“สไมล์ฟีต”ต่อยอดงานวิจัย แผ่นรองเท้าสู่“แฟรนไชส์”

“สไมล์ฟีต”ต่อยอดงานวิจัย แผ่นรองเท้าสู่“แฟรนไชส์”

“สไมล์ฟีต”นวัตกรรมแผ่นรองเท้าเพื่อสุขภาพต่อยอดมาจากงานวิจัย ในม.สงขลานครินทร์ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนที่ปัญหาส้นเท้าอักเสบพร้อมพัฒนาแอพพลิเคชัน Foot DNA วิเคราะห์เท้าของแต่ละคนก่อนนำไปสู่รองเท้าสั่งตัด และแฟรนไชส์ร้านด็อกเตอร์โจ้

จากโจทย์งานวิจัยในมหาวิทยาลัยว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ขึ้นหิ้ง และสามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการคิดงานวิจัย เพราะที่ผ่านมามีการนำงานวิจัยไปใช้จริงไม่ถึง 1% ถือเป็นการลงทุนที่ ‘ไม่คุ้มค่า” จึงเป็นที่มาของแนวคิด “University Enterprise” ที่มหาวิทยาลัยใช้ในการผลักดันผลงานวิจัยที่ดีมีคุณค่าขยายผลให้ไปสู่การสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ ด้วยการจัดตั้งเป็นบริษัท

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ นวัตกรรมแผ่นรองรองเท้า สไมล์ฟีต’ (smile feet) ของนพ. สุนทร วงษ์ศิริ จากภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ หรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อ คุณหมอโจ้ เจ้าของฉายา คุณหมอนักประดิษฐ์

จันทิมา วงษ์ศิริ ภรรยาคุณหมอโจ้  ถ่ายทอดให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นจากคุณหมอได้ทำงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่เป็นโรคเจ็บเท้าส้นเท้า ด้วยการทำได้พัฒนาแผ่นพื้นรองเท้าด้วยโพลิเมอร์ เจล และโฟมชนิดพิเศษ ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บส้นเท้า โดยใช้หลักทางสรีระศาสตร์และวัสดุศาสตร์ เพื่อให้ได้แผ่นรองรองเท้าที่มีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นสูง สามารถรับน้ำหนักและแรงกระแทกจากการทำกิจกรรมประจำวันได้ ด้วย Cup Shape บริเวณส้นเท้าที่ช่วยในการรับน้ำหนัก Curve Shape บริเวณอุ้งเท้าที่ออกแบบมาเพื่อช่วยพยุงและลดแรงกดบริเวณอุ้งเท้าด้านในแบบพอดีรูปเท้า และแผ่นเจลรับน้ำหนักบริเวณส้นเท้าที่ช่วยลดแรงกระแทกและกระจายแรงกดทับบริเวณส้นเท้าซึ่งเป็นส่วนแรกที่ต้องรับน้ำหนักจากการทำกิจกรรมต่างๆ 

ความตั้งใจแรกของหมอต้องการคิดค้นนวัตกรรมนี้ออกมาเพื่อช่วยผู้ป่วยที่เจ็บส้นเท้าให้หายเจ็บโดยไม่ต้องกินยา เพราะมีผลต่อตับไต และเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรค เพราะจะช่วยรับแรงกระแทกขณะเดิน วิ่ง ลดความเสี่ยงต่อโรคเอ็นส้นเท้าอักเสบ โดยแผ่นรองรองเท้าจะช่วยกระจายแรงรับโหลดของน้ำหนักตัว จึงส่งผลดีต่อข้อเข่า ข้อสะโพกและหลัง ทั้งยังลดอาการเมื่อยขาจากการเดินหรือยืน

จากนั้นได้ทดสอบผู้ป่วย พบว่า แผ่นรองเท้าช่วยลดอาการปวดส้นเท้าและการกินยาได้ถึง 70% จึงกลายเป็นที่มาของการพัฒนาแผ่นรองเท้าเพื่อสุขภาพ ที่ได้รับรางวัลมากมายทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น รางวัลพิเศษ special prize by KIPA เกาหลีใต้, เหรียญเงินในงาน 41st International Exhibition of Inventions of Geneva และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดธุรกิจนวัตกรรมโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มาการันตี คุณภาพนวัตกรรมสัญชาติไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

แม้ว่าสินค้าจะพัฒนาจากงานวิจัยจะได้รับการยอมรับแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่นำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ความยากเริ่มต้นตั้งแต่การหาโรงงานผลิต เพราะสเกลเล็กทำให้โรงงานผลิตไม่ค่อยสนใจ กว่าจะได้โรงงานผลิตเกือบถอดใจแต่โชคดีที่ได้คนรู้จักแนะนำจึงมีโอกาสได้ผลิตรุ่นแรกในโรงงานเดี่ยวกับผลิตรองเท้าแบรนด์เนม อาทิ ไนกี้ อาดิดาส ทิมเบอร์แลนด์

หลังจากที่สามารถหาโรงงานผลิตได้แล้วความยากที่ต้องเผชิญสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กคือ เงินทุน ที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ย แต่จากประสบการณ์ทำให้ได้เรียนรู้ว่า นอกเหนือจากการกู้ธนาคารยังมี ‘ตัวช่วย’ จากการขอทุนสนับสนุนในหน่วยงานภาครัฐ ทั้งจากมหาวิทยาลัย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งให้การทุนสนับสนุนในการพัฒนาทดลองผลิตภัณฑ์จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบและออกสู่เชิงพาณิชย์ เริ่มต้นจาการทำแผ่นรองเท้าแก้อาการรองช้ำ หลังจากนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัด เฮลท์ อินโนเวชั่น แอนด์ ดีไซน์ มาพัฒนาแผ่นรองเท้าสำหรับคนปกติทั่วไปที่ไม่ได้มีปัญหารองช้ำใส่เพื่อป้องกัน

  “จากวันนี้จนมาถึงวันนี้ถือว่ามาไกลกว่าที่คิด เพราะได้พันมิตรในการช่วยกระจายสินค้าทั่วประเทศในร้านค้าเพื่อสุขภาพและโรงพยาบาลทำให้สามารถใช้เวลาเพียงแค่3 ปีในการคืนทุนและเป็นที่รู้จักมากขึ้น

แต่การจะก้าวต่อไปต้องไม่หยุดนิ่งในการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ จึงเป็นที่มาของการ พัฒนาแอพพลิเคชัน Foot DNA ย่อมาจาก Foot Diagnose new analyze เพื่อวิเคราะห์เท้าของแต่ละคนและโรค จุดเด่นของแอพมีทีมแพทย์คอยวินิจฉัยอาการให้ว่าเท่าคุณเป็นโรคอะไร เป็นเท้าแบบไหน และสาเหตุของการเจ็บเท้ามาจากอะไร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นเสมือนเทรนเนอร์ มาช่วยแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อแก้อาการและป้องกัน ทั้งในกลุ่มคนทั่วไป หรือแม้กระทั้งนักกีฬาว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร

“ผู้ใช้จะมีข้อมูลทำให้สามารถเลือกรองเท้าเหมาะกับตนเองเพราะแอพจะสามารถเสิร์ซและหาว่าตนเองเป็นโรคอะไร ลักษณะเท้าแบบไหนควรเลือกรองเท้าอย่างไร ก่อนนำไปสู่รองเท้าสั่งตัดเฉพาะบุคคลตามความต้องการของลูกค้า (Make-to-Order) โดยมีทีมแพทย์ นักกายภาพ มาช่วยวิเคราะห์และออกแบบ ”

หากเทียบกับรองเท้าสั่งตัดทั่วไปรองเท้าแบรนด์ด็อกเตอร์โจ้ ราคา4,000-5,000 บาทขณะที่ราคาตลาด6,000-8,000 บาทลดลง 50% หากเป็นแบรนด์ต่างประเทศราคาหลักหมื่นบาท โดยเริ่มต้นจากรองเท้าผ้าใบก่อน เพราะสามารถปรับให้ดูเป็นทางการ หรือใส่เล่นได้ ด้วยการปรับสาย ในอนาคตจะมีการพัฒนาด้านดีไซน์รองเท้าให้สอดคล้องไลฟ์สไตล์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

  “การทำธุรกิจต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ ไม่จมอยู่กับจุดอ่อนเดิม ๆ มิเช่นนั้นจะไม่ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นเหตุผลให้ แบรนด์ สไมล์ฟีต,ด็อกเตอร์โจ้ไม่หยุดนิ่ง เพราะมีความฝันที่จะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นต้นแบบให้นักวิจัยเห็นว่านวัตกรรมจากงานวิจัยสามารถก้าวสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้

ล่าสุดได้ลงทุนเปิดช็อป ร้านด็อกเตอร์โจ้ แห่งแรกที่หาดใหญ่ เพื่อเป็นต้นแบบของ ของร้านแฟรนไชส์ที่มีนวัตกรรมหลากหลายไม่เฉพาะแค่รองเท้าเท่านั้น แต่ยังมีนวัตกรรมจากงานวิจัยที่เกี่ยวกับสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าที่สนใจ 

“อนาคตเราอยากนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยมองว่าการลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์จะช่วยให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวและทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใน8 ปีต่อจากนี้จากปัจจุบันที่มีรายได้ปีละ 8- 10 ล้านบาท”

+++++++++++++++++ 

กุญแจสู่ความสำเร็จ

-มองปัญหาเป็นโอกาสเพื่อปิดจุดด่อน

-ทีมเวิร์คมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย

-แสวงหาทุนจากหน่วยงานภาครัฐ

-พยายามและโฟกัสเป้าหมาย