'รมว.คลัง' มั่นใจร้านค้าร่วมมาตรการชิมช็อปใช้เข้าเป้า ยันสัปดาห์หน้าเงินถึงมือเกษตรกร

'รมว.คลัง' มั่นใจร้านค้าร่วมมาตรการชิมช็อปใช้เข้าเป้า ยันสัปดาห์หน้าเงินถึงมือเกษตรกร

"รมว.คลัง" มั่นใจผู้ประกอบการลงทะเบียน ชิม ช้อป ใช้ เข้าเป้า 40,000 ร้านค้า หลังล่าสุดลงทะเบียนแล้ว 32,000 ร้านค้า พร้อมส่งเงินล็อตแรก ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีไร่ละ 500 บาท สัปดาห์หน้า

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนที่ออกไปก่อนหน้านี้ว่า มีร้านค้าที่มาลงทะเบียน เพื่อให้บริการผ่านแอพริเคชั่นถุงเงินแล้ว 32,000 ร้านค้าจากเป้าหมาย 40,000 ร้านค้า เมื่อรวมกับเครื่อง EDC และถุงเงินประชารัฐที่มีอยู่แล้ว 80,000 ร้านค้า รวมเป็น 120,000 ร้านค้า ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรองรับการใช้จ่ายของประชาชนได้ โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะมีสติกเกอร์ติดอยู่ที่หน้าร้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และจะมีรายชื่อร้านค้าในแอพริเคชั่นถุงเงินด้วย

“ครั้งก่อนมีร้านค้ามาลงทะเบียนแค่ 2,800 ร้าน แต่วันนี้มีถึง 32,000 ร้าน จึงมั่นใจว่า จะเพียงพอต่อการใช้จ่ายให้ได้ตามเป้าของรัฐบาล 10 ล้านคนแน่นอน ขณะเดียวกันหากครบ 40,000 ร้านค้า ก่อนหมดเขตการเปิดรับลงทะเบียนผู้ประกอบการวันที่ 20 ก.ย.นี้ ก็จะเปิดรับต่อไป เพราะเราอยากได้มากที่สุดเท่าที่จะได้” นายอุตตม กล่าว

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2552 และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะนี้มีความพร้อม และสามารถที่จะจ่ายเงินล็อตแรกลงสู่ระบบได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยธ.ก.ส.ได้รายชื่อเกษตรกรจำนวน 2 ล้านราย จากสำนักงานส่งเสริมการเกษตรเรียบร้อยแล้ว

ส่วนกรณีที่หอการค้าไทย ได้มีข้อเสนอเพื่อผลักดันด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และด้านบริการ โดยกระทรวงการคลังจะนำข้อเสนอต่างๆไปพิจารณา และเบื้องต้นได้เห็นชอบในหลักการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นั้นด้วย

นายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หอการค้าฯมีข้อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีขึ้น โดยให้สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วยการ ให้จัดตั้งจุดรับคืนภาษีในเมือง สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Downtown VAT Refund) เป็นการถาวร จากปัจจุบันมีการอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากปริมาณการใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ซื้อสินค้าในจุดรับคืนภาษีดังกล่าวมีปริมาณสูง ซึ่งจะสามารถพยุงภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังต้องการให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการปรับปรุงโรงแรมและห้องพักเก่า ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเข้าพักในโรงแรมของผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องการเห็นความชัดเจน การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ ด้วยการตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อประสานการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เกิดความเข้าใจ ถึงวิธีการในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวที่ตรงกันมากขึ้น รวมถึงการตั้งคณะทำงาน ร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในการดูแลกฎหมายและกฎระเบียบทางการเงินที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคเอกชนให้หมดไป เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศให้ขยายตัวมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังต้องการส่งเสริมให้กระทรวงการคลังส่งเสริมการค้าชายแดนและข้ามแดน โดยเสนอให้กรมศุลกากรพิจารณาขยายเวลาการเปิด-ปิดด่านระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จากเดิมเวลา 20.00 น. เป็น 22.00 น. และ 24.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ซึ่งด่านดังกล่าวประกอบด้วย ด่านช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ด่านสะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย จ.เชียงราย ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 1 จ.ตาก ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย ด่านมุกดาหาร จ. มุกดาหาร ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 จ.นครพนม และด่านท่าลี่ จ.เลย