'ส.ว.' เสนอตั้งกมธ.ร่วมกัน ศึกษาแนวทางแก้รธน.

'ส.ว.' เสนอตั้งกมธ.ร่วมกัน ศึกษาแนวทางแก้รธน.

"ส.ว." เสนอ ตั้งกมธ.ร่วมกัน ศึกษาแนวทางแก้รธน. เชื่อทำความเข้าใจร่วมกันได้ เหตุ รธน.กำหนดให้ส.ว.ร่วม

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.62 นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวต่อประเด็นที่สภาผู้แทนราษฎร เลื่อนลำดับญัตติให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไว้ในวาระการประชุมต้นๆ เมื่อถึงคราวเปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ช่วงเดือนพฤศจิกายน ว่า ตนมีข้อเสนอส่วนตัวต้องการให้การตั้งกมธ.ฯ พิจารณาเรื่องดังกล่าว มีส.ว. เข้าร่วม เป็นกมธ.ฯร่วมกันของรัฐสภา เพราะในเงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้มีเสียงส.ว.​ร่วมเห็นชอบ 1 ใน 3 ทั้งในวาระแรกและวาระสาม ดังนั้นหากให้ส.ว.มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการศึกษาแนวทาง เชื่อว่าจะทำความเข้าใจร่วมกันได้

“การตั้งกมธ.ร่วมกันของรัฐสภาเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้ ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา หรือตั้งได้ผ่านอำนาจของนายชวน หลีกภัย ฐานะประธานรัฐสภา พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันศึกษาได้ ส่วนกรณีที่ส.ส.ซึ่งเสนอญัตติปฏิเสธการมีส่วนร่วมของส.ว. นั้น ผมไม่ติดใจ แต่ต้องการทดลองเสนอความเห็นให้สภาฯ พิจารณา เพราะไม่ว่าอย่างไรการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แม้จะมีเป้าหมายตัดเสียงส.ว. ร่วมลงมติออกไป แต่ชั้นแรกต้องอาศัยเสียงส.ว.ร่วมลงมติอยู่ดี” นายคำนูณ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ต่อการตั้งกมธ.ศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญของส.ส. จะไม่สำเร็จเพราะมีประเด็นขัดแย้ง นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเชื่อว่า ส.ส. ต้องพิจารณาในแนวทางที่เป็นความเห็นร่วมกัน อย่างไรก็ดีตนมีข้อเสนอเพิ่มเติมด้วยว่าเมื่อตั้งกมธ.ฯ ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วควรขยายประเด็นศึกษาแนวทางแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 13 ปีที่ผ่านมา และศึกษาถึงแนวทางการนิรโทษกรรมบุคคลที่กระทำผิดในช่วงการชุมนุมทุกการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 - 2557 ด้วย