รอยร้าวแห่งบางกลอย

รอยร้าวแห่งบางกลอย

“ยุทธการตะนาวศรี” อาจเป็นที่รู้จักในสาธารณะไม่มากไปกว่าการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกป่าของเจ้าหน้าที่ป่าไม้อีกหนึ่งเหตุการณ์ หากไม่นำไปสู่การร้องเรียนและคดีความที่บานปลายระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มากถึงกว่าสิบคดี

รวมทั้งการหายตัวไปของผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ ที่พบเมื่อไม่นานมานี้ว่าได้เสียชีวิตแล้ว_และคำถามถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการพื้นที่อนุรักษ์และสิทธิชุมชน


จากการชี้แจงของบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ปรากฎทั้งในรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่สรุปในปี 2557 และ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ในปี 2561, ยุทธการตะนาวศรี หรือ โครงการ “ขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่าในพื้นที่อุทยานฯแก่งกระจาน” เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในสมัยนั้น หรือนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หลังจากที่มีการตรวจสอบพื้นที่ทางอากาศราวเดือนเมษายนแล้วพบว่า มีการบุกรุกแผ้วถางป่าและการปลูกสร้างเพิงพักชั่วคราวในป่าตามแนวชายแดนไทย-พม่าหลายจุดโดยกลุ่มคนที่เจ้าหน้าที่เรียกว่า “ชนกลุ่มน้อย”


ในระยะเวลาสองปีตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2554 ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ สนธิกำลังกับหน่วยงานความมั่นคงดำเนินการไปทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยในครั้งที่ 4 ที่ดำเนินการในระหว่างวันที่ 4-9 พฤกษภาคม ปี 2554 ได้มีการรื้อถอนทำลายสิ่งปลูกสร้าง 98 หลังที่พบในพื้นที่ 24 จุด ก่อนที่จะถูกร้องเรียนต่อสภาทนายความและคณะกรรมการสิทธิมนุยชนที่เข้ามาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือด้านคดีว่า มีชุมชนดั้งเดิมราว 20 ครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนในการดำเนินการในครั้งนั้น


การฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในคดีแพ่งในวันที่ 1 พฤกษภาคม 2555 โดยนายนอแอะ มีมิ ลูกชายของ “ปู่คออี้” มิมี ซึ่งอีกสามวันต่อมา (4 พฤกษภาคม) ได้ร้องต่อศาลปกครองพร้อมพวกรวม 6 คน ในข้อกล่าวหาเดียวกันว่า ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในยุทธการฯ


และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เรื่องราวของยุทธการฯ, ชุมชนโป่งลึก-บางกลอย, และบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ก็ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง ผ่านวาทกรรมที่ทั้งสองฝ่ายได้สร้างขึ้นเพื่อความชอบธรรมของตนเอง โดยเจ้าหน้าที่ยืนกรานว่า ดำเนินการกับ “ชนกลุ่มน้อย” และพบการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ที่อาจสุ้มเสี่ยงต่อความมั่นคง รวมทั้งการปลูกพืชยาเสพติดในพื้นที่ และในลักษณะที่อาจเป็นที่สนับสนุนเสบียงหรือที่ซ่องสุมกองกำลัง


ในขณะเดียวกัน ชาวกะเหรี่ยงและนักสิทธิมนุษยชนยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการคือชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่ ที่ยังมีสิทธิในพื้นที่อาศัยเดิมคือใจแผ่นดินและบางกลอยบน ก่อนถูกอพยพลงมายังหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยในช่วงปี 2539

จากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ เอง และศาลปกครองสูงสุด พบว่า นอกจากชุมชนบางกลอยบนและใจแผ่นดินแล้ว ยังมีกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ถูกเจรจาให้กลับถิ่นฐานเดิมในฝั่งประเทศพม่าด้วย

ชุมชนบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ถูกพบว่า เป็นชุมชนดั้งเดิม หากแต่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ประกอบกับชุมชนไม่มีเอกสารสิทธิจากทางการมายืนยันสิทธิในที่ดินของตัวเอง ทำให้ไม่มีสิทธิในที่ดินและไม่สามารถร้องขอกลับไปอยู่อาศัยยังที่เดิมได้


นอกจากนี้ การตรวจสอบต่อไปยังพบว่า ได้มีมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ที่ให้มีการรอสำรวจพิสูจน์สิทธิของชุมชนที่อยู่ในป่าทั่วประเทศ หากข้อเท็จจริงปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ในอดีตไม่ได้ดำเนินการไว้ ทำให้ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้รับการสำรวจขึ้นทะเบียนรอการพิสูจน์สิทธิในช่วงเวลาก่อนที่จะมียุทธการฯ


ซึ่ง มติ ครม. นี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการอพยพย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ป่าไปอยู่อาศัยในพื้นที่อื่นได้ หากพบว่าอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมทางนิเวศ แต่ก็ไม่มีแนวทางใดๆที่ชัดเจนและไม่มีกฎหมายรองรับการดำเนินการ

 
ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามมาตรา 22 ของกฎหมายอุทยานฯ ที่ให้อำนาจรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำพื้นที่อุทยานฯ หากแต่ไม่สามารถใช้อำนาจโดยพละการหรือตามอำเภอใจได้ และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนราชการที่กำหนด


ศาลปกครองสูงสุดพบว่า แม้จะมีความพยายามในการเจรจา ทางคณะเจ้าหน้าที่ฯ ในยุทธการฯ ดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนราชการ และไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการให้ยุติจับกุม

จึงวินิจฉัยว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดต่อผู้ร้องเพราะทำให้เกิดความเสียหาย จึงมีคำพิพากษาให้กรมอุทยานฯ ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาคณะเจ้าหน้าที่ฯ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องทั้งหกประมาณคนละ 50,000 บาท


แต่ก่อนที่ความจริงจะปรากฏในปี 2561 ทั้งสองฝ่ายได้สร้างวาทกรรมเพื่อยืนยันความชอบธรรมของตนเอง นำไปสู่การเผชิญหน้าและข้อขัดแย้งที่นำไปสู่การร้องเรียนและคดีความต่อเนื่องกว่าสิบคดี_รวมทั้งการหายตัวไปของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ ผู้ที่อาสาเข้ามาช่วยเหลือด้านข้อมูลของชุมชนให้กับทีมทนายความ

ภาพ ปู่คออี้ถูกนำตัวลงมาจากบางกลอยบนในยุทธการตะนาวศรี