'สาธิต' เผยระบบสุขภาพไทยดีที่สุดอันดับ6ของโลก ที่1ในอาเซียน

'สาธิต' เผยระบบสุขภาพไทยดีที่สุดอันดับ6ของโลก ที่1ในอาเซียน

"สาธิต" ฟุ้งไทยติดอันดับ 6 ของโลก ระบบสุขภาพดีที่สุด อันดับสูงสุดในอาเซียน ย้ำสาธารณสุขไทยในศตวรรษที่ 2 มุ่งนำเทคโนโลยีใช้เพิ่มประสิทธิภาพ-ความสะดวก ลดแออัด ลดรอคอย ลดเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.62 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียนพัทยา จ.ชลบุรี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวเปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2562 ในหัวข้อ “สู่ศตวรรษที่ 2 การสาธารณสุขไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดี”ว่า นิตยสาร CEOWORLD นิตยสารด้านธุรกิจของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก ประจำปี 2562 โดยจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่ง 10 อันดับแรกตามลำดับ ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรีย เดนมาร์ก สเปน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยมและออสเตรเลีย ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนถือว่าประเทศไทยได้รับการยอมรับมากที่สุด ทั้งนี้ พิจารณาจากเกณฑ์ตัวชี้วัด 5 ตัว คือ

1.ความพร้อมระบบพื้นฐานด้านสาธารณสุข 2.ความสามารถของบุคลากรด้านสาธารณสุข 3.การเข้าถึงยาคุณภาพ 4.ค่าใช้จ่ายในระบบ และ 5.ประสิทธิภาพ ศักยภาพของรัฐบาลในการจัดการระบบ โดยประเทศไทยได้คะแนนทั้งหมด 67.99 เต็ม 100 คะแนน แบ่งออกเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน 92.58 คะแนน ด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ 17.37 คะแนน ด้านค่าใช้จ่าย 96.22 คะแนน ด้านการเข้าถึงยา 67.51 คะแนน และ ความพร้อมของรัฐบาล 89.91 คะแนน

“จากการจัดอันดับแสดงให้เห็นว่า ไทยเป็นพี่เบิ้มเกี่ยวกับระบบสุขภาพในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการยอมรับ เพราะบุคลากรสาธารณสุขทุกคนทุกวิชาชีพ พี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ผอ.รพ.ทุกระดับ บุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล(รพ.สต.) และจิตอาสา เครือข่ายทั้งหมดร่วมแรงร่วมใจในการช่วยกัน ซึ่งส่วนตัวถือว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความยิ่งใหญ่และมีคุณภาพมาก ในเชิงให้ความรู้ให้การบริการ และแต่ละคนสร้างจิตวิญญาณความเป็นวิชาชีพจากรุ่นสู่รุ่นจนมาวันนี้ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ไทยอยู่อันดับ 6"นายสาธิตกล่าว

รมช.สธ. กล่าวอีกว่า ในศตวรรษที่ 2 ของการสาธารณสุขไทย กระทรวงสาธารณสุขจะนำเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ความรวดเร็ว และความสะดวกในการบริการประชาชน เพื่อลดแออัด ลดรอคอย ลดเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีกิจกรรมทางกาย ลดโรค ลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และลดภัยสุขภาพ ไม่เจ็บป่วย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจประเทศแข็งแรง

"เป้าหมายในการขับเคลื่อนเรื่องสาธารณสุขมีเป้าหมายเพื่อคนไทยทุกคนและคนที่อาศัยในประเทศไทยมีสุขภาพและอนามัยที่ดี ซึ่งความผิดพลาดทางการแพทย์นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ แต่จะต้องท้าทายให้เกิดขึ้นน้อนที่สุด เพราะชีวิตมนุษย์มีความสำคัญทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าคนจนหรือคนรวย ปละเข้าใจดีว่าเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น บุคลากรทุกคนย่อมเสียใจ แต่จะต้องยอมรับถึงเหตุที่เกิดขึ้นและร่วมกันปรับปรุง เดิหน้าต่อไปให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดตามวิชาชีพของเรา เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษา ภายใต้ความผิดพลาดที่น้อยสุด" นายสาธิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไต้หวันที่ได้อันดับ1 คะแนนรวมทั้งหมด 78.72 คะแนน แยกเป็น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 87.16 คะแนน คะแนนด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ 14.23 คะแนน ด้านราคา 83.59 คะแนน การเข้าถึงยา 82.3 คะแนน และความพร้อมของรัฐบาล 87.89 คะแนน ส่วนประเทศในภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ เป็นอันดับที่ 24 มาเลเซียอันดับที่ 34 อินโดนีเซีย อยู่ที่อันดับ 52 เวียดนามอยู่อันดับที่ 66 ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ไม่ได้รับการสำรวจ ขณะที่ สหรัฐอเมริกา อยู่อันดับที่ 30 และ จีน อยู่อันดับที่ 46 อย่างไรก็ตาม ในปี2560 การจัดอันดับประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุด 25 อันดับแรกของนิตยสารนี้ ประเทศไทยไม่ติดอันดับ

อนึ่ง การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ เป็นปีที่ 27 ที่รวบรวมผลงาน นวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีผู้ส่งผลงานนำเสนอมากถึง 4,058 เรื่องใน 6 สาขา คือ สาขาอาหาร ยา วัคซีน/คุ้มครองผู้บริโภค/สมุนไพรและการแพทย์แผนไทย สาขาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม/การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สาขากลุ่มโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง/โรคติดต่อ สาขาสุขภาพจิต/ยาเสพติด/ปัญหาพฤติกรรมเด็กและวัยรุ่น สาขาการวิจัยด้านนโยบายและระบบสุขภาพ และสาขาการวิจัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกผ่านการคัดเลือกเข้าเสนอในการประชุมครั้งนี้ 643 เรื่อง ได้แก่ ผลงานวิจัยนำเสนอแบบวาจา 235 เรื่อง นำเสนอด้วยโปสเตอร์ 288 เรื่อง และนำเสนอด้วยนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ 120 เรื่อง โดยผลงานทั้งหมดผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาอาชีพของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยต่างๆ และจะคัดเลือกผู้มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2562 ต่อไป