาต้าด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เชิงลึกโดยนักวิเคราะห์ข้อมูล ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านนี้อย่างมาก จึงมีการประสานไปยังหลายหน่วยงานเพื่อขอความร่วมมือ เบื้องต้นมีนักวิเคราะห์จำนวน 4-5 ราย จะทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ และจากนี้จะมอบให้เอ็ตด้า ทำหน้าที่ค้นหาและพัฒนาบุคลากรด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขึ้นมารองรับความต้องการที่มีอยู่อย่างมาก”

ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าด้านการท่องเที่ยว จะเกิดประโยชน์กับ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ภาครัฐ ที่ใช้ในการวางแผนการจัดสรรงบประมาณ อาทิ จังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยว ก็จะสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้มีการบริการจัดการที่ดีขึ้น

ส่วนในจังหวัดที่ไม่มีนักท่องเที่ยว หรือมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปน้อย รัฐบาลสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาเพิ่มงบประมาณ เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าตราบใดที่ไม่มีการจัดสรรงบประมาณลงไปกระตุ้น จังหวัดนั้นๆ ก็จะกลายเป็นแค่เมืองรองหรือเป็นเมืองทางผ่านต่อไป

2.ภาคธุรกิจ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการดำเนินธุรกิจ และ 3.ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่ใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการท่องเที่ยวและคำนวณค่าใช้จ่ายในการเดินทางก

ลั่นกลางต.ค.นี้รวม2รสก.ต้องจบ

อีกปัญหาใหญ่ที่ “ท้าทาย” และ “ยาก” สำหรับรัฐมนตรีดีอีในทุกยุคสมัย คือ ความรับผิดชอบ “เข็น” สองรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของไทย คือ บมจ ทีโอที และ บมจ กสท โทรคมนาคม ในยุคของ “พุทธิพงษ์” ต้องพยายามสานต่อแนวทางการ “ควบรวม” 2 องค์กรนี้ให้สำเร็จ

พุทธิพงษ์ บอกว่า ความคืบหน้าการรวม 2 องค์กร สู่ “บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เทเลคอม” หลังการหารือร่วมกับ 4 ฝ่าย ได้แก่ คณะผู้บริหารของทีโอที, คณะผู้บริหารของกสทฯ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกสทฯ ได้กำหนดให้ภายใน 45 วัน หรือกลางเดือนตุลาคม 2562 ต้องมีข้อสรุปใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.แผนบริหารจัดการบุคลากร ว่า หลังจากการควบรวมกิจการจะมีแนวทางอย่างไร

2.สินทรัพย์และหนี้สิน ที่จะมีข้อสรุปร่วมกันได้หรือไม่ ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นว่า การควบรวมกิจการดังกล่าว จะไม่กระทบต่อสินทรัพย์ และหนี้สิน ของทั้ง 2 องค์กร

และ 3.สัญญา และสัมปทานต่างๆ ที่เมื่อเกิดการควบรวมแล้ว จะเกิดผลกระทบหรือไม่ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี และเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งเมื่อที่ประชุมเห็นชอบร่วมกัน จึงจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหาก ครม. เห็นชอบ จะว่าจ้างที่ปรึกษาฝ่ายกฏหมาย ฝ่ายสินทรัพย์ และฝ่ายสัญญา เพื่อขับเคลื่อนการควบรวม​กิจการ​ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่า จะใช้อย่างน้อย 6 เดือน หรือช่วงไตรมาส 2/2563 น่าจะแล้วเสร็จ

“การตัดสินใจในการควบรวมกิจการเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องอาศัยระยะเวลาและการพิจาณารอบคอบ ที่ผ่านมา 2 องค์กร ทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน ทำให้ธุรกิจ​ไม่สามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ ส่งผลให้ทั้ง 2 องค์กร เสียโอกาสการทำธุรกิจ​ และคาดว่าไม่เกิน 2 ปีจากนี้ จะมีอุตสาหกรรม​โทรคมนาคม​เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หากการควบรวมเป็นไปอย่างรวดเร็ว เชื่อว่า บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติที่เกิดขึ้น จะเป็นองค์กรหลักขับเคลื่อน​เทคโนโลยี​ใหม่ๆ องค์กรเข้มแข็ง​ และมีรายได้เพิ่มขึ้น” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

ปั้นดิจิทัลไทยแลนด์วัลเล่ย์

ตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ "ดิจิทัล ฮับ" ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการพัฒนาโครงการ "ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเล่ย์" ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนขับเคลื่อน โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับภาคเอกชน และภาคการศึกษา ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ของเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย (ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์)

เป็นอีกหนึ่งเป้าประสงค์ของรัฐมนตรีดีอีคนนี้ ที่ต้องการหา “แรงดึงดูด” จากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ขณะที่ มีความพยามยาม “สร้างคน” ให้มีทักษะดิจิทัลใหม่ๆ ให้เพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วนควบคู่ไปด้วยด้วยเป้าที่มากกว่า “แสนคน” ใน 2 ปี

พุทธิพงษ์ บอกว่า ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเล่ย์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างเฟสที่ 1 ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง เพื่อเป็นการดึงดูด สร้างแรงจูงใจ และความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

เป้าหมายโครงการคือ พัฒนาระบบนิเวศน์ที่เข้มแข็ง เอื้อต่อการลงทุน โดยเชื่อมโยงบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก ทั้งในสายอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ โรบอติกส์ 5จี และคลาวด์ ให้เข้ากับดิจิทัล สตาร์ทอัพด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟินเทค อะกรีเทค ทัวริซึ่มเทค เฮลท์เทล เอ็ดดูเคชั่นเทค และ กอฟเวอร์เมนท์เทค เพื่อให้เกิดการรังสรรค์เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล ก่อนนำไปสู่การทดสอบ ทดลอง และก้าวเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป

นอกจากนี้ยังต้องการปั้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 30,000 ตำแหน่งในอนาคตด้วย