นายกฯ ลงพื้นที่ดูงานระบายน้ำ เมืองคอน-สุราษฎร์ฯ

นายกฯ ลงพื้นที่ดูงานระบายน้ำ เมืองคอน-สุราษฎร์ฯ

นายกฯ ลงพื้นที่ดูงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมืองคอน-สุราษฎร์ฯ

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปภาพรวมโครงการฯ ณ ประตูระบายน้ำคลองหัวตรุด กม.9+200 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช มีปริมาณฝนรายปีเฉลี่ย 1,941 มิลลิเมตร มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 8,865 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในฤดูฝนจะมีน้ำท่าเฉลี่ย 87% ส่วนในฤดูแล้งจะมีน้ำท่าเฉลี่ย 13% แต่ในขณะเดียวกันจังหวัดนครศรีธรรมราช มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก รวม 8 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 213.0 ล้าน ลบ.ม ถือเป็นปริมาณเก็บกักเฉลี่ยเพียงแค่ 2% ของปริมาณน้ำทั้งหมด ทำให้น้ำที่ไม่ได้เก็บกักจะไหลลงสู่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ตรัง พัทลุง และสงขลา แต่น้ำบางส่วนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย ได้สร้างผลกระทบให้กับเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

10561851875647

ในขณะที่ต้นเดือนธันวาคม 2559 เกิดอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 94 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดําเนินการขุดลอกคลองท่าเรือ-หัวตรุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ไหลลงทะเลได้เร็วมากยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนครศรีธรรมราช กรอบวงเงินงบประมาณ 9,580 ล้านบาท แผนดําเนินการ 3 ปี (2561 – 2563) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จังหวัดนครศรีธรรมราช

กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมและกำหนดแนวทางการแก้ไข โดยได้มีการขุดคลองสายใหม่ขึ้นมาและขยายคลองสายที่มีอยู่เดิมให้กว้างยิ่งขึ้น และยังมีประตูระบายน้ำ 7 แห่ง ที่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ได้ในฤดูแล้ง และสามารถระบายน้ำได้ 750 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อเทียบกับคลองปากนครและคลองท่าซัก ที่สามารถระบายน้ำได้เพียง 268 ลบ.ม.ต่อวินาที

10561851825378

ปัจจุบันสถานภาพความก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นการจัดหาที่ดินทั้งหมดที่ถูกผลกระทบ ประมาณ 2,600 ไร่ 1,770 แปลง และที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 58 แปลง กรมชลประทานมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับราษฏรที่อยู่ในเขตชลประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการก่อสร้างได้ดำเนินการไปแล้วหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการขุดคลอง การก่อสร้างประตูระบายน้ำ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเมืองนครศรีธรรมราชและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 90% ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตําบล 2 อําเภอ ในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง ราษฎรได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน 126,012 คน สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้งได้ 5.5 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ 17,400 ไร่

ในการนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างความรับรู้และความเข้าใจในแนวทางการแก้ปัญหาให้กับราษฏรในพื้นที่ที่ยังติดปัญหาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โครงการสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างเต็มระบบ สร้างความยั่งยืนให้กับราษฎรในพื้นที่ต่อไป