'ทูตพาณิชย์สหรัฐ' แนะปรับ รับเทคโนโลยียานยนต์เปลี่ยน

'ทูตพาณิชย์สหรัฐ' แนะปรับ รับเทคโนโลยียานยนต์เปลี่ยน

สหรัฐถือเป็นตลาดรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งของโลก ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องการรถยนต์เป็นจำนวนกว่า 17 ล้านคันในแต่ละปี อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในสหรัฐนับเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเพราะมีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านดอลลาร์

หรือ 3% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสหรัฐ(จีดีพี) สามารถสร้างงานทั้งในส่วนของการผลิต การพัฒนา และการจำหน่ายให้กับชาวอเมริกันได้มากกว่า 2 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งปัจจัยค่าแรงงาน การขึ้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจากจีน และปัจจัยที่กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 

นิธิมา ศิริโภคากิจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี สหรัฐ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับการเดินทางและรถยนต์สูงมาก จึงทำให้สหรัฐมีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับการออกแบบผลิตรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ในปี 2561 สหรัฐนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น ตัวถังรถยนต์ เกียร์ เบรก พวงมาลัย ยางรถยนต์ เป็นมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 7.69% โดยผู้ส่งออกหลัก ได้แก่ เม็กซิโก จีน แคนาดา ญี่ปุ่น และเยอรมนี 

ในส่วนของประเทศไทย สหรัฐมีมูลค่านำเข้าสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์มูลค่า 465 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ศักยภาพในตลาด ได้แก่ เพลา พวงมาลัย ตัวถัง เกียร์ เบรก แบตเตอรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ สหรัฐยังนำเข้ายางรถยนต์จากไทยเป็นมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลงในสหรัฐส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มของราคารถยนต์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในสหรัฐอันเป็นผลมาจากมาตรการทางภาษีรวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงของสหรัฐ โดยปัจจุบันราคารถยนต์เฉลี่ยประมาณ 35,000 ดอลลาร์ต่อคัน 

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials ให้ความสำคัญกับการซื้อรถยนต์ลดลง รวมถึงปัจจัยด้านความผันผวนทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกันจีน ก็มีส่วนกดดันให้เกิดการชะลอตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐด้วย

แม้ว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าโดยรวม แต่กลับพบว่านโยบายการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์จากจีนและเม็กซิโกที่เป็นผู้ครองตลาดเกือบครึ่งหนึ่งของสหรัฐ เป็นอานิสงค์สำคัญทำให้ยอดส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และยางรถยนต์ไทยไปสหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวสูง 

โดยชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น 34.27% และ ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้น 22.35% เนื่องจากสินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences หรือ จีเอสพี)

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้คาดว่า ผู้ส่งออกไทยในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์และยางรถยนต์จะยังคงได้รับอานิสงค์จากนโยบายทางภาษีของสหรัฐ ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดและขยายตลาดส่งออกในสหรัฐ ได้มากขึ้นจนกว่านโยบายการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐ กับประเทศคู่ค้าจะได้ข้อยุติ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวผู้ประกอบการไทยควรที่จะใช้โอกาสดังกล่าวในการปรับตัวและพัฒนาสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์สัญชาติไทยให้เข้มแข็งเพื่อทำตลาดส่งออกแทนที่กลุ่มผู้ผลิตแบรนด์ชิ้นส่วนจากต่างประเทศที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย 

นอกจากนี้ การให้การสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือซอฟท์แวร์ใหม่ๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์อย่างจริงจังจากภาครัฐจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรักษาตลาดส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในสหรัฐ เอาไว้ได้

ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐ คาดว่า แนวโน้มยอดจำหน่ายรถยนต์สหรัฐ จะขยายตัวลดลงเหลือเพียงไม่เกิน 17 ล้านคันในปีนี้ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันถือว่ากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ

ข้อมูลจากรายงานศึกษาการควบรวมกิจการของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยบริษัท PricewaterhouseCoopers ปี 2562 พบว่า การควบรวมกิจการผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทั่วโลกน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 เท่า ในปี 2562 ซึ่งสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยทั่วไปที่ปีละประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์         

"แผนการควบรวมกิจการส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มกิจการผลิตระบบส่งกำลังรถยนต์ (Powertrain) และระบบไฟฟ้า (Electronics Systems)"

ข้อมูลจากรายงานศึกษาของบริษัท Deloitte พบว่า ภายในปี 2568 การขยายตัวของชิ้นส่วนขับเคลื่อนรถยนต์ (Transmission) จะลดลง 6% และเพลา (Axles) ลดลง 10% ในขณะที่กลุ่มรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า และกลุ่มรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 306% ส่วนกลุ่มแบตเตอรี่ (Battery) และเซลล์พลังงาน (Fuel Cell) จะขยายตัว 266% และกลุ่มระบบช่วยขับเคลื่อนทันสมัย (Advanced Driver-Assistance Systems) และระบบเซ็นเซอร์ (Sensors) จะขยายตัว 190%

กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในตลาดมีแนวโน้มการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อรักษาตลาดของตนเอาไว้ แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น

 

\'ทูตพาณิชย์สหรัฐ\' แนะปรับ รับเทคโนโลยียานยนต์เปลี่ยน