วอนเปิดเวทีฟังคุย ชี้ซาอุฯ-ยูเออีไฟเขียวขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกม.

วอนเปิดเวทีฟังคุย ชี้ซาอุฯ-ยูเออีไฟเขียวขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกม.

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าวอน "ภูมิใจไทย" เปิดเวทีฟังความเห็น หลังซาอุฯ-ยูเออีไฟเขียวขายถูกกฎหมาย

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า "ลาขาดควันยาสูบ End Cigarette Smoke Thailand (ECST)" และเฟซบุ๊กเพจ "บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร" เผยว่า ตั้งแต่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ประกาศว่าจะยังไม่พิจารณายกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลที่คาดเคลื่อนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าผ่านทางสื่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างความตะหนกและความสับสนให้กับคนในสังคมโดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่และผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังมองหาทางเลือกเพื่อลดอันตรายจากควันบุหรี่

“ในขณะที่ต่างประเทศรณรงค์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกสำหรับผู้สูบบุหรี่และมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดอันตรายให้กับตัวเอง แต่ข้อมูลข่าวสารในบ้านเรากลับถูกบิดเบือนโดยกลุ่มรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ ล่าสุด มีการให้ข้อมูลว่าบุหรี่ไฟฟ้าถูกห้ามขายใน 98 ประเทศ ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน มีเพียง 28 ประเทศเท่านั้นที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า ลดลงจาก 30 ประเทศในปี 2561 ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษและอเมริกาต่างระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน รวมทั้งงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารในวงการแพทย์ New England Journal of medicine ระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้ายังสามารถช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้” นายมาริษ กล่าว

นายมาริษ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Conference of the Parties หรือ COP) ครั้งที่ 8 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า 180 ประเทศสมาชิกมีกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน เช่น สินค้าบริโภคที่ได้รับการควบคุม อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในขณะที่มีเพียง 30 ประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ เวเนซุเอลา และประเทศแถบตะวันออกกลางรวมทั้งประเทศไทย ที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่ขณะนี้ลดลงเหลือเพียง 28 ประเทศ เพราะซาอุดิอาราเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพิ่งประกาศเมื่อช่วงต้นปีให้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าหรือเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้รณรงค์ให้มีการกำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยให้สอดคล้องกับนานาชาติ

ด้าน นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายหนึ่งให้ข้อมูลเสริมว่ากรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกายืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีศักยภาพในการช่วยผู้สูบบุหรี่ (ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์) หากนำมาใช้ทดแทนการสูบบุหรี่ และยังจำเป็นต้องมีการศึกษาระยะยาวอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ “ข่าวผู้เสียชีวิตชาวอเมริกันถูกโยงว่าเป็นเพราะการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งๆ ที่กรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกากำลังสืบสวนอยู่และยังไม่ได้สรุปว่าเป็นเพราะบุหรี่ไฟฟ้าหรือสารสกัดจากกัญชาที่ไม่ได้มาตรฐานกันแน่ รวมทั้งได้ออกคำแนะนำให้มีการหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาที่ไม่ได้มาตรฐานรวมทั้งสารสกัดกัญชา ไม่ได้มีการห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่ในประเทศไทยกลับมีการพยายามให้ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแบบผิดๆ เพียงเพราะต้องการให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกแบนต่อไป ถือเป็นการสร้างความสับสนให้สังคม และเป็นการกระทำที่ไม่มีความรับผิดชอบซึ่งไม่ควรออกมาจากหน่วยงานรณรงค์เพื่อสุขภาพ จึงอยากให้พรรคภูมิใจไทยซึ่งมีแนวคิดที่ก้าวหน้าเช่นเรื่องกัญชาทางการแพทย์ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าด้วย” นายอาสา ระบุ