กทท.ทุ่มแสนล้าน ลุยแหลมฉบัง

กทท.ทุ่มแสนล้าน ลุยแหลมฉบัง

"แหลมฉบัง" เดินหน้าขยายขีดความสามารถทุ่มงบ 1.15 แสนล้านพัฒนา 3 โปรเจค ดันขนส่งสินค้า 18 ล้าน ที.อี.ยู. จ่อเปิดประมูลจัดหาเอกชนบริหารศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ต.ค.นี้ หนุนสัดส่วนขนส่งสินค้าทางราง 30%

ขณะที่คืบหน้าท่าเรือแหลมฉบัง 3 มั่นใจหากไม่ติดขั้นตอนกฎหมาย เตรียมเจรจาลงนามสัญญาเดือนหน้า

ร.ท.ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการลงทุนขยายขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง โดยระบุว่า ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 115,202 ล้านบาท ได้แก่ ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) มูลค่าโครงการ 539 ล้านบาท โครงการศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) มูลค่าโครงการ 616 ล้านบาท และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 มูลค่าโครงการราว 114,047 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี)

กทท.ทุ่มแสนล้าน ลุยแหลมฉบัง

โดยในส่วนของโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) วงเงินการลงทุน 539 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1.ว่าจ้างบริหารจัดการเครื่องมือยกขนที่ใช้ในโครงการฯ วงเงิน 161 ล้านบาท และสัญญา 2 ว่าจ้างบริหารจัดการเคลื่อนย้ายตู้สินค้า วงเงิน 378 ล้านบาท โดยสัญญา 1 นั้น มีเอกชนมายื่นประมูล 1 รายและผ่านคุณสมบัติแล้ว อยู่ระหว่างการนำเสนอผู้อำนวยการ กทท. อนุมัติ ขณะที่สัญญา 2 ยังรอเอกชนมายื่นประมูลอยู่ ซึ่งทั้ง 2 สัญญามีกำหนดเวลา 5 ปี

ดันศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถไฟ

ขณะที่โครงการศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ เพิ่มการรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี เป็นโครงการที่พัฒนาบนพื้นที่ 600 ไร่ อยู่ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และชุด C ติดตั้งพวงราง จำนวน 6 ราง จอดได้รางละ 2 ขบวน ในเวลาเดียวกัน และติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง สามารถทำงานคร่อมรางรถไฟได้ทั้ง 6 รางในเวลาเดียวกัน 

ปัจจุบันได้ก่อสร้างพร้อมติดตั้งเครื่องมือแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างดำเนินการร่างทีโออาร์ หาตัวผู้ประกอบการเข้ามาบริหารจัดการ วงเงินราว 616 ล้านบาท มีระยะเวลาบริหาร 5 ปี คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ผ่านเว็บไซต์ และเริ่มขั้นตอนประมูลได้ราวเดือน ต.ค.นี้ ไม่เกินสิ้นปีนี้น่าจะได้ตัวเอกชนมาบริหาร

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 พัฒนาบนพื้นที่ 2,846 ไร่ ก่อสร้างแอ่งจอดเรือ กว้าง 920 เมตร ลึก 18.5 เมตร เพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 7 ล้าน ที.อี.ยู. ประกอบไปด้วย ท่าเทียบเรือ E0 ความยาวหน้าท่า 920 เมตร ท่าเทียบเรือตู้สินค้า E (E1, E2) ความยาวหน้าท่ารวม 1,500 เมตร รองรับตู้สินค้า 3 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี ท่าเทียบเรือตู้สินค้า F (F1, F2) ความยาวหน้าท่ารวม 2,000 เมตร รองรับตู้สินค้า 4 ล้าน ที.อี.ยูต่อปี และย่านรถไฟฝั่ง E F รองรับรู้สินค้าทางรถไฟได้ 4 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี

มั่นใจเฟส3เปิดใช้ปี66

โดย กทท.มีเป้าหมายพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 แบ่งเป็นระยะแรกจะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือตู้สินค้า F เป็นลำดับแรก ภายในปี 2566 ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนจัดหาเอกชนร่วมลงทุน หากโครงการนี้สามารถพัฒนาได้ตามแผนงานที่วางไว้ จะเพิ่มขีดความสามารถให้ท่าเรือแหลมฉบัง รองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี เป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี 

อีกทั้งยังจะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางราง จากปัจจุบัน 7% เป็น 30% ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเพิ่มความสะดวกให้กับการขนส่งด้วย

ร.ท. ยุทธนา ยังกล่าวอีกว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีโครงการพัฒนาศักยภาพส่วนอื่นๆ ประกอบไปด้วย ท่าเทียบเรือชายฝั่ง ความยาวหน้าท่า 500 เมตร รองรับตู้สินค้าชายฝั่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 1 ล้านที.อี.ยู.ต่อปี รวมทั้งยังมีโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือบริการ ความยาวหน้าท่า 435 เมตร

สำหรับพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังในขณะนี้ มีอาณาบริเวณทางน้ำ 52 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ได้แบ่งการพัฒนาออกเป็น ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 2 ซึ่งเปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน มีพื้นที่รวม 8,752 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทางบก 6,341 ไร่ และพื้นที่ถมทะเล 2,411 ไร่ โดยแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 4.3 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 2 สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 6.8 ที.อี.ยู.ต่อปี ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 จะต้องใช้พื้นที่ 2,846 ไร่ เพิ่มขีดความสามารถรองรับได้อีก 7 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี

รับตู้สินค้าได้ 18 ล้านที.อี.ยู

ด้านนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวระหว่างตรวจเยี่ยมการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง กทท. เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ได้รับทราบความคืบหน้าของแผนพัฒนาศักยภาพท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ที.อี.ยูต่อปี เพิ่มเป็น 18 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี รวมทั้งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้ทันสมัย ด้วยระบบปฏิบัติการอัตโนมัติ ผลักดันให้เป็นจุดศูนย์กลางเศรษฐกิจในเอเชีย

โดยปัจจุบันพบว่า กทท.อยู่ระหว่างขั้นตอนประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 คาดว่าหากไม่ติดขั้นตอนทางกฎหมาย จากกรณีที่เอกชนยื่นศาลปกครองกลาง คุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินการคัดเลือก คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็จะสามารถเจรจากับเอกชนที่มีคะแนนสูงสุด และลงนามสัญญาร่วมทุนได้ภายในเดือน ต.ค.นี้

อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบังครั้งนี้ นอกจากการผลักดันโครงการลงทุนของท่าเรือแหลมฉบังแล้ว ตนได้มอบนโยบายให้ กทท.บูรณาการด้านการขนส่งสินค้าเชื่อมกับระบบราง เร่งหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อจัดทำเส้นทางขนส่ง รวมทั้งยังต้องการให้ท่าเรือแหลมฉบัง ยกระดับเป็นท่าเรือสมาร์ทพอร์ท ขนถ่ายสินค้าด้วยระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ และต้องวางแผนพัฒนาท่าเทียบเรือ A5 เพื่อรองรับการเชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือ บางสะพาน จ.ประจวบฯ-ท่าเรือแหลมฉบัง ตามนโยบายที่จะลดปริมาณการจราจรแออัดบริเวณถนนพระราม 2 และกรุงเทพฯ