“ซีเอ็มเอ็มยู” งัดกลยุทธ์สปีด เจาะพฤติกรรม LAZY Consumer

“ซีเอ็มเอ็มยู” งัดกลยุทธ์สปีด เจาะพฤติกรรม LAZY Consumer

ซีเอ็มเอ็มยู เผยอินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภคไทยรักสะดวกสบายมากขึ้น พบกิจกรรมที่ในไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่ ออกกำลังกาย ตามด้วยรอคิวซื้อสินค้าและบริการ ทำความสะอาดบ้าน อ่านหนังสือ ปัจจัยบวกหนุนธุรกิจ “ตัวกลาง” โตแรง ทั้งบริการสั่งและส่งอาหาร

นายบุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (ซีเอ็มเอ็มยู) เปิดเผยว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่รักสะดวกสบาย และอาจสะท้อนถึงความขี้เกียจ ทำให้แบรนด์พยายามหาทางออกหรือโซลูชั่นในการแก้ปัญหา และสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างๆ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะเพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน

ทั้งนี้ พฤติกรรมรักสะดวกสบายดังกล่าว ก่อให้เกิดธุรกิจมากมาย เช่น ธุรกิจขนส่ง บริการจองคิวผ่านแอพพลิเคชั่น การรับจ้างจองคิว บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ และชอปปิงออนไลน์ฯเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ต่างประเทศ เถาเป่า ธุรกิจอคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน เก็บข้อมูลลูกค้าพบว่าคนจีนรุ่นใหม่เจนเนอเรชั่นซี(Z) มีการจับจ่ายใช้สอยอุปกรณ์ที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมากถึง 70% มูลค่าราว 2,310 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ในงานสัมมนาการตลาด “ตลาดคนขี้เกียจ : LAZY Consumer เจาะลึกอินไซต์พิชิตใจคนขี้เกียจ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วานนี้ (9 ก.ย.) ซีเอ็มเอ็มยูได้วิจัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ทั้งเจนซี เจนวาย เจนเอ็กซ์และเบบี้บูมเมอร์ พบกิจกรรมที่ในไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่ ออกกำลังกาย 84% ตามด้วยรอคิวซื้อสินค้าและบริการ 81% ทำความสะอาดบ้าน 77% และอ่านหนังสือ 70% เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์เชิงลึก พฤติกรรมคนทั่วไปขี้เกียจมากสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มมนุษย์อยากดูดีแต่ไม่มีแรงหรือการขี้เกียจออกกำลังกาย 84% ตามด้วยมนุษย์ชอบชอปปิง แต่ไม่ขี้เกียจรอคิว 81% มนุษย์บ้านรกสกปรกค่อยทำ 77% มนุษย์ขี้เกียจอ่านหนังสือ 70%

นางสาวฝนทิพย์ กิตติประเสริฐแสง หัวหน้าทีมงานวิจัยการทำการตลาดเลซี่ คอนซูเมอร์ กล่าวว่า กลยุทธ์ “SLOTH” เป็นอาวุธให้แบรนด์สินค้าและบริการทำตลาดเจาะพฤติกรรมผู้บริโภคขี้เกียจ ดังนี้ Speed หรือสปีด ช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกไม่เสียเวลา Lean กระชับ ตัดท่อนขั้นตอนที่ยุ่งยากออก Enjoy(O) ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ Convenient(T) สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้น และ Happy สร้างความสุข หลังจากการปัญหาได้รับแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด

นอกจากนี้ ผลวิจัยระบุว่า ธุรกิจและบริการที่กำลังมาแรงตอบสนองผู้บริโภครักสบาย ได้แก่ 1.ธุรกิจที่ทำแทนได้ เช่น บริการทำความสะอาดบ้าน สั่งอาหาร ฯ 2.ธุรกิจที่ไม่ต้องขยับเขยื้อนตัว เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น แก้วดื่มน้ำสวมหัวพร้อมหลอดดูด 3.ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น อาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง ซึ่งในต่างประเทศมีแบรนด์ BlueApron เตรียมวัตถุดิบให้ผู้บริโภคปรุงอาหารได้ทันที เครื่องสำอางที่ลดขั้นตอนแต่งหน้า 4.ธุรกิจร่วมมือ หรือ community ต่างๆ และ 5.ธุรกิจเน้นการฟัง เช่น พอดแคสต์ และวิดีโอคอนเทนท์