‘คาซัคสถาน’ เส้นทางสู่ตลาดยุโรป

‘คาซัคสถาน’ เส้นทางสู่ตลาดยุโรป

สัมภาษณ์พิเศษ: เมื่อพูดถึงคาซัคสถานคนไทยหลายคนอาจคิดถึงนักมวย นักกีฬา บ้างก็นึกถึงเส้นทางสายไหม หรือคุ้นเคยกับความเป็นอดีตสหภาพโซเวียต ทั้ง ๆ ที่ประเทศนี้เป็นเอกราชมาเกือบ 30 ปีแล้ว และมีความเป็นตัวของตัวเองในหลาย ๆ เรื่อง

กรุงเทพธุรกิจได้รับเกียรติจาก “รัศม์ ชาลีจันทร์” เอกอัครราชทูตประจำคาซัคสถาน คีร์กีซ และทาจิกิสถาน เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่และโอกาสของนักลงทุนไทยในดินแดนเอเชียกลางแห่งนี้ 

ทูตรัศม์เล่าว่า คาซัคสถานเป็นประเทศที่ใหญ่มาก ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก อยู่กลางทวีปเอเชีย แต่เป็นประเทศแลนด์ล็อก (ไม่มีทางออกทะเล) ปัญหาด้านโลจิสติกส์จึงเป็นปัญหาใหญ่ การส่งสินค้าจากไทยมาคาซัคสถานที่ง่ายที่สุดต้องมาทางอากาศสถานเดียว ซึ่งเสียค่าขนส่งแพง

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับไทยประเทศเดียว เมื่อได้คุยกับทูตประเทศต่าง ๆ ก็พบว่า ปัญหาโลจิสติกส์เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้การค้าขายระหว่างไทย อาเซียน และเอเชียกลางเป็นไปได้ยาก 

“ไทยมีทางเลือกสองทางคือ ส่งตรงทางเครื่องบิน ทำให้สินค้าไทยมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และส่งมากไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้าส่งมาทางเรือจากไทยต้องไปถึงยุโรปบน ถึงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งอ้อมมาก แล้วค่อยส่งลงมาอีกที อ้อมไปถึงครึ่งโลก เท่ากับว่าสินค้าไทยใช้เวลานาน แพง แม้ไม่แพงเท่าส่งทางอากาศ แต่ก็แพงกว่าสินค้าของประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และทำให้ shelf life ของเราลดลง นี่คือปัญหาหลัก ที่เราพยายามหาทางแก้ไข”

เมื่อเจอปัญหาแบบนี้แล้วไทยจะมีทางออกหรือไม่ ทูตชี้แจงว่า ทางเลือกหนึ่งคือจีนมีโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiatives: BRI) สามารถเชื่อมเส้นทางจากท่าเรือจีนเข้ามายังชายแดนคาซัคสถาน ทะลุไปถึงโปแลนด์ เยอรมนี โดยทางรถไฟ ใช้เวลาเพียง 15 วัน จุดเชื่อมอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษคอร์กอส แต่ไทยยังไม่นิยมใช้เส้นทางนี้ 

เมื่อคนไทยยังไม่นิยมก็จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก เดือนที่แล้วสถานทูตจึงทำโครงการเชิญผู้ประกอบการไทยมาสำรวจด้านโลจิสติกส์ เยี่ยมเขตเศรษฐกิจพิเศษคอร์กอสของคาซัคสถาน ที่เป็นทั้งศูนย์กระจายสินค้า นิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนคาซัคสถาน-จีน มาที่นี่แล้วสามารถเดินทางข้ามไปมาได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง นี่คือส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมใหม่ และในอนาคตก็จะเป็นอีกคำตอบหนึ่งของไทย 

“เมื่อฮาร์ดแวร์พร้อมแล้ว ปัญหาจึงเหลืออยู่ที่ซอฟต์แวร์หรือระเบียบกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยต้องช่วยกันผลักดันเส้นทางยุทธศาสตร์ทั้งการค้าและการท่องเที่ยว ที่เราควรศึกษาให้มากขึ้นเพื่อจะได้ไม่ตกขบวน” ทูตย้ำถึงความจำเป็น  

เท่าที่รับฟังปัญหาจาก Importer สินค้าไทย ทูตรัศม์พบว่า สินค้าไทยต้องไปขึ้นที่ท่าเรือจีน แล้วส่งต่อมายังคาซัคสถาน มักพบปัญหาเรื่องเอกสารที่จีนทำมาไม่ถูกต้อง ทำให้การออกของที่ชายแดนคอร์กอสยุ่งยากมาก ไม่รู้เวลาแน่นอน เพราะระเบียบกฎเกณฑ์ไม่ชัดเจน ภาครัฐทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคมต้องช่วยกันผลักดันต่อไป ให้ลดทอนความซับซ้อนของงานเอกสารลง

ที่สำคัญคือแถบนี้มีสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ที่เวียดนามได้ทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เรียบร้อยแล้ว แต่ไทยยังไม่มี จึงทำให้สินค้าของไทยในตลาดคาซัคสถานแพงกว่าเวียดนามทันที 10% และต่อให้ไม่มีตัวนี้ไทยก็เสียเปรียบเวียดนามอยู่แล้ว เพราะเวียดนามมีชายแดนติดกับจีน ขณะนี้กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์กำลังเจรจาเอฟทีเอ ส่วนจะสำเร็จเมื่อใดนั้นยังไม่ทราบคำตอบ ทูตตอบได้เพียง "ยิ่งช้าเท่าใดเราก็ยิ่งขาดทุน” 

“ภาครัฐก็เจรจาไป ขณะเดียวกันถ้าภาคเอกชนเห็นความสำคัญ มาช่วยกัน ก็ยิ่งทำให้ภาครัฐให้น้ำหนักการเจรจามากยิ่งขึ้น ทั้งสองภาคส่วนต้องไปด้วยกัน ถ้าทะลุทะลวงจุดนี้ได้ ไม่ใช่แค่เอเชียกลาง แต่หมายถึงยุโรปทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เวียดนามเป็นอาเซียนประเทศเดียวที่ได้ประโยชน์” 

เมื่อโจทย์เรื่องโลจิสติกส์สามารถแก้ไขได้ โอกาสสำหรับนักลงทุนไทยก็ไม่หนีไปไหน 

 ทูตรัศม์เผยว่า คาซัคสถานโดดเด่นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ โดยเฉพาะน้ำมัน ระดับน้อง ๆ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ใคร ๆ ก็อยากได้น้ำมัน เดิมตรงนี้เป็นถิ่นของรัสเซีย พอสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 ก็มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาทั้งสหรัฐ จีน โอกาสที่ไทยจะแทรกเข้ามายากมาก 

“ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ก็อยากจะลงทุนในด้านนี้เหมือนกัน ระยะหลัง ปตท.ก็ยังสนใจอยู่ แต่อาจต้องปรับจากอัพสตรีมเป็นดาวน์สตรีม มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมภาคน้ำมันที่เกี่ยวข้อง เช่น พลาสติก แล้วก็มีซีพีเข้ามาขายอาหารสัตว์เลี้ยงที่อัลมาตี นอกจากนี้ก็เป็นแรงงานภาคบริการ สปา ร้านอาหาร แรงงานไทยในภาคส่วนนี้มีประมาณ 100 คน และแรงงานไทยอีกประมาณ 200 คน  ทำงานวางท่อน้ำมันขุดจากทะเลแคสเปียนที่เมืองอัคเทา ทางภาคตะวันตกของประเทศ”   

ธุรกิจอื่นที่น่าสนใจคือการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลไทยได้รับความนิยมและมีราคาที่แข่งขันได้ จึงเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ทูตมองว่า เราสามารถเข้ามาลงทุนได้

“แต่ไม่จำเป็นต้องมาตั้งโรงพยาบาล อาจจะมาทำความตกลงกันเป็นแพ็กเกจ โรงพยาบาลไทยจับคู่กับโรงพยาบาลที่นี่เสนอแพ็กเกจบินไปรักษาที่เมืองไทย หรือนำหมอไทยมาตรวจ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ” 

ในด้านการท่องเที่ยวคนคาซัคนิยมไปเที่ยวไทย มีเที่ยวบินตรงจากอัสตานา (กรุงนูร์-ซุลตัน) เฉพาะธันวาคม-มกราคม ในช่วงหน้าหนาว แต่ปกติมีเที่ยวบินตรงจากเมืองอัลมาตี ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ ส่วนคนไทยแม้มาเที่ยวคาซัคสถานน้อย แต่ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ 

ความโดดเด่นล่าสุดของคาซัคสถานคือกรุงนูร์-ซุลตันเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมนักเขียนเอเชียครั้งที่ 1 (The First Forum of Asian Countries' Writers) เมื่อสัปดาห์ก่อน ทูตรัศม์เล่าว่า ประเทศแถบนี้ให้ความสำคัญกับกวี นักคิด นักเขียน ถือว่าเป็นวีรบุรษของชาติที่ต้องเชิดชู เป็นผู้นำด้านศิลปะจิตวิญญาณ ให้ความสำคัญกับงานวรรณกรรมไม่น้อยไปกว่าเศรษฐกิจหรือการเมือง 

"จริง ๆ แล้วคาซัคสถานให้ความสำคัญกับการประชุมระหว่างประเทศ เช่น Astana Economic Forum ที่เพิ่งจัดไปเมื่อต้นปี ทำให้นูร์-ซุลตันได้รับการยอมรับในระดับโลก ในด้านการเมืองคาซัคสถานเชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศ  วางสถานะตนเองเป็นประเทศเป็นกลาง เป็นมิตรกับทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจฝ่ายใด รัสเซียก็ใกล้ชิด จีนก็เป็นเพื่อนบ้านกัน กับสหรัฐก็มีความร่วมมือกันมาก รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับโลกมุสลิม คุยกับทุกคนได้ ยินดีเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยในเรื่องสันติภาพ"

นอกจากนี้คาซัคสถานยังมีบทบาทโดดเด่นในการต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ เพราะสมัยสหภาพโซเวียตเคยใช้คาซัคสถานเป็นที่ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ประชาชนได้รับผลกระทบจากรังสีมากมาย 

ในด้านสังคมวัฒนธรรมก็ผลักดันตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ 

“จุดเด่นอีกอันหนึ่งของคาซัคสถานคือให้ความเคารพและส่งเสริมการเท่าเทียมกันของทุกศาสนา เป็นประเทศมุสลิมที่สายกลางและอดทนอดกลั้นมาก ๆ เป็นจุดที่เขาภูมิใจนำเสนอและเป็นจุดแข็งที่ถูกใจชาติตะวันตก” 

ฟังข้อมูลจากปากทูตเห็นได้ว่า ประเทศนี้แม้จะอยู่ห่างไกลจากไทยแต่ก็มีความหลากหลาย สามารถสร้างการเติบโตได้อีกมาก ชนิดที่ภาคเอกชนไทยไม่ควรมองข้าม แม้ระยะแรกอาจดูมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ถ้าเจาะภูมิภาคเอเชียกลางได้เมื่อใด ย่อมไปได้ไกลถึงยุโรป ไม่แตกต่างจากความรุ่งเรืองของเส้นทางสายไหมในสมัยโบราณเลย