มาแน่ๆ 10 เทคโนโลยีจากอนาคต ที่ภาคธุรกิจพลาดข้อมูลไม่ได้  

มาแน่ๆ 10 เทคโนโลยีจากอนาคต ที่ภาคธุรกิจพลาดข้อมูลไม่ได้  

10 Technologies To Watch ปีนี้มีอะไรบ้าง จากการพิจารณาคัดเลือกของ สวทช.โฟกัสไปที่เทคโนโลยีที่น่าจะเห็นผลกระทบได้ชัดเจนใน 5 - 10 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นข้อมูลให้กับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บรรยายพิเศษเรื่อง 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง (10 Technologies To Watch) ซึ่งทุกปี สวทช. จะเลือกมาปีละ 10 เรื่องที่น่าจะเห็นผลกระทบได้ชัดเจนใน 5 - 10 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้บางเทคโนโลยีอาจจะใกล้เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ได้แล้ว ขณะที่บางชนิดอาจจะยังเป็นต้นแบบหรือการทดสอบเบื้องต้น แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะส่งผลกระทบได้ในอนาคตอันใกล้  กิจกรรมนี้เป็นไฮไลต์ในงาน THAILAND TECH SHOW 2019 วันที่ 5 - 6 กันยายน 2562 ที่ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 เซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ 

10 เทคโนโลยีที่เลือกมาสำหรับปีนี้ มีดังนี้ 


1. เครือข่ายมือถือ 5G/6G (Mobile Network 5G/6G) 

         โทรศัพท์มือถือ (mobile phone) กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของหลายคนไปแล้ว ทุกวันนี้บางคนลืมกระเป๋าเงินไม่ค่อยเดือดร้อนอะไรมากนัก แต่ถ้าลืมโทรศัพท์มือถือนี่ ถึงกับต้องย้อนกลับไปเอาที่บ้าน  ปัจจุบันในประเทศไทยก็เริ่มมีใช้ 4G มาแล้วสักพัก อาจมีบางท่านสงสัยว่า ตัวเลขหน้า G หรือ generation นี่ บ่งบอกอะไรบ้าง? 1G คือ เป็นระบบแอนะล็อก (analog) ที่ส่งรับกันได้แค่เสียง ส่วน 2G ก็เริ่มปรับเปลี่ยนระบบส่งและรับสัญญาณเป็นแบบดิจิทัล (digital) ทำให้ส่งข้อความได้ และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตพื้นฐานได้อีกด้วย พอมาถึง 3G ก็รองรับข้อมูลด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นมากคือ สูงสุดถึงราว 20 เมกะบิต/วินาที ซึ่งดีพอใช้งานด้านมัลติมีเดียได้ ส่วน 4G ที่ใช้กันในปัจจุบันก็สามารถทำความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 3G อีกราว 50 เท่า

การเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุค จะมีรายละเอียดของเทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมระบบเครือข่ายหลัก หรือ core network architecture สำหรับ 5G จะมีการรับส่งข้อมูลสูงสุดเพิ่มขึ้นไปอีก 20 เท่าจาก 4G แต่ที่พิเศษคือ ใช้การได้แม้แต่ขณะที่เคลื่อนที่เร็วถึง 500 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความสามารถในการส่งข้อมูลต่อพื้นที่ หรือ Area traffic capacity เพิ่มขึ้นอีก 100 เท่า ปัญหาอย่างการอยู่ในงานคอนเสิร์ต การแข่งขันใหญ่ๆ หรืองานรับปริญญา แล้วโทรออกรับสายเข้าไม่ได้ จะหมดไป 

แต่ความสำคัญที่แท้จริงของ 5G คือ จะไม่เป็นแค่เพียงเครือข่ายไร้สายเท่านั้น แต่จะเป็นแพลตฟอร์ม (platform) ที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น AI, Big Data, Cloud และ IoT เป็นต้น ทำให้สามารถรองรับระบบรถยนต์ไร้คนขับ การใช้งานหรือเล่นเกมส์ผ่านโปรแกรมแบบ virtual reality หรือ VR, augmented reality หรือ AR และ mixed realities ได้ ทำให้มีโอกาสเกิดบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนได้มากมาย เช่น การขายโดยใช้ AR/VR ช่วย, การเชื่อมต่อยานพาหนะเข้ากับระบบควบคุมการจราจรได้, สามารถให้บริการ การปรึกษาทางการแพทย์ทางไกล หรือแม้แต่ผ่าตัดทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ในระบบอุตสาหกรรมจะมีการควบคุมอุปกรณ์เครื่องจักรและหุ่นยนต์ได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น รองรับการใช้โดรนในการเกษตร และ logistics แบบต่างๆ ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงช่วยการควบคุมพลังงานของประเทศผ่านระบบ smart grid ได้ เป็นต้น  เรายังอยู่ในยุค 4G แต่กำลังจะเข้าสู่ยุค 5G ในไม่ช้า

สำหรับระบบแบบ 6G นั้น ยังเป็นแค่ขั้นตอนการตั้งไข่ และยังไม่แน่ชัดว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใดแน่ แต่คาดหมายกันว่าอาจจะรับส่งข้อมูลได้ในระดับ เทระบิต (terabit)/วินาที ซึ่งจะดีกว่า 5G ขึ้นไปอีก 1,000 เท่า และน่าจะมีการนำช่วงคลื่นอื่น เช่น เทระเฮิร์ตซ์ (terahertz) มาเสริมด้วย   

2.การคำนวณและวิศวกรรมควอนตัม (Quantum Computing & Engineering)


             การที่โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคของ 5G ได้เปิดประตูไปสู่โลกของข้อมูลข่าวสาร ที่จะเชื่อมโยงอุปกรณ์ IoT เซนเซอร์ต่างๆ และโลกออนไลน์เข้าด้วยกัน ทำให้ทศวรรษหน้า โลกจะสามารถรองรับข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่ละเอียดและยากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องการหน่วยประมวลผลที่ดีขึ้น  ลองจินตนาการว่า ถ้าในอนาคต คอมพิวเตอร์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นหลายพันเท่าจนสามารถจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว สามารถถอดรหัสดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตที่ยาวมากเป็นพันๆ ล้านหน่วย สามารถสร้างแบบจำลองเพื่อค้นหายาใหม่ๆ ที่ใช้ได้อย่างแม่นยำกับผู้ป่วย หรือสามารถออกแบบวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือในอนาคตเราอาจจะมี อุปกรณ์ หรือเซนเซอร์ที่มีความละเอียดแม่นยำ สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยโรคในการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอผลแล็บหลายวัน หรือเซนเซอร์ที่ใช้ตรวจจับสิ่งปนเปื้อนในอุตสาหกรรมอาหารและยาได้อย่างละเอียด หรือใช้สำรวจการเจริญเติบโตชองพืชผลการเกษตร หรือการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยจากการโจมตีและดักฟัง ทั้งหมดที่กล่าวมา เทคโนโลยีควอนตัม จะเข้ามามีบทบาททำให้ภาพที่เราจินตนาการไว้เกิดขึ้นได้จริง 

Quantum Engineering หรือ วิศวกรรมควอนตัม เป็นการนำองค์ความรู้จากวงวิชาการ มาสานต่อให้เกิดผลผลิตที่ใช้งานได้จริง เช่น การแข่งขันกันพัฒนาและสร้างเครื่อง Quantum Computer ของบริษัทชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น IBM, D-Wave, Intel, Microsoft และอีกหลายบริษัท ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งตัว Quantum Computer นี้ก็จะเป็น hardware ที่จะรองรับการทำงานของ software ที่ประมวลผลแบบ Quantum Computing ในอดีต คอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับพื้นที่ 1 ชั้นในตึก ต่อมาจึงพัฒนาย่อส่วนเล็กลงมาเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่ชิปขนาดเล็ก และในรูปที่เราเห็น Quantum Computer ณ ปัจจุบัน ที่มีขนาดใหญ่ อาจจะมีการย่อส่วนเล็กลงเพียงใด ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

ในส่วนของ Quantum Engineering ไม่ได้มีเฉพาะ Quantum Computer เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการสร้างอุปกรณ์ไฮเทคอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสมรรถนะสูงเกินกว่าเครื่องมือทั่วไป ทั้งในแง่ของความแม่นยำ และความไวหรือ  Sensitivity เช่น การสร้างเซนเซอร์วัดแรงโน้มถ่วงความไวสูง (quantum gravity sensor) เพื่อใช้สำรวจทางธรณีวิทยา และค้นหาวัตถุใต้พื้นผิวสิ่งก่อสร้าง หรือสร้าง เซนเซอร์แสงแบบควอนตัม (quantum optical sensor) ที่นำเอามาใช้ตรวจวัดปริมาณสารเคมี รวมไปถึงการตรวจวัดทางชีวภาพ (chemical & biological probe) เช่น วัดคุณภาพน้ำที่มี sensitivity สูงกว่าเครื่องมือทั่วไปนับหมื่นเท่า  หรือ sensor ตรวจสอบสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กและปริมาณน้อยในตัวอย่าง เช่น อาหาร 

อุปกรณ์อีกอย่างสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ชิปสำหรับนาฬิกาอะตอม (Atomic Clock) สำหรับใช้เทียบค่าเวลาสากล ที่มีความเม่นยำมาก ถึงระดับนาโนวินาที (nano-second) ซึ่งจะสามารถรองรับ transaction ในระบบธนาคาร หรือคำสั่งซื้อในตลาดหลักทรัพย์ที่มีปริมาณถึง 100 ล้านคำสั่งต่อวินาทีได้ 

3.เอไอแห่งอนาคต (Future AI)
ระบบปัญญาประดิษฐ์แห่งอนาคตหรือ Future Artificial Intelligence จะมีส่วนที่เป็นหัวใจหรือสมองของระบบได้แก่ เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ Machine Learning ด้วย เครือข่ายประสาทเทียม ที่เรียกว่า Deep Neural Network ซึ่งสร้างโดยเลียนแบบเครือข่ายเซลล์ประสาทในสมองของคนเรา ระบบแบบนี้ประมวลผลข้อมูลได้จำนวนมาก อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก ในวิถีทางที่ AI ยุคก่อนหน้านี้ไม่เคยทำได้มาก่อน เช่น AlphaGo ที่สามารถล้มแชมป์มืออาชีพที่เล่นโกะได้  นอกจากนี้ ยังมีความเที่ยงตรงแม่นยำสูงมาก จนนำไปใช้ทางการแพทย์ได้ เช่น มีการทดลองนำ AI ชื่อ CheXNet มาวินิจฉัยผลการตรวจโรคปอดบวมแข่งกับรังสีแพทย์ พบกว่า CheXNet ทำงานได้แม่นยำกว่า จึงนำมาใช้เป็นเสมือนผู้ช่วยแพทย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ขาดผู้เชี่ยวชาญ 

แนวโน้มในอนาคตคือ AI จะไม่มาทำงานแทนคน หรือแข่งกับคน แต่จะทำงานร่วมกันหรือเรียนรู้ร่วมกัน เช่น ช่วยวินิจฉัยโรคเท่านั้น ยังแม้แต่จะสร้างเป็นระบบ AI ที่ให้คำแนะนำการผ่าตัด หรือแม้แต่การผ่าตัดแทน ทั้งกรณีที่มีต้องการความละเอียดอ่อนสูง หรือต้องใช้เวลานาน หรือเป็นการผ่าตัดทางไกล  

ในปี 2030 ตลาด AI อาจจะมีขนาดรวมราว 16 ล้านล้านเหรียญ โดยมีจีนเป็นผู้นำที่มีส่วนแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งคือ 7 ล้านล้านเหรียญ  แต่ยังมีจุดอ่อนของระบบแบบนี้อยู่บ้าง เช่น ข้อมูลคำสั่งอาจมีความลำเอียงบางอย่างอยู่ตามรหัสหรือข้อมูลพื้นฐานที่เซตไว้ เช่น ระบบเซนเซอร์ของรถยนต์อัตโนมัติวัดค่าจากสีผิวคนผิวขาว จึงตรวจจับคนผิวสีได้ไม่ดีเท่ากับคนผิวขาว และมีโอกาสเฉี่ยวชนคนผิวสีได้ง่ายกว่า  นอกจากนี้ การที่ AI ดึงข้อมูลส่วนตัวของเราแต่ละคนมาใช้งาน ทำให้อาจมีการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไปจนถึงอาจมีผู้นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปปลอมแปลงข้อมูลได้อย่างแนบเนียน เป็นต้น การเตรียมการป้องกันและตรวจสอบหาช่องโหว่หรือข้อบกพร่องทำนองนี้ จึงมีความสำคัญมาก

ความสามารถของ AI ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ ระบบไซเบอร์–ฟิสิคัล (Cyber-Physical System) ที่เคยกล่าวไปในปีที่แล้ว ทำงานดีขึ้นมาก กล่าวคือมีการส่งผ่านข้อมูลระหว่างโลกอินเทอร์เน็ตกับโลกจริงทางกายภาพ เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ ใช้ sensor ตรวจจับภาพ แล้วส่งข้อมูลภาพ ตำแหน่ง และการเคลื่อนที่ เข้าไปยัง AI ที่ทำงานอัตโนมัติ และเข้าถึงข้อมูลการจราจรอื่นๆ ได้ด้วย AI จึงประมวลผลและสั่งการควบคุมการขับรถได้ในเวลาเสี้ยววินาที  ระบบ AI แบบนี้ สามารถให้บริการรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้แบบ 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน ด้วยประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่มากขึ้น แต่อาจจะทำให้คนขับรถจำนวนมากต้องตกงาน โดยบริษัท McKinsey ประเมินว่าในปี ค.ศ. 2030 ระบบแบบนี้จะทำให้มีงานหายไป 400–800 ล้านตำแหน่ง แต่ก็จะทำให้เกิดงานใหม่ๆ จำนวนเท่าๆ กัน แต่เป็นงานที่ต้องการทักษะที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง 

4.การเดินทางแบบไร้รอยต่อ (Mobility–as–a–Service, MaaS) 

ในมหานครที่การจราจรซับซ้อนและมีทางเลือกมาก แต่ทางเลือกบางอย่างกลับไม่สะดวกนัก การให้บริการนำผู้โดยสารไปยังที่หมายอย่างสะดวกสบายที่สุด ซึ่งเรียกรวมๆ ว่าเป็น Mobility–as–a–Service หรือ แมส (Maas) ก็จะมาช่วยเรื่องนี้ได้

มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีแบบนี้ในปัจจุบัน โดย Frost & Sullivan ประเมินว่า รายได้จากธุรกิจแบบนี้ในปีที่แล้ว (2018) อยู่ที่ราว 140 ล้านเหรียญ แต่ปีนี้น่าจะกระโดดขึ้นไปถึง 1,000 ล้านเหรียญ  ตัวอย่างขนาดของผู้ให้บริการแมสรายใหญ่ 2 รายคือ อูเบอร์ (Uber) ของสหรัฐฯ กับ ตี๊ตี๊ (DiDi) ของจีนนั้น ข้อมูลปี 2017 ระบุว่ามูลค่าของบริษัทตีตีอยู่ที่ราว 56,000 ล้านเหรียญ ขณะที่อูเบอร์มากกว่าคือ 62,000 ล้านเหรียญ ที่น่าสนใจคือ ตี๊ตี๊ เป็นบริษัทที่โตอย่างก้าวกระโดดจากการเทคโอเวอร์บริษัทอูเบอร์ในจีนในปี 2016 ปัจจุบันนี้

นอกจากการนำผู้โดยสารไปยังที่หมายแล้ว ยังบริการส่งของต่างๆ อย่างบริการ GrabFood และ Line Man ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้   ในอนาคต เทคโนโลยีแมสจะใช้ AI ช่วยวางแผนเส้นทางการเดินทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ใช้เวลาน้อยที่สุด และประหยัดที่สุดให้กับผู้ใช้บริการ เป็นตัวช่วยการช่วยเดินทางแบบ on demand ตัวอย่างที่ใกล้เคียงมากกับระบบอนาคตที่มีใช้ในปัจจุบันคือ แอปชื่อ City Mapper ซึ่งเปิดระบบให้ใช้ครั้งแรกในกรุงลอนดอนปี 2011 และปัจจุบันสามารถใช้ได้ใน 39 เมืองใหญ่ ครอบคลุมหลายประเทศ ระบบจะคำนวณตำแหน่งของท่านอย่าง real-time พร้อมกับตรวจสอบเส้นทางของรถประจำทาง หรือรถไฟ หรือยานพาหนะอื่นใดก็ตาม ที่จะวิ่งผ่านจุดนั้น แล้วแนะนำเส้นทางการเดินทางไปยังที่หมายแบบต่างๆ ทั้งหมดที่เป็นไปได้ เพื่อให้ท่านตัดสินใจ บางเส้นอาจต้องต่อหลายหน แต่จะถึงเป้าหมายก่อน บางเส้นทางค่าใช้จ่ายอาจจะต่ำกว่า แต่ใช้เวลามากกว่า แอปนี้ยังให้บริการบัตรโดยสาร ที่เชื่อมต่อได้กับทุกระบบที่มีอยู่อีกด้วย   

นอกจากการเลือกเส้นทางแล้ว ในอีกด้านหนึ่งบริษัทด้านแมสจะแข่งกันจัดหายานพาหนะใหม่ๆ ที่เหมาะสมมาให้บริการเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม, รถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ รวมไปถึงบริการ air-taxi ที่เป็นเฮลิคอปเตอร์หรือยานประเภทอื่นที่บินได้ หรือแม้แต่การเชื่อมต่ออย่างเหมาะสมกับระบบการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เช่น รถไฟความเร็วสูงของประเทศต่างๆ แม้แต่หากจุดหมายปลายทาง ไม่มีรถประจำทางหรือรถไฟวิ่งผ่าน ก็จะให้บริการรถจักรยาน หรือรถสกูตเตอร์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เหมาะที่สุดแทน  

สำหรับอนาคตอันใกล้ สถาบันวิจัย BIS Research ประเมินว่า ตลาดของแมสกำลังเติบโตด้วยความเร่ง เมื่อถึงปี 2028 จะทำเงินได้มากถึง 1.75 ล้านล้านเหรียญ โดยปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตก็คือ ความสามารถในการสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการยานพาหนะ และความสามารถในการให้บริการแบบ on demand อีกทั้งการสนับสนุนอย่างเหมาะสมโดยภาครัฐ ก็ช่วยเรื่องนี้ได้มาก 


5. เซลล์แสงอาทิตย์เพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยปี ปัจจุบันมีความสนใจพลังงานทางเลือกแบบต่างๆ กันมากขึ้น แต่พลังงานทางเลือกทุกแบบที่ทำกันอยู่ ก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง และยังไม่มีแบบใดที่มีคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจมากพอ จนสามารถนำมาใช้ทดแทนพลังจากฟอสซิลได้ งานวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ก้าวหน้าเพิ่มขึ้นมาก จากเดิมรุ่น 1 ที่เป็นแผ่นซิลิคอนแบบผลึกเดี่ยวหรือหลายผลึก กลายมาเป็นรุ่น 2 ที่เป็นฟิล์มบางจากสารอนินทรีย์ และปัจจุบันก้าวหน้ามาเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น เซลล์แสงอาทิตย์แบบพอลิเมอร์, แบบย้อมสีไวแสง และแบบเพอรอฟสไกต์ (Perovskite solar cell)  

เซลล์แสงอาทิตย์แบบเพอรอฟสไกต์ มีโครงสร้างผลึกคล้ายแร่แคลเซียมไทเทเนียมออกไซด์ (CaTiO3) หรือแร่เพอรอฟสไกต์ ที่ดูดซับแสงและเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ดี นอกจากนี้ ยังสามารถขึ้นรูปได้ในลักษณะสารละลายคล้ายกับน้ำหมึกพิมพ์ เพื่อนำไปพิมพ์บนแผ่นฟิล์มหรือพื้นผิวต่างๆ โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำ คือ 30-50% ของเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิลิคอน ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปรับโครงสร้างสารเคมีภายในเซลล์แสงอาทิตย์ได้ จึงเพิ่มประสิทธิภาพได้ง่าย

งานวิจัยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ว่ามีประสิทธิภาพการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นไฟฟ้าเพิ่มจาก 4% เป็น 24% ซึ่งใกล้เคียงกับเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิลิคอน ถือเป็นเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุด โดยมีแนวโน้มจะพัฒนาขึ้นได้อีกในอนาคต Frost & Sullivan ประเมินว่า ตลาดของเซลล์แสงอาทิตย์น่าจะเติบโตไปได้จนถึง 1.4 แสนล้านเหรียญในปี 2025 และด้วยข้อดีของเซลล์แบบนี้ที่มีน้ำหนักเบา และโค้งงอได้ไม่เสียหาย จึงน่าจะนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ ได้

ปัจจุบันมีภาคเอกชนจากสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และจีน ที่ตั้งเป้าผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เพอ รอฟสไกท์ออกขายในปีหน้า  สำหรับประเทศไทย มีภาคเอกชน หน่วยงานวิจัยในมหาวิทยาลัย และ สวทช. ที่ทำวิจัยเรื่องนี้อยู่ โดยนักวิจัย สวทช. พัฒนาทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้างวัสดุในการส่งผ่านอิเล็กตรอน สารเคลือบผิวชนิดกันน้ำและสะท้อนความร้อน รวมทั้งพัฒนากระบวนการเคลือบฟิล์มบาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเสถียรภาพของเซลล์แสงอาทิตย์แบบนี้


6.แบตเตอรี่ลิเทียมยุคหน้า (Next Generation Lithium Ion Batteries)

ในข้อที่แล้ว เราพูดถึงโทรศัพท์มือถือ ผมว่าปัญหาอย่างหนึ่งของสมาร์ตโฟนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันที่หลายคนไม่ชอบก็คือ หลังจากใช้ไปสักพัก แบตเตอรี่จะเสื่อมและใช้หมดไวมาก ทำให้ต้องคอยพกเพาเวอร์แบงก์ติดตัวไปด้วย แถมบางรุ่นก็ชาร์จช้ามาก ทำให้มีรุ่นใหม่ๆ ที่ชาร์จได้เร็ว นำไปใช้เป็นกิมมิกส์โฆษณาได้ แต่แบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบพกพาได้ ก็มีวิวัฒนาการมาหลายรุ่นแล้วนะครับ ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคที่แบตเตอรี่ใช้ นิกเกิล–แคดเมียม ก่อนจะมาเป็น นิกเกิล–เมทัลไฮไดรด์ และลิเทียมไอออน อย่างในปัจจุบัน

การที่ปัจจุบันใช้แบตเตอรี่แบบลิเทียมไอออนกัน เพราะมีความจุพลังงานสูง จึงใช้งานได้หลากหลาย และยังมี ราคาต่อความจุต่ออายุการใช้งานต่ำ จึงได้รับความนิยม มูลค่าตลาดของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับทั้งยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแบตเตอรี่แบบต่างๆ ที่ใช้ร่วมกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อยู่ที่ 36,000 ล้านเหรียญในปี 2018 และเฉลี่ยแล้วเติบโตปีละ 13% ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของแบตเตอรี่แบบนี้ โดยทำได้ถึงมากกว่า 

สำหรับแบตเตอรี่ในฝัน สเปกคือ ใช้งานได้นานมากขึ้น ชาร์จได้ไวขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น แต่น้ำหนักเบาลง ราคาถูกลง และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะยังไม่มีแบตเตอรี่ที่มีคุณสมบัติครบทุกอย่าง แต่ก็มีแบตเตอรี่ที่น่าสนใจหลายแบบ เช่น แบตเตอรี่แบบ Solid–state lithium ion ที่จุพลังงานได้มากขึ้นเป็น 2 เท่า และมีความปลอดภัยมากขึ้น บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีแบบนี้อยู่ เช่น Prologium ของไต้หวันซึ่งจับมือกับบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Enovate ของจีน, Solid Power จับมือกับ Ford และบริษัท Sakti3 ที่บริษัท Dyson เทคโอเวอร์ไป

มีแบตเตอรี่อีกแบบหนึ่งคือ ลิเทียม–ซัลเฟอร์ (Lithium-sulfur) ที่คนหันมาสนใจกัน เพราะจุพลังงานได้มากกว่าแบบลิเทียมไออน 2-4 เท่า แต่ราคาถูกกว่า ตัวอย่างบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้ เช่น Oxis Energy และ Sion Power ส่วนแบตเตอรี่แบบสุดท้ายที่ในวงการสนใจกันอยู่ เรียกว่า ลิเทียม–แอร์ (Lithium-air) แบตเตอรี่แบบนี้จุมากขึ้นถึง 10-100 เท่า แต่เรื่องราคา อายุการใช้งาน และประสิทธิภาพ ยังศึกษากันอยู่  เอ็มเทค สวทช. ก็มีงานวิจัยด้านวัสดุใหม่ๆ และการออกแบบขึ้นรูปเซลล์ในแบตเตอรี่แบบ Solid-state lithium ion และ Lithium-air โดยเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มอายุการใช้งาน และลดราคาต้นทุน


7.โครงเสริมภายนอกกาย (Exoskeleton)

ก่อนหน้านี้ Exoskeleton อาจจะเป็นจินตนาการในอนาคตอันห่างไกล  เห็นแต่ในภาพยนตร์ไซไฟฮอลลีวู้ด อย่างเช่น Elysium, Edge of Tomorrow หรือแม้แต่ Ironman แต่ความฝันแบบนี้อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่เคยคิดกัน 

จะดีไหม ถ้าคนพิการที่เดินไม่ได้ กลับมาเดินได้อีกครั้ง หรือผู้สูงอายุที่ขาไม่ค่อยมีแรง ยืนหรือเดินนานๆ ไม่ได้ จะสามารถเดินได้เองเหมือนคนปกติ ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ หรือคนดูแลผู้ป่วยตัวเล็กๆ จะสามารถยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่น้ำหนักมากที่นอนติดเตียง ได้อย่างสบายๆ ไม่ปวดหลัง หรือคนงานก่อสร้างจะทำงานใช้แรงงานหนักได้ทั้งวัน โดยไม่เมื่อยล้า หรือทหารจะสามารถมีพลังที่เหนือมนุษย์เพื่อปฏิบัติภารกิจ  เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์มีพละกำลังเสริม และยังป้องกันอันตรายบางอย่างต่อร่างกายได้ เรียกอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีนี้ว่า Exoskeleton หรือ โครงเสริมภายนอกกาย

การที่จะสร้าง Exoskeleton ต้องใช้การผสานความรู้และเทคโนโลยีจาก 3 ศาสตร์คือ ชีววิทยา, กลศาสตร์ และอิเล็กทรอนิกส์ คือ ต้องรู้กายวิภาคของมนุษย์ รู้จักสัญญาณจากกล้ามเนื้อ และสัญญาณจากสมอง นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักการออกแบบเชิงกลไก วิทยาการหุ่นยนต์ และ sensor แบบต่างๆ เป็นต้น  

ดังที่ได้เกริ่นไป มีการนำ Exoskeleton ไปใช้ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำภารกิจต่างๆ คือ ใช้กับทางทหาร ใช้กู้ภัย และใช้ ในระบบอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังนำมาใช้ช่วยเรื่องฝึกฝนและสร้างสมรรถภาพของนักกีฬาได้ และในทางการแพทย์ ก็ช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการหรือผู้สูงอายุโดยทั่วไปได้อีกด้วย  ตัวอย่าง Exoskeleton ที่มีการใช้งานแล้ว เช่น ชุด EskoVest ของ Esko Bionics ที่ใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์ของ Ford ทั่วโลก ชุด Chairless chair ของ Noonee ที่เป็นอุปกรณ์สวมใส่ติดอยู่บริเวณเอว ขา และเท้าของผู้ใช้ ซึ่งสามารถกางออกเป็นเก้าอี้ได้ นำไปใช้งานแล้วมากกว่า 350 ชิ้น 

อีกตัวอย่างคือ บริษัท Cyberdyne ที่เริ่มเปิดให้บริการหุ่นยนต์ไซบอร์กทางการแพทย์ HAL เพื่อใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในประเทศไทยในปีนี้ หลังจากการพัฒนาและมีประสบการณ์การใช้งานในญี่ปุ่นมาเกือบ 30 ปี ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าภายในปี 2030 จะมีการใช้งาน exoskeleton อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ และมีอัตราการเติบโตของตลาดไม่ต่ำกว่า 40% ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ไป โดยจะมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านเหรียญในปี 2025 ขณะนี้มีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ exoskeleton ไม่น้อยกว่า 50 บริษัททั่วโลก และมีอย่างน้อย 3 บริษัท ได้เข้าตลาดหุ้นแล้ว 

8.ไฟเบอร์สารพัดประโยชน์จากจุลินทรีย์ (Microbial Multifunctional Fiber)

ในโลกนี้ เส้นใยหรือไฟเบอร์ที่มีมากที่สุดคือ เซลลูโลส (cellulose) ที่มีลักษณะเป็นสายยาว หรือ พอลิเมอร์ (polymer) ที่มีโครงสร้างแบบซ้ำๆ โดยพบมากที่สุดในผนังเซลล์ของพืช ผ้าฝ้ายมีเซลลูโลสมากถึง 90% ขณะที่เนื้อไม้มีเซลลูโลส 40-50% โดยเป็นส่วนที่มีประโยชน์มาก เพราะนำมาใช้ทำกระดาษได้ ที่น่าสนใจคือ มีจุลินทรีย์หลายชนิดที่สามารถสร้างเซลลูโลสได้เช่นกัน แต่เซลลูโลสในจุลินทรีย์ต่างจากเซลลูโลสในพืชคือ แยกออกมาทำให้บริสุทธิ์ได้ง่ายกว่า แข็งแรงกว่า นำมาขึ้นรูปได้ง่ายกว่า และยังอุ้มน้ำได้ดีกว่าอีกด้วย 

ตัวอย่างจุลินทรีย์ที่ผลิตเซลลูโลสได้ ได้แก่ พวก Acetobacter และ Agrobacteria โดยเซลลูโลสที่จุลินทรีย์เหล่านี้สร้างขั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ ทั้งในวงการอาหาร การแพทย์ และอุตสาหกรรม จึงถือเป็นเส้นใยสารพัดประโยชน์ ในวงการอาหาร เซลลูโลสที่จุลินทรีย์เหล่านี้ผลิตขึ้น นำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำอาหารได้ เช่น เติมในวุ้นมะพร้าว เต้าหู ไอศกรีม หรือทำเป็นโปรตีนเกษตร หรือใช้เป็นตัวปรับรสสัมผัสของอาหารได้อีกด้วย ส่วนในทางการแพทย์นั้น มีจุลินทรีย์ที่สามารถเปลี่ยนน้ำตาล Mannitol ได้ เมื่อผ่านกระบวนการอีกสองสามขั้นตอน ก็จะเกิดเป็น ไบโอฟิล์ม (biofilm) ที่มีลักษณะเหมาะสมที่จะนำมาใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ปิดแผล หรือ ผิวหนังเทียม (artificial skin) ได้

มีนักวิจัยจาก ETH Zurich University ที่พัฒนาเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ ที่ใช้จุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นองค์ประกอบได้สำเร็จ ผลิตภัณฑ์เซลลูโลสที่ได้นำมาใช้เป็น นาโนฟิลเตอร์ (nanofilter) ที่ใช้กรองสารพิษได้  นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะผลิตเซลลูโลสจากจุลินทรีย์ในลักษณะนี้ เพื่อนำไปใช้ทดแทน กระดูก กระดูกอ่อน และแม้แต่หลอดเลือด ได้อีกด้วย

สำหรับในด้านอุตสาหกรรม บริษัท Nanollose ในออสเตรเลีย ผลิตเซลลูโลสจากจุลินทรีย์ โดยตั้งต้นจากของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมและการเกษตร และนำไฟเบอร์ที่ได้มาผลิตเป็นเสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ดีต่อสิ่งแดล้อม เพราะไม่ต้องตัดพืช แต่โดยทั่วไปจะให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด มักจะต้องใช้จุลินทรีย์ที่มีการดัดแปลงยีนบางอย่าง ด้วยการจะทำเช่นนี้ได้ ต้องอาศัยความรู้ด้าน Synthetic Biology หรือ ชีววิทยาการสังเคราะห์ ซึ่งถือเป็นสาขาใหม่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา 

9.กายจำลองทดสอบยา (Companion Diagnostics)

ปัญหาใหญ่ของการผลิตยาสมัยใหม่คือ มีหลายขั้นตอน โดยเฉพาะขั้นตอนสุดท้ายคือ การทดสอบในอาสาสมัคร ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ถือเป็นโจทย์สำคัญในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการหาวิธีการทดสอบยาให้ได้ใกล้เคียงกับสภาพร่างกายของคนจริงๆ แต่ทำได้รวดเร็วกว่าและไม่ต้องทำในคนจริงๆ  

ในปี 2015 เราเคยพูดถึงเทคโลยีการเพาะกลุ่มเซลล์สมองที่เรียกว่า Brain Organoid ที่มีขนาดและรูปร่างคล้ายกับสมองของตัวอ่อนในครรภ์อายุ 5 สัปดาห์ มีขนาดเท่าก้อนยางลบดินสอ และส่งถ่ายกระแสประสาทได้จริง จึงใช้เป็นโมเดลในการทดลองต่างๆ ตัดปัญหาจริยธรรมเรื่องการใช้มนุษย์ทดลองยาโดยตรง ปัจจุบันมีการนำมาใช้ศึกษาโรคสมองบางอย่างแล้ว เช่น โรค Alzheimer’s, Parkinson’s, Schizophrenia และ Autism ไม่แต่สมองจิ๋ว ยังมีอวัยวะอื่นๆ อีกหลายอย่างก็เพาะเลี้ยงได้เช่นกัน เรียกรวมๆ ว่าเป็น ออร์แกนอยด์ (organoid) ที่แปลว่า “อวัยวะเล็กๆ” ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ทดสอบที่สำคัญได้ เช่น ตรวจความเป็นพิษ และศึกษาปฏิสัมพันธ์ของเซลล์กับสารออกฤทธิ์ 

ความก้าวหน้าครั้งใหญ่เกิดขึ้นจากระบบที่เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมต่อออแกนอยด์ของอวัยวะต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านระบบของเหลว จนได้ผลลัพธ์คล้ายเป็นร่างกายเทียมขนาดจิ๋ว หรือเป็น “กายจำลอง” ที่นำมาใช้ทดสอบยาได้ จุดเด่นของระบบแบบนี้คือ สามารถออกแบบให้ใช้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ จึงเป็น การแพทย์เฉพาะบุคคล (personalized medicine) แบบหนึ่ง ระบบที่กล่าวมานี้ ในทางวิชาการ เรียกรวมๆ ว่าเป็น Companion Diagnostics หรือ “กายจำลองทดสอบยา”  ระบบแบบนี้ทำให้การทดสอบยากับเซลล์เพาะเลี้ยงแต่ละชนิดเป็นเรื่องล้าสมัย เพราะมันเลียนแบบการตอบสนองของร่างกายจริงๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบีบตัวของเซลล์หัวใจ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์กระดูก การส่งถ่ายและกำจัดสารต่างๆ ออกจากเซลล์ไต รวมไปถึงการเผาผลาญทำลายสารต่างๆ ในเซลล์ตับ เป็นต้น

ระบบแบบนี้ไม่ใช่เรื่องทางทฤษฎีนะครับ มีบริษัทชื่อ CN Bio Innovations ของอังกฤษ ที่พัฒนาแพลตฟอร์ม Organ-on-a-Chip ชื่อ PhysioMimix ที่รวมอวัยวะไว้มากถึง 10 อย่างในแพลตฟอร์มเดียว โดยเซลล์ที่ใช้เป็นเซลล์หลายรูปแบบ ตั้งแต่เซลล์ที่นำออกมาจากร่างกายแล้วเพาะเลี้ยง หรือสเต็มเซลล์ที่เตรียมด้วยวิธีเหนี่ยวนำเปลี่ยนแปลงมาจากเซลล์อื่นของผู้ป่วย เช่น เซลล์ผิวหนัง โดยไม่ต้องยุ่งยากผ่าตัดเอาสเต็มเซลล์จากไขกระดูกผู้ป่วยเลย 

เราเคยกล่าวถึงวิธีการแบบนี้ที่ใช้สร้างสเต็มเซลล์ที่เรียกว่า iPSC ไว้ในปีที่แล้ว  วิธีการสร้างกายจำลองแบบนี้ เป็นระบบในฝัน สำหรับการทดสอบยา เพราะทำได้รวดเร็ว จำเพาะ และมีประสิทธิภาพสูงมาก 

10. วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Vaccine)

เทคโนโลยีสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในวันนี้ น่าตื่นเต้นไม่แพ้เทคโนโลยีอื่นๆ  การรักษามะเร็งของการแพทย์สมัยใหม่ที่ใช้กันอยู่ เช่น การฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาแบบเหมารวม ไม่จำเพาะกับบุคคล แต่ละคนจึงตอบสนองกับยาหรือรังสีแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังมักเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง และบางครั้งผู้ป่วยที่หายแล้ว ก็อาจเป็นมะเร็งเดิมได้อีก 

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงมีความพยายามที่จะทำ วัคซีนหรือยาสำหรับโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคลขึ้น โดยมีวิธีการคือ เริ่มจากนำเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยออกมา “อ่านรหัสดีเอ็นเอ” จากนั้น เปรียบเทียบรหัสในตำแหน่งต่างๆ เพื่อหาว่ามีตำแหน่งใดที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนบ้าง จากนั้น ใช้ซอฟต์แวร์ทางชีวสารสนเทศ หรือ bioinformatics มาจัดลำดับความสำคัญของส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นจุดตั้งต้นในการนำมาสร้างเป็นวัคซีนชนิดพิเศษ เรียกว่า นีโอแอนติเจนวัคซีน (neoantigen vaccine) ซึ่งอาจจะเป็นสาย RNA หรือ DNA ก็ได้  ขั้นตอนทั้งหมดที่ว่ามา ทำได้ในเวลา 6–8 สัปดาห์ จากนั้น จะฉีดวัคซีนดังกล่าวเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย โดยอาจจะใส่เข้าไปเลยแบบนั้น หรืออาจห่อหุ้มเสียก่อนด้วยสารพอลิเมอร์หรือ ไลโปโซม (liposome) ซึ่งวัคซีนแบบนี้ จะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้จดจำเซลล์มะเร็งได้ ก่อนเริ่มการค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งอย่างจำเพาะ โดยไม่ยุ่งกับเซลล์ปกติ

แม้กระบวนการทั้งหมดที่เล่ามา จะทำให้สิ่งที่ได้ดูเหมือน “ยา” มากกว่าวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อ “ป้องกันโรค” แต่เนื่องจากสิ่งที่ฉีดไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในทางวิชาการแล้วจึงจัดเป็น “วัคซีน” มากกว่า บริษัท BioNTech ของเยอรมนี ร่วมมือกับบริษัท Genetech ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทยายักษ์ใหญ่ Roche เริ่มวิจัยความเป็นไปได้ที่จะสร้างวัคซีนมะเร็งแบบเฉพาะบุคคลในปี 2016  และในปีต่อมาก็เริ่มทดสอบในผู้ป่วย 560 คน ที่เป็นมะเร็งแบบต่างๆ มากกว่า 10 ชนิด ขณะนี้ยังรอสรุปผลการวิจัยอยู่ 

ในเมืองไทยมีกลุ่มวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล เช่น กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ดร.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ และทีม โดยได้ศึกษาการสร้างวัคซีนจากผู้ป่วย 25 ราย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อจะนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วย  ถ้าได้ผลดี นี่จะเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการรักษาโรคมะเร็ง และโรคนี้ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งโรคที่เป็นแล้ว ไม่จำเป็นต้องตายเสมอไป

"ถึงตรงนี้ ก็ครบทั้ง 10 เทคโนโลยีที่ควรจับตามองของปีนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก และเราอาจมีบทบาทได้ทั้ง เป็นผู้ใช้ประโยชน์ หรือผู้สร้างและสนับสนุน แล้วแต่เราจะเลือก เหมือน VTR ในตอนต้นที่แสดงให้เห็นว่า สวทช. ก็ได้ทุ่มเททรัพยากรไปกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไม่น้อย และมีผลงานคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ลงทุนไป ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อความเข้มแข็งของวิทยาศาสตร์ของประเทศ และเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศนั่นเองครับ"