‘เอบี อินเบฟ’ ฟื้นแผนไอพีโอฮ่องกง 5 พันล้าน

‘เอบี อินเบฟ’ ฟื้นแผนไอพีโอฮ่องกง 5 พันล้าน

“เอบี อินเบฟ” ยักษ์ใหญ่เบียร์เจ้าของแบรนด์ “บัดไวเซอร์” ฟื้นแผนทำไอพีโอมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ในตลาดหุ้นฮ่องกง หลังแขวนข้อเสนอนี้ไปเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทแอนเฮาเซอร์-บุช อินเบฟ (เอบี อินเบฟ) ซึ่งจดทะเบียนในเบลเยียม ได้ฟื้นแผนขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) เพื่อระดมทุน 5,000 ล้านดอลลาร์ ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยขณะนี้กำลังประเมินความต้องการของนักลงทุนและจะเริ่มเสนอทำไอพีโออย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ หากเอบี อินเบฟเดินหน้าทำไอพีโอตามรายงานดังกล่าว จะถือเป็นไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในปีนี้ รองจากการทำไอพีโอของบริษัทอูเบอร์ เทคโนโลยีส์ ผู้ให้บริการแชร์รถชื่อดังสัญชาติสหรัฐเมื่อเดือน พ.ค.

เมื่อวันพฤหัสบดี (12 ก.ย.) เอบี อินเบฟ ระบุว่า บริษัทลูกในเอเชียแปซิฟิกของตน ได้กลับมายื่นขอจดทะเบียนหุ้นข้างน้อยของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

ยักษ์ใหญ่สัญชาติเบลเยียม-บราซิล ซึ่งทำข้อตกลงทางธุรกิจมากมายในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาหนี้สินกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากข้อตกลงซื้อกิจการครั้งใหญ่จากบริษัทแซบมิลเลอร์ เมื่อปี 2559

ก่อนหน้านี้ เอบี อินเบฟ ขายสินทรัพย์ในออสเตรเลีย รวมถึงเบียร์แบรนด์ “ฟอสเตอร์” ให้กับบริษัทอาซาฮี ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ด้วยมูลค่า 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์ ไม่นานหลังจากพักแผนไอพีโอเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

เอบี อินเบฟ ระบุว่า การตัดสินใจกลับมาทำไอพีโอต่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพตลาดโดยทั่วไป

ผู้ผลิตเบียร์เบอร์ 1 ของโลกรายนี้เคยหวังที่จะระดมทุนเกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์จากการทำไอพีโอในช่วงต้นปีนี้ แต่ได้ยกเลิกความพยายามหลังจากได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสถาบันไม่มากพอตามที่บริษัทคาดหวังไว้

“การกลับมาทำไอพีโอเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ไว้” นายยวน แมคลีช นักวิเคราะห์จากบริษัทแซนฟอร์ด ซี เบิร์นสไตน์ในฮ่องกงเผยกับบลูมเบิร์ก และว่า “ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมเอบี อินเบฟถึงรีบฟื้นแผนไอพีโอขนาดนี้ ทั้งที่ลดความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับหนี้สินไปมากแล้วจากการขายกิจการในออสเตรเลีย”

นายแมคลีชเสริมว่า เป็นไปได้ว่า บริษัทอาจกำลังหาทางชิงความได้เปรียบจากการตีมูลค่าเบียร์สูงในจีน หรืออาจเตรียมทำข้อตกลงควบรวมกิจการและซื้อกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) ไว้แล้ว และต้องการจดทะเบียนในตลาดเพื่อบริหารจัดการอย่างเต็มตัว