‘5 ข้อ’ ควรรู้...ก่อนซื้อหุ้น ‘แอสเสท เวิรด์’

 ‘5 ข้อ’ ควรรู้...ก่อนซื้อหุ้น ‘แอสเสท เวิรด์’

สถานการณ์หุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ “หุ้นไอพีโอ” กลับมา “คึกคัก” อีกครั้ง

หลังจาก “บิ๊กคอร์ป” อย่าง บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ประกาศขายหุ้นไอพีโอราว 8,000 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นละ 6 บาท โดยมีมูลค่าที่ตราไว้(พาร์)หุ้นละ 1 บาท

แต่ก่อนที่นักลงทุนโดยเฉพาะ “รายย่อย” จะแย่งกันจองซื้อหุ้นดังกล่าว “กรุงเทพธุรกิจ” อยากชวนผู้ลงทุนรู้จักและทำความเข้าใจกับหุ้นตัวนี้ ใน “5 ประเด็นสำคัญ” เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

ข้อแรก... แอสเสท เวิรด์” มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ กลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “มหาเศรษฐี” อันดับหนึ่งของไทย และ อันดับ 74 ของโลก จัดอันดับโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก มีมูลค่าสินทรัพย์ราว 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ ราว 5.05 แสนล้านบาท สินทรัพย์ดังกล่าวนับเฉพาะหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการที่ “แอสเสท เวิรด์” เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยรอบนี้จะยิ่งดันให้สินทรัพย์ของ “เจ้าสัวเจริญ” เพิ่มมากขึ้น

ธุรกิจของ “แอสเสท เวิรด์” แบ่งเป็น 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ได้แก่ ศูนย์การค้าและสถานที่ท่องเที่ยวแนวไลฟ์สไตล์ 11 แห่ง ธุรกิจอาคารสำนักงาน 4 แห่ง อีกธุรกิจ คือ โรงแรมและบริการ โดยมีโรงแรมในไทยรวมทั้งสิ้น 14 แห่ง และอยู่ระหว่างปรับปรุงอีก 13 แห่ง

ข้อสอง... “แอสเสท เวิรด์” เสนอขายหุ้นไอพีโอรวมไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุน 6,957 ล้านหุ้น และหุ้นจัดสรรส่วนเกิน(กรีนชู ออปชั่น) อีก 1,043 ล้านหุ้น หากเสนอขายได้ทั้งหมดจะทำให้หุ้นของ แอสเสท เวิร์ด มีรวมทั้งสิ้น 32,000 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) ราว 1.92 แสนล้านบาท นับเป็นมูลค่ามาร์เก็ตแคป ณ วันที่เสนอขายไอพีโอ “สูงสุด” เป็นประวัติการณ์ใน “ตลาดหุ้นไทย” และชนะเบอร์หนึ่งอย่าง “ปตท.” ที่ครองตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 18 ปี โดยในช่วงที่ ปตท. เสนอขายไอพีโอ มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปราว 9.7 หมื่นล้านบาท

เงินที่ได้จากการระดมทุน “แอสเสท เวิรด์” นำไปใช้ใน 3 ส่วน คือ เป็นเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการและปรับปรุงทรัพย์สินในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการจำนวน 12 แห่ง นำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(ดี/อี) ลดลงจากปัจจุบันที่ 2.5 เท่า และ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

ส่วนเงินที่ได้จากการขาย “หุ้นกรีนชูออปชั่น” นำไปใช้เป็นกลไกการ “รักษาระดับราคาหุ้น” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน หรือ แปลง่ายๆ คือ สำรองไว้ซื้อหุ้นคืนในตลาดหลักทรัพย์กรณีที่ราคาหุ้นเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้วมีราคาต่ำกว่าราคาไอพีโอในช่วง 30 วันแรก

ข้อสาม... หุ้นไอพีโอที่เสนอขายราคา 6 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนกำไรต่อราคาต่อหุ้น(พี/อี) ที่ 277.6 เท่า โดยคิดจากผลดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน หากเทียบกับธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน เช่น บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา(CPN) มีค่า พี/อี ที่ 31.9 เท่า หรือ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป(ERW) มีค่าพี/อีที่ 39.6 เท่า

อย่างไรก็ตาม “แอสเสท เวิร์ด” ระบุในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์(ไฟลิ่ง) ว่า อัตราส่วนพี/อี ดังกล่าวไม่ใช่อัตราส่วนทางการเงินที่มีความเหมาะสมที่ใช้ในการพิจารณามูลค่าของบริษัท เนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความสามารถในการทำกำไรของบริษัท เพราะยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาหรือปรับปรุงหลายโครงการ ซึ่งมีผลต่อความสามารถการทำกำไรในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อสี่... แอสเสท เวิรด์” เสนอขายหุ้นไอพีโอให้นักลงทุนทั่วไประหว่าง 25-27 ..2562 และ เสนอขายนักลงทุนสถาบันระหว่าง 1-3 ..2562 แต่ปัจจุบันมีนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศรวม 13 ราย จองซื้อเข้ามาแล้วรวม 3,454 ล้านหุ้น หนึ่งในผู้จองซื้อเข้ามา คือ GIC Private Limited ซึ่งเป็น “กองทุนรัฐบาลสิงคโปร์” 

ข้อห้า...  “แอสเสท เวิรด์” มีสัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด Silent period หรือ “ช่วงระยะเวลาห้ามขาย” จำนวน 6,984.09 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 22.6% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดโดยไม่รวมหุ้นจัดสรรส่วนเกินหากผู้ถือหุ้นกลุ่มนี้พร้อมใจกันเทขายออกมาคงสั่นสะเทือนราคาหุ้นแอสเสท เวิรด์ในตลาดไม่น้อย

สำหรับผลดำเนินงาน “แอสเสท เวิร์ด” ครึ่งแรกปี 2562 มีกำไรสุทธิรวม 352.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 309.06 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43.39 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 14.03%