กรมศุลเผยยอดจับกุม11เดือนเกือบ3หมื่นคดี

กรมศุลเผยยอดจับกุม11เดือนเกือบ3หมื่นคดี

กรมศุลกากรเผยยอดจับกุมผู้กระทำผิดพิธีการทางศุลกากรรอบ 1 เดือนปีงบ 62 จำนวนกว่า 2.9 หมื่นคดี มูลค่ากว่า 2.6 พันล้านบาท โดยยาเสพติดประเภทต่างๆและนาฬิกาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าลักลอบนำเข้าสูงสุด

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากรเปิดผลการจับกุมการตรวจยึดสินค้ากรณีความผิดลักลอบและหลีกเลี่ยง 11 เดือนในปีงบประมาณ 2562ว่า กรมฯสามารถจับกุมการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากรได้ทั้งสิ้น 29,875 คดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.62 พันล้านบาท เป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ 65.2%

สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าสูงสุด อาทิ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน นาฬิกาชนิดต่างๆ ยาเสพติดประเภท โคคาอีน สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภทเคตามีน และรถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก

ทั้งนี้ สำหรับเดือนส.ค.2562นั้น กรมฯพบการกระทำความผิด 2,869 คดี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 252.72 ล้านบาท เป็นจำนวนคดีจากการลักลอบ18.4% เป็นจำนวนคดีจากการหลีกเลี่ยง 81.6% โดยมีมูลค่าจากการกระทำความผิดเป็นกรณีลักลอบถึง 55.3%

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าสูงสุดในเดือนดังกล่าว 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เคตามีน ยาเสพติดประเภท โคคาอีน
และยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน และสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน กระบือมีชีวิต และบุหรี่

ในด้านของการจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น มีการตรวจพบการกระทำผิดที่น่าสนใจ อาทิ ผู้ลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยซุกซ่อนและกลืนไว้ในร่างกาย การตรวจยึดนกเหยี่ยวขาว ซึ่งจัดเป็นวงศ์นกในบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) และนกกินปลีสีแดง นกเขียวคราม นกเขียวก้านตองใหญ่ และนกโนรี ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
และ การตรวจยึดอะไหล่รถยนต์ผิดกฎหมายโดยใช้เครื่องหมายการค้าปลอมได้เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เบรกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยีห้อ Brembo และ Nissin

"กรมฯเห็นว่า อะไหล่รถยนต์ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค ตลอดจนความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน เนื่องจากอะไหล่รถยนต์ผิดกฎหมายดังกล่าวนั้น ไม่ได้ผลิตขึ้นบนพื้นฐานทางวิศวกรรมแต่เน้นการใช้วัสดุราคาต่ำเพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้การใช้งานมีความผิดปกติ เนื่องจากเบรกปลอมนั้นไม่สามารถทนความร้อนสูง และแรงเสียดสีได้ ทำให้ประสิทธิภาพในการเบรกต่ำมาก มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ"

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถแยกแยะอะไหล่รถยนต์จริงกับปลอมเบื้องต้นได้ โดยการขอเอกสารการรับประกันจากบริษัท/ห้างร้าน ที่จำหน่ายอะไหล่ดังกล่าว นอกจากนั้นอาจสังเกตได้ว่า อะไหล่รถยนต์ปลอมส่วนมากจะมีราคาที่ถูกผิดปกติ