โดรนช่วยเหลือทางน้ำ เปิดตลาดใหม่ลุยการแพทย์ฉุกเฉิน/กู้ภัย

โดรนช่วยเหลือทางน้ำ เปิดตลาดใหม่ลุยการแพทย์ฉุกเฉิน/กู้ภัย

ปัญหาอุทกภัยที่หลายจังหวัดกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ นำมาซึ่งการต่อยอด ‘นวัตกรรมโดรนช่วยเหลือทางน้ำ’ เสริมฐานชูชีพลงจอดบนน้ำได้ ทำหน้าที่สนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ เข้าถึงผู้ประสบภัยได้เร็วกว่าทีมแพทย์ปกติ 4 เท่า 

โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles : UAV)  นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญ ที่มาปฏิวัติการทำงานได้แบบอัตโนมัติ เพิ่มความสะดวกให้กับมนุษย์  โดยผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ภายใน ทำให้สามารถควบคุมได้จากระยะไกล ปัจจุบันโดรนได้รับพัฒนาและดัดแปลงเพื่อใช้ในงานหลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็น ภาคเกษตร , ธุรกิจขนส่ง, หรือด้านการทหาร ล่าสุดได้มีการยกระดับไปอีกขึ้นด้วยฝีมือคนไทย ที่บริษัท อาร์แอนด์ดี เอ็นไว-อินโนเทค จำกัด ผสานความคิดร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  นำประสบการณ์จริงผนวกเข้ากับเทคโนโลยีจนกลายมาเป็น ‘นวัตกรรมอากาศยานไร้นักบินเพื่อการสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ’  ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำโดยเฉพาะ 

ปัญหาอุทกภัย’ นำมาซึ่งการต่อยอด ‘นวัตกรรมโดรนช่วยเหลือทางน้ำ’ 
รัตนะ  บุลประเสริฐ  อาจารย์กลุ่มวิชา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมที่ส่งผลงานนวัตกรรมอากาศยานไร้นักบินเข้าร่วมในโครงการประกวดธุรกิจนวัตกรรม UAV Startup 2019 และที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ด้านภัยพิบัติ (Disaster) เปิดเผยว่า จากการที่มองเห็นปัญหาของประเทศไทย นั่นคือเหตุ ‘อุทกภัย’ ที่สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อเกิดสถานการณ์เหล่านี้ขึ้นหน่วยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ทำการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำได้ไม่ครอบคลุมด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในการเข้าถึงจุดเกิดเหตุ ที่อาจมีขนาดเล็กซึ่งเรือชูชีพ หรือ เจ็ทสกี ไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งการขนส่งเวชภัณฑ์ในกรณีฉุกเฉินที่อาจล่าช้าในการเดินทางทำให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือไม่ทันท่วงที นอกจากนี้การตรวจสอบพื้นผิวใต้น้ำที่หน่วยงานของไทยยังไม่สามารถตรวจการสอบได้ 100%

จึงได้พัฒนา ‘นวัตกรรมอากาศยานไร้นักบินเพื่อการสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ’ ที่เป็นงานวิจัยต่อยอดสู่ระบบธุรกิจ ในการช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างตรงจุด ซึ่งตามปกติหน่วยแพทย์ฉุกเฉินจะเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุในเวลาไม่เกิน 8 นาที แต่โดรนสามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ภายในระยะเวลาเพียง 2 นาที จากการทดสอบบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาบนระยะทาง 400 เมตร ผลสรุปว่าโดรนสามารถเดินทางได้เร็วกว่าทีมแพทย์ปกติถึง 4 เท่า พร้อมด้วยความสามารถของ UAV Application ในการปล่อยห่วงยางหรืออุปกรณ์กู้ภัยจำนวน 5-10 ชิ้น โดยใช้การหน่วงเวลาในการทำงาน เมื่อบอลที่บรรจุห่วงยางกู้ภัยสัมผัสกับความชื้นหรือบนพื้นผิวน้ำจะแตกตัวออกเป็นห่วงยางหรืออุปกรณ์กู้ภัยในทันที ซึ่งสามารถช่วยผู้ประสบภัยได้มากถึง 24 คนต่อจำนวนการบิน  1 รอบ โดยใช้แบตเตอรี่ 16,000 – 20,000 มิลลิแอมป์ ใช้งานครั้งละ 2 ก้อน บินได้รอบละ 1-2 ชั่วโมง ด้วยการสั่งงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ยังพร้อมไปด้วยพื้นที่ใส่อุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 60 กิโลกรัม อีกทั้งสามารถประเมินสถานการณ์เบื้องต้นของเหตุฉุกเฉินทางน้ำได้ เช่น คนกระโดดน้ำ ,หรือจมน้ำ ผ่านระบบการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ นักจิตวิทยา  หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันยังมีการติดกล้อง Thermal camera หรืออุปกรณ์เพื่อช่วยประเมินพฤติกรรมของผู้ป่วยทางการแพทย์ โดยสื่อสารผ่านวิทยุไร้สายได้ในระยะกว่า 5 กิโลเมตร ขณะเดียวกันยังมีการติดตั้งระบบ Sonar sensor ในการสำรวจพื้นน้ำระยะความลึก 5-100 เมตร เพื่อช่วยสร้างแผนที่ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว 

ช่องทางต่อยอด ‘งานวิจัย’ สู่โมเดล ‘ธุรกิจ’

ในส่วนของ ‘นวัตกรรมอากาศยานไร้นักบินเพื่อการสนับสนุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ’ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ที่อยู่ระหว่างการวางแผนติดตั้งระบบปฏิบัติการ ได้แก่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ (สพฉ.) ,คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และกลุ่มผู้ประกอบการไลฟ์การ์ดบริเวณชายหาดในสถานที่ท่องเที่ยว โดยราคาอยู่ระหว่าง 2-3 แสนบาทต่อเครื่อง ส่วนแหล่งที่มาของรายได้ที่มีการวางเป้าหมายไว้ คือ 1.จัดจำหน่ายโดยตรงกับผู้บริโภคในสัดส่วน 20%  2.ระบบสมาชิก 20%  และ 3.การรับอบรมและพัฒนาให้กับสถาบันการศึกษาหรือองค์ต่างๆ ในสัดส่วน 60%  สำหรับแผนธุรกิจ และการขยายผลเกี่ยวกับตลาดในปีนี้ทางทีมงานจะมีการพัฒนา และวิจัยเพิ่มเติม โดยใช้งบประมาณ 5-10 ล้านบาทต่อปี ส่วนในอนาคตมีแผนจะขยายธุรกิจในต่างประเทศโดยให้บริการ ฝึกอบรม และจำหน่ายซอฟต์แวร์ฮาร์ดแวร์ ให้แก่หน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์กรไม่แสวงหากำไรในส่วนงานของ UN หรือ หน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติเพื่อนำไปช่วยประเทศที่เกิดภัยธรรมชาติทางน้ำต่อไป

วงการแข่งขันแคบ เร่งปั้นนวัตกรรมรับตลาดโลก

พร้อมทั้งมองว่า ‘นวัตกรรมอากาศยานไร้นักบิน’ ยังเป็นตลาดที่กว้างมีเพียงไม่กี่ประเทศที่พัฒนานวัตกรรมนี้ เนื่องจากต้องอาศัยวัสดุเฉพาะทาง และการเขียนระบบปฏิบัติการที่ครอบคลุม ซึ่งไทยนับว่ามีระบบปฏิบัติการที่แม่นยำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งการใช้งานอากาศยานไร้นักบินประเภท ‘การแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำ’ นั้นยังไม่มีประเทศไหนคิดค้นขึ้นมาซึ่งหากใช้ในทางการแพทย์มีเพียงโดรนขนส่งเวชภัณฑ์ธรรมดาเท่านั้น จึงทำให้นวัตกรรมนี้กลายเป็นที่ยอมรับของสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ หากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตั้งแต่ต้นทางโดยเริ่มจากขั้นตอนการริเริ่มโครงการไปจนถึงปลายทางความสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆทั่วโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ