เปิดสูตร“อัพสเกล”ธุรกิจ ผนึกพันธมิตรข้ามสายพันธุ์

เปิดสูตร“อัพสเกล”ธุรกิจ ผนึกพันธมิตรข้ามสายพันธุ์

ธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ สามารถอัพสเกลให้เติบโตได้ แบบไม่ต้องลงทุนใหม่ ก็ด้วยการหาพันธมิตรธุรกิจข้ามสายพันธ์ุ ขอเพียงเข้าใจตัวตน-จุดแข็ง-จุดร่วม เพื่อสร้างการเติบโตไปพร้อมกัน โดยมีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน

หนึ่งในนั้นคือโครงการ “NIA SCB Innovation-Based Enterprise (IBE)” หลักสูตรยกระดับศักยภาพการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด  ผ่านความร่วมมือระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) อบรมธุรกิจสำหรับบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะ

โดยในการเปิดตัวหลักสูตรดังกล่าว มีการสัมมนาในหัวข้อ “Shift Your Business with Right Partner”  จำลองห้องเรียน ดึงหน่วยงานด้านนวัตกรรม ธุรกิจสตาร์ทอัพ เครือข่ายการลงทุน มาแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้ในเรื่องดังกล่าว 

ปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะธุรกิจกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วยการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ ทั้งการสนับสนุนด้านการเงิน ความรู้ และสร้างเครือข่ายจับคู่ธุรกิจ (Matching) ในเซ็คเตอร์ธุรกิจที่แตกต่างกัน อาทิ อาหาร เกษตร ท่องเที่ยว และบริการ

โดยเห็นว่า เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ สามารถผนึกกำลังเพื่อขยายธุรกิจร่วมกันได้ โดยเอสเอ็มอีอาจจะมีตลาด และลูกค้า ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพ มีเทคโนโลยี และนวัตกรรม การผนึกกำลังจะให้ทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจก้าวข้ามการพัฒนาธุรกิจที่ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

“เอสเอ็มอีพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีโดยไม่ต้องลงทุน ขณะที่สตาร์ทอัพเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ หรือนำลูกค้ามารวมกันได้โดยไม่ต้องลงทุนใหม่ คือการจับคู่ธุรกิจ โดยทำได้หลากหลายรูปแบบไม่จำกัดในภาคเอกชน รวมถึงการสร้างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ที่จะผลักดันให้เกิดการข้ามธุรกิจช่วยพัฒนาสินค้าใหม่ หรือขายตลาดใหม่ๆ ได้”

อย่างก็ตาม วิธีการหาคู่ธุรกิจ เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรไม่ใช่เพียงแค่การออกไปร่วมมือกับใครก็ได้ แต่จะต้องเริ่มจากเข้าใจตัวตนของธุรกิจ จึงจะคัดสรรพันธมิตรที่เหมาะสมตอบโจทย์ ต่อยอดธุรกิจ ตามเป้าหมายที่วางไว้

“สิ่งสำคัญ ต้องรู้จักตัวเอง รู้จักลูกค้าว่าเป็นใคร ธุรกิจจะไปช่วยแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ชีวิตลูกค้าได้อย่างไร และสร้างการเติบโตได้อย่างไร”

ด้าน ไพลิน วิชากุล ผู้อำนวยการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทในครือ SCB ซึ่งเป็นเครือข่ายการลงทุนและค้นคว้านวัตกรรมการเงินที่มีเงินลงทุนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,500 ล้านบาท) มีเป้าหมายเข้าไปร่วมทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีโอกาสเติบโต มองว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ถูกเปรียบเทียบเหมือน “ซอมบี้” นั่นคือไม่เติบโต แต่ก็ยังไม่ตาย อยู่รอดมาได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้

การที่ธุรกิจจะเติบโตต่อไปจึงต้องมี “การเสริมจุดแข็ง” ทำให้ธุรกิจฟื้นคืนชีวิต โดยอาศัยจุดเด่นของสตาร์ทอัพมีการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว เพียงแต่การเริ่มต้นจากศูนย์เพื่อจะไปแข่งขันนั้นไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ข้ามวันข้ามคืน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมจะต้องหาพันธมิตร สร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว

หลักการของการหาพันธมิตรร่วมทุนในมุมมองของดิจิทัล เวนเจอร์ส ต้องเข้าใจจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจ ควบคู่กับการเข้าใจความต้องการของคู่ค้าที่ร่วมทุน ทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate) หรือขนาดเล็ก จะต้องเข้าใจเครือข่ายความสัมพันธ์ของห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ และมองหาโอกาสในการต่อยอดให้กับคู่ค้าโดยใช้จุดแข็งที่มี

“ต้องรู้จักจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง จึงจะไปดีลหาพันธมิตรได้ โดยไม่ใช่มองเป้าหมายของยอดขายเท่านั้น แต่จะต้องมองทั้งห่วงโซ่คุณค่า ทั้งลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ รวมไปถึงต่อยอดธุรกิจที่ร่วมกันลงทุนนั้นสามารถสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่แก้ไขปัญหาชีวิต(Pain point) ให้กับลูกค้า ช่วยยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น”

ขณะที่ กลุ่มสตาร์ทอัพผู้มีประสบการณ์ในการเติบโตและขยายสเกลจากการค้นหาพันธมิตรเล่าประสบการณ์ และกลวิธีการหาคู่ธุรกิจที่เหมาะสม

โดย รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิว คิว ประเทศไทย จำกัด สตาร์ทอัพ ผู้ให้บริการระบบจองคิวออนไลน์ มองว่า เทคโนโลยีเป็นทางรอดธุรกิจที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยการแสวงหาความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งคู่แข่ง จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตขึ้นมาใหม่ในตลาดใหม่

การแสวงหาความร่วมมือเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยง ยิ่งทำหลายธุรกิจก็จะมองเห็นความน่าจะเห็นของธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปลงทุนในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่มองหาพาร์ทเนอร์พาเข้าไปในธุรกิจหรือตลาดที่เป็นเป้าหมาย เข้าถึงลูกค้า ที่เมื่อร่วมมือกันอาจจะนำลูกค้ามารวมกัน จนทำให้ขยายธุรกิจเป็นเบอร์1หรือ 2 ในตลาด

สิ่งที่ต้องพิจารณาคือขนาดธุรกิจที่เหมาะสมกับพันธมิตรลงทุน หากมีการขยายจะมีความพร้อมในการเติบโตอย่างไร ดังเช่นที่คิวคิว ก็กำลังขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่รู้จักลูกค้าและมีความชำนาญ จึงต้องหาพาร์ทเนอร์ที่เข้าใจตลาดดีในประเทศที่เข้าไปรุกทำตลาด

“บริษัทต้องการขยายธุรกิจในต่างประเทศจะต้องหาพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญในการอัพสเกลตลาด ที่เข้าใจฐานลูกค้าในประเทศเป็นอย่างดี”

ด้าน ก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท GET Thailand กล่าว่า ธุรกิจเทคโนโลยีหากเทียบกับในช่วง 2-3 ปี เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เริ่มเห็นว่าบริษัทที่เปิดตัวมาก่อนหน้าปรับตัวพัฒนาฟีเจอร์การบริการใหม่ๆ เข้ามาขยายกลุ่มลูกค้า รวมถึงกลุ่มธุรกิจสตาร์จอัพน้องใหม่ ตลอดจนมีกลุ่มธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนและแข่งขันการบริการให้ตลาดมากขึ้น ทำให้ตลาดเติบโตเท่าตัวจากปี 2558 มูลค่าตลาดธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท 3ปีต่อมา มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.2 หมื่นล้านบาทและคาดว่าจะเติบโตเป็น 4 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี

การหาพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ใช่เพียงการพัฒนาเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จะต้องมองหาโอกาสในการขยายตลาด จากจุดแข็งที่มีไปต่อยอดทำให้พัฒนาการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ ที่มูลค่าสูงขึ้น  เป็นต้น

เขาเล่าว่า เก็ทเข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่ต้นปี ล่าสุดได้เข้าไปเป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์กับ SCB ร่วมพัฒนาระบบนิเวศ ด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์ โดยทำให้กลุ่มคนขับรถของเก็ท (GET Driver) มีส่วนร่วมในการลงทะเบียนจ่ายเงิน เปิดบัญชี และรับเงินผ่านบัญชีทันที ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GET PAY ผ่าน SCB EASY) รวมไปถึงการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่จะช่วยทำให้เข้าใจพฤติกรรมกลุ่มผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการขับรถ

“เก็ทเพิ่งเข้าตลาดมาไม่นานแต่เติบโตอย่างรวดเร็ว การมีเอสซีบีมาเป็นพาร์ทเนอร์ทำให้ร่นระยะเวลาเข้าหาลูกค้าและบริการได้รวดเร็วขึ้น จากอดีตที่มีกลุ่มคนขับหลักหมื่นคนจะต้องย่นระยะเวลาการทำธุรกรรมทางการเงิน ได้รับเงินทันทีผ่านอิเล็กทรอนิกส์”

เขาปิดท้ายว่า การหาพันธมิตรยังทำให้เข้าใจตลาดข้ามเซ็คเตอร์ธุรกิจ เช่น กลุ่มร้านอาหาร รวมไปถึงการแบ่งปันข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า สามารถร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ได้

สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจกับพันธมิตรร่วมทุน มีเป้าหมายปลายทาง เพื่อที่จะนำจุดแข็งที่มีไปตอบโจทย์เป้าหมายของคู่ค้า และร่วมกันพัฒนาตลาดร่วมกัน

--------------------

 สูตรหาพันธมิตรที่ใช่ !!

-จับตัวตนธุรกิจ หา“เป้าหมายร่วมกัน”ให้พบ

-สร้างโอกาสจากห่วงโซ่คุณค่าพันธมิตร

-ดึงจุดแข็งเสริมเป้าหมายร่วม

-มองผู้เกี่ยวข้องรัฐ เอกชน คู่แข่ง เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เป็นเครือข่ายธุรกิจ

-หาคู่ค้าในต่างประเทศ แทนลุยตลาดเอง