'ครูสลา' อาลัย สิ้นศิลปินนักสู้ 'ทนง โคตรชมพู'

'ครูสลา' อาลัย สิ้นศิลปินนักสู้ 'ทนง โคตรชมพู'

ตำนานศิลปินนักสู้ชีวิต! "ครูสลา" อาลัย สิ้น "ทนง โคตรชมพู" ย้ำผู้ไม่ยอมจำนนต่อคำสาปสวรรค์ ฝึกฝนและสร้างสรรค์งานศิลป์

กรณี "ทนง โคตรชมพู" ศิลปินวาดภาพด้วยปาก ได้เสียชีวิตลงก่อนรุ่งเช้าวันนี้ ล่าสุดศิลปินและครูนักแต่งเพลงชื่อดัง "สลา คุณวุฒิ" ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

"..เกินร้อย
ในน้อยหนึ่ง.."

ทราบข่าวการจากไปของ ทนง โคตรชมพู
ด้วยความอาลัยยิ่ง

..ทนง โคตรชมพู ศิลปินวาดภาพด้วยปาก ชาว อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ..สวรรค์อนุญาตให้ใช้ร่างกายที่เต็มร้อย เพียงช่วงอายุไม่เกิน 10 ปี..จากนั้นก็ป่วยเป็นโรคร่างกายอ่อนแรง แขนขา หมดแรง ขยับได้แค่มือเพียงข้าง ..จากคนที่สมบูรณ์เต็มร้อย จึงต้องนั่งรถเข็น..อาการที่เป็น เหมือนไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการทางพันธุกรรม อย่างหนึ่งในครอบครัว นอกจากทนงแล้วยังมีน้องสาวอีกคนที่มีอาการอย่างเดียวกัน..

\'ครูสลา\' อาลัย สิ้นศิลปินนักสู้ \'ทนง โคตรชมพู\'

..แต่ทนง หัวใจก็ทนง สมชื่อ เขาไม่ยอมจำนนต่อคำสาปสวรรค์ ฝึกฝนและสร้างสรรค์งานศิลป์ โดยใช้ปากคาบพู่กัน เสกศิลป์ด้วยปาก ได้ผลงานเทียมเท่าหรือยิ่งใหญ่ดั่งเช่นศิลปินเอกของโลก

ความสมบูรณ์ของร่างกายที่เหลือน้อย แต่เขานำมาใช้เกินร้อยอย่างน่าอัศจรรย์

อาการของ อ.ทนง ทรุดหนักลงในช่วง กว่า 10 ปีที่ผ่าน จนเวลา 05.09 น.ของคืนวันที่ 8 กันยายน 2562 เพื่อนๆ ก็ส่งข่าวว่า ทนง โคตรชมพู ได้จากไปแล้ว

สู่สุคติเถิดน้องรัก ขึ้นไปพักบนสวรรค์ชั้นสูงส่ง ศิลป์ที่เสก งานที่รัก จักดำรงเป็นแบบเรียน "วิชาทนง" ให้แผ่นดิน
..ด้วยใจ อาลัยยิ่ง..

................................

ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติ "ไพวรินทร์ ขาวงาม" เคยโพสต์เฟซบุ๊คถึง "ทนง โคตรชมภู" ดังนี้

‘บุญทิ้งผู้พิการกาย’ แห่ง ‘หัวใจที่ไม่ยอมแพ้’
ปากคาบพู่กัน บันดาลมหัศจรรย์ชีวิตแห่งศิลปะ
*
‘วัยเด็กถือเป็นช่วงสดใสเบิกบาน อาจเป็นเพราะร่างกายสมบูรณ์ครบถ้วน ค่อนข้างซุกซน ช่างอยากรู้อยากเห็น คนอยู่รอบข้างจึงถูกตั้งคำถามจนคร้านจะตอบ หลายครั้งที่ถูกตอบแบบโกหก แต่เอาไปถามคนอื่นต่อ ได้คำตอบใหม่ที่ถูก ก็รีบกลับมาให้เขายืนยันว่าโกหก ค่อนข้างเรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่งตลอด ถูกคาดหวังมากที่สุดของพ่อแม่ที่เป็นชาวนาชนบท จะได้เห็นลูกเป็นเจ้าเป็นนาย...ชอบอ่านหนังสือ แรงจูงใจคือเป็นคนชอบดูภาพประกอบในหนังสือ พอดูแล้วก็อยากรู้ว่าเป็นภาพเกี่ยวกับอะไร ทีแรกอ่านไม่ออก ก็ไปถามพี่ชายพี่สาว จนเขาขี้เกียจตอบ เลยฝึกหัดอ่านเอง พออ่านได้จึงสนุกเพลิดเพลิน โดยเฉพาะการอ่านการ์ตูนให้เพื่อนฟัง...ชอบวิชาวาดเขียน ยิ่งครูศิลปะให้วาดรูปตามใจชอบยิ่งสนุก มีอยู่ครั้งหนึ่ง อ่านเจอเรื่องราวสองพี่น้องตระกูลไรท์ จินตนาการอยากบินได้เหมือนนกแล้วผลิตเครื่องร่อน เลยวาดรูปเหมือนเขาส่งครู ครูชมว่าวาดได้เหมือนมาก คำชมของครูวันนั้นจุดประกายให้ลุกขึ้นเขียนรูปอย่างจริงจัง...ชอบฟังเพลง เวลามีงานบุญ หรืองานพิธีต่างๆ เขาจะตั้งเครื่องกระจายเสียง ไม่พลาดที่จะชวนเพื่อนวิ่งไปดู จนเขาเปิดเครื่อง เราได้ฟังเพลงและขอเพลงที่ชอบ ชอบเสียงพิณเสียงแคนจากวงดนตรีพื้นบ้านในงานประเพณี วงดนตรีสากลจากรำวงงานวัด เสียงเทศน์มหาชาติ ที่พระอาจารย์เทศน์เรื่องราวชูชก กันหา ชาลี เคยนั่งร้องไห้กับหมอลำต่อกลอนที่เขาออกอากาศทางสถานีวิทยุ...ได้เจอยายคนหนึ่งในหมู่บ้าน ชื่อยายคูน...แกพูดกลอนผญาเก่ง เจอกันเมื่อไหร่จะด้นกลอนสดเรื่องราวปัจจุบันตรงนั้น สนุกมาก เด็กกลุ่มเราจึงเป็นขาประจำ เหมือนไปรอฟังนิทานจากกวีพื้นบ้าน...’
(ทนง โคตรชมภู, พฤหัสบดี ๘ เมษายน ๒๕๕๓)

\'ครูสลา\' อาลัย สิ้นศิลปินนักสู้ \'ทนง โคตรชมพู\'
*
หนึ่ง : ‘บุญทิ้ง บ้านถ่อน’ ผู้พิการกาย แต่มี ‘หัวใจที่ไม่ยอมแพ้’
ทนง โคตรชมภู, (นามเดิม บุญทิ้ง) ห้วงเวลานี้ย่อมคุ้นเคยกันทางสังคม ในฐานะจิตรกรขาลีบ แขนลีบ นั่งวิลล์แชร์ ทว่าสามารถใช้ปากคาบพู่กันวาดรูปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ผลงานฝีปากทนง ประจักษ์ต่อผู้คนทั้งในและนอกวงการศิลปะ การปรากฏตัวของเขามิใช่เรื่องปกติ หากโดดเด่นราวนิยาย อาจนำไปสร้างหนังละครได้อย่างเข้มข้น เราสามารถติดตามเรื่องราวชีวิตเขาได้หลายช่องทาง ทั้งทางโทรทัศน์ย้อนหลังหลายรายการ โดยเฉพาะ ‘ชีวิตทนง อหังการ์ของหัวใจที่ร่างกายไม่อาจกักขัง’ เรียบเรียงโดย ภาณุมาศ ภูมิถาวร
ณ ที่นี้ เพียงขอเฉือนบางฉากมาฉาย ในฐานะผู้หนึ่งที่ได้พบและผูกพันกับเขามานานปี และยังพบกันเนืองๆ ในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะค่ายกองทุนศิลปินครูบ้านป่า สลา คุณวุฒิ
หลายปีก่อนโน้น ตอนทำ ‘ชีวิตต้องสู้’ กับ สันติ เศวตวิมล ผมได้รับมอบหมายออกภาคสนามสัมภาษณ์ศิลปินพิการ เป้าหมายเราคือบ้านถ่อน ท่าบ่อ หนองคาย ไม่คาดคิดว่าบุคคลที่ไปพบ จะไม่เพียงพบแล้วผ่าน ประสานักข่าวกับแหล่งข่าว หากยังผูกถ้อยร้อยกรองใจจนถึงวันนี้ ไปไหนมาไหนด้วยกัน อบอุ่นคุ้นเคยดุจพี่น้อง ผมนับถือเขา เขานับถือผม หลายครั้งที่เขาเข้ากรุงเทพฯ เราต้องนัดกินดื่มกันตามสมควร ต่อสะพานให้เขาได้พบผู้คนในวงการนักเขียนตามกำลัง กระทั่งเชื่อมโยงสู่เส้นทางค่ายครูสลาฯ ทำให้เขาได้ออกงานทุกครั้ง เป็นพระเอกของงานทุกงาน พลังชีวิตอันมีอยู่จำกัดของเขาได้ใช้ออกไปอย่างมีคุณค่า ต่อหน้าคนหลายกลุ่มอาชีพผู้มองเขาด้วยความทึ่ง ในฐานะแรงบันดาลใจพิเศษ
‘คนอื่นมี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อาจใช้ไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ ผมมี ๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้มันเต็มร้อย’
ปรัชญาจากชีวิตจริงของเขา ผมทั้งคุ้นเคย และได้นำมาใช้ใคร่ครวญตน ผู้พิการที่เหมือนถูกโซ่ตรวนชะตากรรมพันธนาการทั้งแขนและขา หากหัวใจอิสระโบยบินเยี่ยงนก ว่ากันว่า–เขาเดินทางไกลและมากกว่าคนอวัยวะครบ ๓๒ ประการหลายคนเสียอีก เขามีรถกระบะส่วนตัว ไปไหนมาไหนมีผู้ดูแลอย่างดี เขาบินไปโน่นไปมานี่ ทั้งในและนอกประเทศ

\'ครูสลา\' อาลัย สิ้นศิลปินนักสู้ \'ทนง โคตรชมพู\'


ล่าสุด เพิ่งไปแสดงนิทรรศการร่วมที่โตเกียว และนิทรรศการเดี่ยวที่ออสเตรเลีย
‘ไม่มีใครสมบูรณ์แบบครบถ้วน ไม่มีใครบกพร่องทุกประการ’
เวลาพูดต่อหน้าผู้คน ถ้อยคำของเขาเต็มไปด้วยแก่นสาร กร้าวแกร่งและอ่อนไหวในที ไม่ใช้ปมด้อยเรียกร้องความสงสาร หากปลุกปลอบซึ่งพลังใจ หลายครั้งเป็นปรัชญา หลายคราเป็นบทกวี
‘บ่อยครั้งที่ฟังเพลงแล้วมีแรงบันดาลใจอยากเขียนรูปอย่างหนักหน่วง ต้องได้ลุกขึ้นมาเขียนรูปถึงคลายความอึดอัดได้ หลายครั้งที่อ่านบทกวีแล้วหลงเพ้อออกมาเป็นบทเพลง แม้ภาพเขียนบางภาพยังมาโลดแล่นในเนื้อร้องทำนองเพลงของผมบ่อยครั้ง คิดว่าศาสตร์ศิลป์เหล่านี้ใช้แรงบันดาลใจที่ไม่แตกต่าง แตกต่างวิธีการสื่อและถ่ายทอดเท่านั้นเอง...’
‘หัวใจที่ไม่ยอมแพ้’, ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา คีตกวีที่เขาเคารพ เป็นผู้ประพันธ์ให้ ขับร้องโดย สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินที่เขารัก
‘หัวใจดวงหนึ่ง
ซึ่งแกร่งเหมือนดั่งภูผา
สดใสงดงามสง่า
ในร่างของชายพิการ
ถึงแขนละขา
ไม่มีแรงจะทำงาน
ก็ไม่อาจขวางกั้น
หัวใจที่ไม่ยอมพ่าย...’
*
สอง : ล้มลง แล้วลุกขึ้น หยัดยืนอย่างทระนง
เกิดเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน เรียนชั้นประถมฯ โรงเรียนชุมชนบ้านถ่อน เริ่มวาดรูปตั้งแต่อายุสิบขวบ ปัจจุบันเป็นจิตรกรอิสระ เมื่อวัยสัก ๑๒ ปี ชีวิตเขาพลิกเปลี่ยนอย่างคาดไม่ถึง ด้วยโรคภัยบางชนิดเข้ายึดคืนเอาซึ่งพลังขาและแขนของเขาไป หลายปีต่อมา ขาและแขนของเขาก็ลีบเล็กจนใช้งานไม่ได้
‘ขณะพลังความคิดสร้างสรรค์มุ่งมั่นแรงกล้า มันสวนทางกับพลังแรงกาย ที่กลับอ่อนล้าโรยลง ตอนนั้นได้แต่ปลอบใจตัวเอง เวลาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น กลบเกลื่อนและลืมมัน เหมือนต้องต่อสู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ดูเหมือนผมแพ้แล้วโดยสิ้นเชิง ขณะมือที่ยกพู่กันวาดรูปนั้น ไม่อาจยกขึ้นวาดรูปได้อีก ร่างกายเหมือนถูกตรึงด้วยพันธนาการแล้วตลอดชีวิด แต่นั่นไม่ได้บั่นทอนความศรัทธาของหัวใจที่ได้ชื่อว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ แรงกายที่เหลืออยู่น้อยนิด ทำให้เราได้รู้ว่ามันมีคุณค่ามหาศาลที่ต้องดึงออกมาใช้อย่างเต็มกำลัง...เท่านี้ผมก็ไปต่อได้ในถนนสายปรารถนา...’
นอกจากวาดรูป ยังชอบอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ แต่งเพลง ร้องเพลง ครั้งหนึ่งเขาแต่งเพลงเกี่ยวกับการแรมทางไกลของชีวิต ทั้งฝันถึง พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ขับร้องให้ ผมผ่านถึงปู ปูเต็มใจเข้าห้องบันทึกเสียงขับร้องให้อย่างดี เพลงนี้น่าจะอยู่ในช่วงเตรียมเผยแพร่โครงการอะไรสักอย่างของเขา ทนงมีความเป็นกวีและนักดนตรี เขาชอบร้องเพลง เช่น ‘ขุนเขายะเยือก’ ของ นิด ลายสือ หรือ ‘ฝันบนถนนเปลี่ยว” ของผมกับ ชูเกียรติ ฉาไธสง เพลงเหล่านี้เขามักขอขยายปอดเรียกเลือดลมก่อนนำเข้าสู่เรื่องราวชีวิตตัวเอง บางครั้งเขาหงายกีตาร์ ใช้แรงนิ้วน้อยๆ ร่วมบรรเลงอย่างถึงอารมณ์ ระหว่างนี้เขากำลังร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่ทำดนตรีและบทกวีในชุด ‘สุดปลายปีกฝัน’
‘สู่ขวัญหัวใจ’, เป็นเพลงที่เขาแต่งให้ ต่าย อรทัย ขับร้อง
‘พลิ้ว...ใบข้าว บอกลมหนาวข่าวรักไป
เอิ้นขวัญหลงทาง ให้หวนกลับคืนหัวใจ
เร่งเติมเชื้อไฟ พยุงหัวใจขึ้นหยัดยืน...’
ฟังเพลงนี้แล้ว อดมิได้ที่จะหยาดหยดบางกลุ่มถ้อยคำถึงเขาใน ‘แรงบันดาลใจเหนือกายพิการ’
๏ ‘ปล่อยความรักผ่านพบอิสรภาพ’
มิขังเบื้อง กำแพงบาป บอดใบ้
ที่สุด ยังมี ซึ่งหัวใจ
ต้องรับ ต้องให้ ต้องใช้มัน
๏ ‘ปล่อยความหวังโบยบินสุดปีกผีเสื้อ’
ชีพเหลือ จริงพร่อง สมบูรณ์ฝัน
มือเล็ก เท้าลีบ มิตีบตัน
ปากหยัด กัดฟัน ทะยานยุค
๏ ‘ล่องโลกธาตุปาดป้ายด้วยปากเอก’
ลงอักขระ ลงเลข เสกศิลป์สุข
นำศรัทธา เหนือพิการ น่านฟ้าทุกข์
ปลอบปลุก จิตวิญญาณ ยิ่งยืนยง
๏ ‘บุญทิ้ง บ้านถ่อน ณ บ้านทุ่ง’
สีรุ้ง สีปฐพี สีพิศวง
จิตรกร จิตรกรรม ค้ำคนคง
อัศจรรย์ ใจ ‘ทนง โคตรชมภู’
© ไพวรินทร์ ขาวงาม
เนชั่นสุดสัปดาห์
ศุกร์ ๙ เมษายน ๒๕๕๓
รวมเล่ม ‘เพลงกวีเปลี่ยนชีวิต’

\'ครูสลา\' อาลัย สิ้นศิลปินนักสู้ \'ทนง โคตรชมพู\'
*
๏ ขอนำข้อเขียนและภาพเก่าบางส่วน ฝากอ่าน ฝากชม ฝากรับรู้บางฉากชีวิตของ ทนง โคตรชมภู ผู้เพิ่งพ้นผ่านสถานีชีวิตสู่สัมปรายภพ
๏ โดยส่วนตัว รู้จัก รักผูกพันกัน กว่า ๒๕ ปีแล้ว ตั้งแต่เขาเริ่มเปิดตัวต่อสื่อมวลชนในนาม จิตรกรพิการ ผู้วาดภาพด้วยปาก
๏ ช่วงหลังเขาป่วยหลายปี ว่าจะไปเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้โอกาสสักที จึงเมื่อเวลานั้นมาถึง ต้องหาทางเยี่ยมในช่องทาง หรือมิติอื่น
(ไพวรินทร์ ขาวงาม อา. ๘ กันยายน ๒๕๖๒)