ESG โจทย์ชัดความยั่งยืน ‘เซ็นทรัล รีเทล’

ESG โจทย์ชัดความยั่งยืน ‘เซ็นทรัล รีเทล’

ยึดหลักความใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล (ESG) มาใช้เป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน

นี่คือ "จุดยืน" ของ "เซ็นทรัล รีเทล" ซึ่ง  “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานกรรมการ เซ็นทรัล รีเทล ได้ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจเมื่อเร็วๆนี้   ทั้งยังบอกด้วยว่าแท้จริงแล้ว สังคมธุรกิจในเมืองไทยมีความคิดและได้นำเอาเรื่องของสังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม มาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจมาพักใหญ่ๆแล้ว


อาจกล่าวได้ว่า “ล้ำหน้า” กว่า “บิสิเนส ราวด์เทเบิล” ที่มีซีอีโอจาก193 บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกมาประชุมกันที่สหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้และเพิ่งมีการพูดกันถึงวัตถุประสงค์สูงสุดของธุรกิจซึ่งเดิมว่าด้วย การสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นเท่านั้น ขณะที่โลกปัจจุบันจำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ที่มากไปกว่า แน่นอนผู้ถือหุ้นก็ยังคงสำคัญ แต่ต้องมองถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดด้วย


"เซ็นทรัล รีเทล เป็นบริษัทจำกัด และเป็นแฟมิลี่ บิสิเนสซึ่งดำเนินธุรกิจมาถึง 72 ปีแล้ว เวลานี้เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กำลังจะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คิดว่าจึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะมาเล่าให้ฟังว่า เรามีแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างไร ซึ่งเราเชื่อว่ามันไม่ใช่กิจกรรมพิเศษ แต่เป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจ"


การพัฒนาอย่างยั่งยืนคืออะไร? ดร.ประสารบอกว่าความหมายสำหรับเซ็นทรัล รีเทลก็คือ การพัฒนาต่อเนื่องให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน นัยหนึ่งก็คือการไม่ไปเบียดเบียนคนในอนาคต คำว่ายั่งยืนก็คือ การไม่ไปเอาเปรียบคนในอนาคต เหมือนถ้าพูดถึงสิ่งแวดล้อม ก็คือการที่เราไม่ไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนหมดกระทั่งไม่เหลือให้คนอนาคตได้ใช้ เป็นต้น


"มีคนถามผมเสมอว่าเรื่องนี้มีหลัก มีคู่มือในการคิดอย่างไร ผมก็จะบอกว่ามีกฏง่ายๆอยู่ 3 ข้อ ข้อแรกก็คือเวลาที่เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะต้องไม่คิดถึงแต่ผลระยะสั้น แต่ต้องคิดถึงผลระยะยาวด้วย ข้อสอง เวลาพูดถึงประโยชน์ ก็อย่าคิดถึงแค่ประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นและส่วนรวมด้วย ข้อสาม อย่าเน้นการเติบโตเฉพาะปริมาณ แต่คิดถึงการเติบโตในเชิงคุณภาพด้วย ถ้าเราจำหลักทั้ง 3 ข้อนี้ได้ ไม่ว่าจะทำเรื่องอะไรก็จะช่วยนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายนั่นคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน"


และยอมรับว่าแรกเริ่มธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล รีเทลก็เหมือนธุรกิจทั่ว ๆไปที่อาจมองแต่ประโยชน์ส่วนตน มุ่งเน้นเรื่องลูกค้าและพนักงานเป็นหลัก แต่ก็ค่อยๆขยายความใส่ใจออกไปถึงเรื่องชุมชน สิ่งแวดล้อม ฯลฯเพื่อให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่มีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่กว้างขวางและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะความเสียหายต่างๆ มันก็จะสะท้อนมาถึงธุรกิจได้ในที่สุด


"ตำราเศรษฐศาสตร์ในอดีตเคยพูดว่าธุรกิจก็ทำธุรกิจ ส่วนต้นทุนสังคมเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่งหน้าที่คือเก็บภาษี เดิมแยกออกจากกันแต่คอนเซ็ปต์ของเราไม่ได้แยก เพราะมองว่าทั้งสองส่วนนี้ดูลึกๆแล้วมันสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก ยกตัวอย่างข่าวพะยูนมาเรียมที่เสียชีวิตจากขยะพลาสติก ทำให้ได้เห็นต้นทุนทางสังคมที่ชัดเจน ถ้าเราบอกว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐเพราะเขาเก็บภาษีจากเราไปแล้ว ก็ต้องออกกฏหมายหรือหาวิธีการแก้ไขให้ได้ แต่ถ้าเราทิ้งไว้แบบนี้ท้ายสุดชายหาดก็จะไม่น่ามอง จุดท่องเที่ยวที่เคยเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวก็จะเสื่อม และถ้าเราทำธุรกิจท่องเที่ยวเช่นโรงแรมเราก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย"


หรือในเรื่องของการศึกษา ที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ มีเยาวชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพแรงงาน ดังนั้นหากเพิกเฉยธุรกิจก็จะได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อธุรกิจเติบโตก็ต้องจ้างพนักงานที่มีคุณภาพ หรือในเรื่องของรากหญ้าหากพวกเขามีรายได้ไม่ดี มีกำลังซื้อไม่ดี ก็จะไม่มีใครมาซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นต้น


"เป็นที่มาที่เราพยายามพัฒนาความคิดเรื่องพวกนี้ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการใช้กรอบ ESG แต่ในฐานะผู้บริหารเราก็ต้องหวังผล จึงต้องมีโฟกัส มีการตั้งโจทย์ให้ชัดเจน เพื่อจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม เรื่องพวกนี้มันคือ Journey ที่ต้องวางเข็มทิศ ไม่ได้ทำเสร็จแล้วก็จบๆ"


จากกรอบ ESG เซ็นทรัลได้ทอนออกเป็นโครงการต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ก็มีโครงการลดปริมาณขยะมูลฝอยผ่านโครงการปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกและตั้งเป้าจะลดปริมาณการใช้ให้ได้กว่า 150 ล้าน ในปีนี้ (จากปริมาณการใช้ปีละกว่า 450 ร้อยล้านใบ) ซึ่งคิดเป็นร้อยละกว่า 30 ของปริมาณการใช้ถุงพลาสติกทั้งหมด และมีการคัดแยกและการบริหารจัดการขยะตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และจัดการกับอาหารเหลือทั้งอาหารที่ทานได้และรับประทานไม่ได้เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างประโยชน์ต่อสังคมมากที่สุด


ตลอดจนมีโครงการเพื่อลดปริมาณมลพิษด้วยการใช้พลังงานสะอาด เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าและช่วยลดระดับภาวะแก๊สเรือนกระจกได้ถึง 3,300 ตันคาร์บอนไดออกไซต์ต่อปี ตลอดจนยังมีโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและปรับภูมิทัศน์ของชุมชนที่อยู่โดยรอบศูนย์การค้าให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างเช่น โครงการเซ็นทรัลกรีน และโครงการฟื้นฟูปลูกป่าทั่วประเทศ เป็นต้น


ด้านสังคม (Social) มีการนำเอาทรัพยากรและความรู้ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมาต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าและประโยชน์ร่วมกับชุมชน โดยให้ความสำคัญทั้งด้านการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนและคนพิการ การสนับสนุนการศึกษา และการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนากับสถาบันอาชีวะ เพื่อผลิตนักศึกษาที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของตลาด การส่งเสริมอาชีพแก่ผู้พิการเพื่อขยายโอกาสและความเท่าเทียมให้ทุกคน ด้วยการก่อตั้งศูนย์คอนแท็คเซ็นเตอร์ร่วมกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ


นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น นอกจากด้านเงินทุนก็ยังช่วยเหลือส่งเสริมเกษตรกรและชาวบ้านตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทางอย่างยั่งยืน เช่น โครงการ Farmer’s Market ที่จัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าชุมชนภายในศูนย์การค้าของเครือเซ็นทรัล รีเทล มีการแบ่งปันความรู้ด้านการค้าปลีกให้กับเกษตรกร และสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ มีโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชุมชน เช่นการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ผ้าทอของชุมชนนาหมื่นศรีในจังหวัดตรัง กระทั่งกลายเป็นแห่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจภายในชุมชน เป็นต้น


สุดท้ายคือธรรมาภิบาล (Governance) ความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม ปัจจุบันเซ็นทรัล รีเทลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดและไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อย ทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยนอกเหนือจากคณะกรรมการบริหาร มีนโยบายการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานแต่ละส่วนอย่างชัดเจน ทั้งมีนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นให้พนักงานทุกระดับรับทราบแนวทางปฏิบัติและข้อกำหนดเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการดำเนินการที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น