สดร. เผยคืน 14 ก.ย. นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

สดร. เผยคืน 14 ก.ย. นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

สดร. เผยคืน 14 ก.ย. นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงโคจรในระยะไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 14 กันยายน 2562 เป็นคืนจันทร์เต็มดวงที่ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 406,235 กิโลเมตร เวลาประมาณ 11:34 น. ตามเวลาประเทศไทย คืนดังกล่าวจึงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี หรือที่เรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” หากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวงช่วงไกลโลกที่สุดในครั้งนี้จะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าขนาดดวงจันทร์ปกติประมาณ 5.3% ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่างประมาณ 406,170 กิโลเมตร

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ละเดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก จุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร ส่วนจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่โคจรเข้ามาใกล้โลกหรือไกลจากโลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์