‘บทบาทปักกิ่ง’ ต้นตอควบตลาดหุ้นฮ่องกง-ลอนดอน ล่ม

‘บทบาทปักกิ่ง’ ต้นตอควบตลาดหุ้นฮ่องกง-ลอนดอน ล่ม

บรรดานักลงทุน นักวิเคราะห์ และเจ้าหน้าที่รัฐแทบไม่สงสัยเลยว่าข้อเสนอนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่เพียงเพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของเอชเคอีเอ็กซ์เป็นคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเป็น “ตัวแทน” ของรัฐบาลปักกิ่งด้วย

ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เดวิด ชวิมเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (แอลเอสอีจี) ของอังกฤษ เพิ่งบ่นเสียดายที่ข้อตกลงควบรวมกิจการตลาดหลักทรัพย์ครั้งใหญ่และข้ามพรมแดน มักล้มเหลวจากกระแสคัดค้านทางการการเมือง

“จะยังมีกระแสชาตินิยมแบบนี้ โดยเฉพาะกับตลาดหลักทรัพย์ ต่อไป” ชวิมเมอร์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในงานเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และว่า “ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำข้อตกลงเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ข้ามแดนครั้งใหญ่ มันเป็นเรื่องท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมนี้”

แม้ความเห็นของชวิมเมอร์อ้างถึงความพยายามที่ล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของแอลเอสอีจีในการควบรวมกิจการกับตลาดหลักทรัพย์ของเยอรมนี (ดีบีจี) แต่ในสัปดาห์นี้ เขาได้รับข้อเสนอจากตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (เอชเคอีเอ็กซ์)มูลค่า 2.96 หมื่นล้านปอนด์ (ราว 3.65 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อซื้อกิจการตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน

วานนี้ (13 ก.ย.) ตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ได้ปฏิเสธข้อเสนอควบรวมกิจการของเอชเคอีเอ็กซ์ หลังคณะกรรมการบริหารมีมติเอกฉันท์ให้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับกลยุทธ์ ความสามารถในการให้ผลตอบแทน โครงสร้าง และมูลค่าของข้อเสนอนี้

หลังการปฏิเสธข้อเสนอครั้งนี้ ทำให้ราคาหุ้นของแอลเอสอีจีทะยาน 1.5% ทันทีในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ แอลเอสอีจีได้ส่งจดหมายอธิบายเหตุผลที่ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวให้กับเอชเคอีเอ็กซ์แล้ว และว่าขณะนี้ยังมุ่งมั่นที่เข้าซื้อกิจการของบริษัทข้อมูล “รีฟินิทีฟ” ต่อไป โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอการอนุมัติจากทางการและคาดว่าจะมีจดหมายเวียนถึงผู้ถือหุ้นในเดือน พ.ย.นี้

บรรดานักลงทุน นักวิเคราะห์ และเจ้าหน้าที่รัฐแทบไม่สงสัยเลยว่าข้อเสนอนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ใช่เพียงเพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของเอชเคอีเอ็กซ์เป็นคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าเป็น “ตัวแทน” ของรัฐบาลปักกิ่งด้วยนอกจากนั้น คณะผู้บริหารฮ่องกงยังแต่งตั้งกรรมบริหารตลาดหลักทรัพย์ถึง 6 คนจากทั้งหมด 13 คน

เมื่อวันพฤหัสบดี (12 ก.ย.) เว็บไซต์ไฟแนนเชียล ไทม์ส รายงานว่า เอชเคอีเอ็กซ์เตรียมปรับลดเงื่อนไขในข้อเสนอแต่คาดว่าแอลเอสอีจีน่าจะปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

ปฏิกิริยาในตลาดหุ้นยังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากทะยาน 16% ในช่วงแรก หุ้นของแอลเอสอีจีกลับบวกลดลง โดยปิดเพิ่มขึ้นเพียง 6% ที่ 72.14 ปอนด์ในวันพุธ (11 ก.ย.) เทียบกับข้อเสนอของเอชเคอีเอ็กซ์ที่ตั้งมูลค่าหุ้นของแอลเอสอีจีไว้ที่ 83.61 ปอนด์ จากนั้นราคาหุ้นของแอลเอสอีจีก็ปิดเพิ่มขึ้น 0.6% ที่ 72.52 ปอนด์ในวันพฤหัสบดี

หุ้นของเอชเคอีเอ็กซ์ ซึ่งประกาศข้อเสนอซื้อกิจการตลาดหุ้นลอนดอนหลังปิดการซื้อขายในวันพุธ ร่วงลง 3.5% ที่ 237.40 ดอลลาร์ฮ่องกงในวันพฤหัสบดี แต่ดีดขึ้น 0.5% ในการซื้อขายช่วงเช้าวันศุกร์ (13 ก.ย.)

ข้อเสนอของเอชเคอีเอ็กซ์เป็นความพยายามในการสร้างยักษ์ใหญ่การซื้อขายระดับโลก ทั้งสำหรับหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารอนุพันธ์ และระบบชำระราคาส่งมอบในภาคการเงินของ 2 ทวีป ตลาดหุ้นฮ่องกงยังเน้นด้วยว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกซึ่งทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับสินทรัพย์ทางการเงินที่ใช้ค่าเงินดอลลาร์ ยูโร และหยวน

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์อ้างถ้อยแถลงของรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอังกฤษที่บอกว่า แอลเอสอีจีเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของระบบการเงินอังกฤษ และรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลจะพิจารณารายละเอียดในข้อเสนอนี้ “อย่างใกล้ชิด”

บรรดานักวิเคราะห์เห็นพ้องด้วย โดยบอกว่า กระแสคัดค้านทางการเมืองในอังกฤษ ซึ่งมีต้นเหตุของความล้มเหลวในข้อตกลงควบรวมตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศมาโดยตลอด มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากความกังวลที่ว่าจีนอาจพยายามครองตลาดเงินแห่งสำคัญทั่วโลก

สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือความปลอดภัยของข้อมูลต่าง ๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์เหล่านี้มีอยู่

ตัวอย่างเช่น บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีนและผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลก เผชิญกับการตรวจสอบจากชาติตะวันตกซึ่งเกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน และข้อกล่าวหาของสหรัฐที่ว่าบริษัทแอบสอดแนมข้อมูลประชาชนโดยมีปักกิ่งสนับสนุน

รัฐบาลวอชิงตันยังเรียกร้องให้บรรดาชาติพันธมิตรเลิกใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย

แม้ว่าฮ่องกงบริหารภายใต้กรอบกฎหมาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” แต่ยังมีความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจีนกำลังรุกล้ำอำนาจปกครองตนเองของฮ่องกง เห็นได้จากการประท้วงบนท้องถนนและบางครั้งบานปลายเป็นการประท้วงรุนแรงต่อต้านรัฐบาลปักกิ่งและคณะผู้บริหารฮ่องกงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

เดวิด เบลนเนอร์แฮสเซ็ตต์ นักวิเคราะห์บริษัทบอลลิงกอล อินเวสท์เมนท์ แอดไวเซอร์ส ระบุในจดหมายถึงลูกค้าที่เผยแพร่บนเว็บไซต์สมาร์ทการ์มาว่า ข้อเสนอซื้อตลาดหุ้นลอนดอนอาจถูกมองว่าเป็น “การเทคโอเวอร์ทางอ้อม” จากจีน

“การทำข้อตกลงนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทางการ ซึ่งจะเป็นการทดสอบหลักการหนึ่งประเทศ สองระบบของฮ่องกงให้ชาวโลกได้เห็น” เบนเนอร์แฮสเซ็ตต์ชี้ และว่า “มันกลายเป็นเรื่องยากมากในทางการเมืองในขณะนี้และในระยะสั้น ในการฟันช่องทางตามหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันนี้ได้”

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ของธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริล ลินช์ และบริษัทซิตี้กรุ๊ป ระบุว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะเผชิญกับอุปสรรคเกี่ยวกับกระบวนการกำกับดูแลอย่างถึงที่สุด

เพื่อเป็นการตอกย้ำชัดเจนยิ่งขึ้น เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ความพยายามควบรวมตลาดหลักทรัพย์หลายครั้งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาต่างประสบความล้มเหลว ตัวอย่างเช่น แอลเอสอีจีเคยพยายามควบรวมกิจการกับตลาดหลักทรัพย์เยอรมนีครั้งแรกเมื่อปี 2543 จนกระทั่งความพยายามครั้งสุดท้ายล้มเหลวในปี 2560 หลังคณะกรรมาธิการยุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขัน

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2554 เมื่อรัฐบาลออสเตรเลียขัดขวางไม่ให้ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ควบรวมกับตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย โดยอ้างเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ