สศอ.ศึกษามาตรการเวียดนาม ดึงอุตฯย้ายฐานหนีสงครามการค้า

สศอ.ศึกษามาตรการเวียดนาม ดึงอุตฯย้ายฐานหนีสงครามการค้า

แนะแพ็คเกจใหม่จะต้องเน้นความรวดเร็วให้ตั้งโรงงานได้เร็วที่สุดป้องกันลูกค้าหาย นักลงทุนเผยมาตรการ อีอีซี ไทยดึงดูดกว่า ชี้ไม่ควรเทียบเวียดนาม ควรดูตัวอย่างประเทศที่พัฒนามากกว่า

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศอ. อยู่ระหว่างการศึกษาเปรียบเทียบการลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศเวียดนาม เพื่อนำเสนอให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์การดึงดูดการลงทุนของไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้

โดยการดึงดูดนักลงทุนที่หนี้จากผลกระทบสงครามการค้าจะต้องมีแพ็คเกจพิเศษที่ชัดเจน เพื่อให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง และเข้าถึงความต้องการอย่างตรงจุด ซึ่งมองว่าเป้าหมายหลักของมาตรการส่งเสริมการลงทุนนี้จะต้องเน้นที่ความรวดเร็ว โดยจะต้องลดขั้นตอน และเร่งรัดการพิจารณาออกใบอนุมัติอนุญาตที่รวดเร็ว เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะต้องรีบเข้ามาตั้งฐานการผลิต เพื่อไม่ให้ลูกค้าที่มีอยู่หายไป เพราะถ้าหายจะกู้กลับคืนมายาก รวมทั้งอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นจะต้องเป็นขนาดกลางไม่ใช้แรงงานมากนัก และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไทยสู้เวียดนามในเรื่องของค่าจ้างแรงงาน จำนวนแรงงาน และขนาดการเติบโตของตลาดได้

ทั้งนี้ ไทยจะต้องเตรียมจัดหาพื้นที่รองรับ ซึ่งควรจะเป็นลักษณะการให้เช่าที่ดินเพื่อตั้งโรงงาน ให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปจะดีกว่า เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเมื่อเห็นว่าธุรกิจดำเนินไปได้ดีก็ค่อยๆ เข้ามาลงทุนซื้อที่ดินก่อสร้างโรงงานเพื่อเป็นฐานการผลิตในระยะยาวต่อไป ส่วนในการลดภาษีคงจะไม่ต้องปรับ เพราะนักลงทุนกลุ่มนี้จะเน้นที่ความรวดเร็วมากกว่าเรื่องการลดภาษี

โดยแพ็คเกจเพื่อดึงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าควรจะกำหนดระยะเวลาการขอรับการส่งเสริมที่ชัดเจน และไม่ควรเกิน 1 ปี หากถึงกำหนดก็ไม่ควรต่ออายุมาตรการนี้ เพื่อเร่งให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ และหากนักลงทุนรอเกิน 1 ปี แสดงว่าไม่ได้รับผลจากสงครามการค้ามากนัก จึงไม่น่าจะย้ายฐานการลงทุนออกมา

เวียดนามยืดหยุ่นมากกว่า

สำหรับการประเมินศักยภาพการดึงดูดการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนามมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ต่างกัน โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนามจะมีลักษณะที่ยืดหยุ่นมากกว่า หากอุตสาหกรรมใดที่ต้องการก็จะเข้าไปเจรจาให้สิทธิประโยชน์เต็มที่เพื่อดึงให้เข้ามาลงทุน แต่ก็เป็นจุดอ่อนทำให้อุตสาหกรรมแต่ละรายได้รับสิทธิประโยชน์ต่างกัน ผู้ที่มาที่หลังต่อรองได้มากกว่าก็จะได้เปรียบรายที่มาก่อน ต่างจากไทยที่มีข้อกำหนดชัดเจนทำให้นักลงทุนประเมินรายได้แม่ยำ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่า

“สิทธิประโยชน์ทางภาษีของเวียดนามจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 4 ปี นับจากปีที่มีกำไร หลักจากนั้นอีก 10 ปี จะเก็บภาษีเพียง 25% จากอัตราภาษี 20% และปีที่ 10 ถึงปีที่ 15 เก็บภาษี 50% จากอัตรา 20% ส่วนของไทยในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และลดหย่อนอีก 50% เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งรวมระยะเวลาแล้วก็ไม่ต่างกันมากนัก”

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีความได้เปรียบเรื่องจำนวนแรงงานและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว ในขณะที่ไทยขาดแคลนแรงงาน ค่าจ้างแรงงานสูง แต่ไทยก็มีจุดได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ มีความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิต และที่สำคัญไทยมีห่วงโซ่การผลิตที่ลึกและหลากหลายกว่า ผู้ที่เข้ามาลงทุนสามารถหาซื้อชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ได้เกือบทั้งหมดภายในประเทศ ส่วนเวียดนามยังมีความหลากหลายในการผลิตน้อยกว่า

“เวียดนามก็รู้ถึงจุดอ่อนในข้อนี้ จึงได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ทั้งถนน ระบบราง ท่าเรือ สนามบิน และการเร่งผลิตซัพพลายเชนแต่ก็ยังต้องใช้เวลา และไทยก็ไม่ได้หยุดนิ่งมีการพัฒนาต่อเนื่องโดยตลอด โดยเฉพาะโครงการอีอีซี ทำให้ยังมีระยะห่างในเรื่องนี้อยู่”

เวียดนามเน้นอุตฯไฮเทค

แหล่งข่าวจากนักลงทุนในเวียดนาม กล่าวว่า ในขณะนี้รัฐบาลเวียดนามได้เลือกอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนจะเน้นอุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามมองว่าไทยไม่ควรจะไปแข่งขันการลงทุนหรือเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม ควรจะร่วมมือกันมากกว่า ในขณะที่ไทยพัฒนาทางเศรษฐกิจมานานทำให้มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎระเบียบต่างๆ ที่เข้มงวดมากกว่า รวมทั้งยังขาดแคลนแรงงาน

ดังนั้นอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปลงทุนจึงต่างกัน โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไม่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก แต่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะแรงงานสูง ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ก็จะมาที่ไทย ซึ่งควรจะมุ่งเน้นใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจะดีกว่า

“จากจุดแข็งที่ต่างกัน ทำให้ไม่สามารถนำการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศมาเปรียบเทียบกันได้ อุตสาหกรรมใช้แรงงานสูง ก่อมลพิษไทยก็ไม่อยากให้เข้ามา ดังนั้นจึงควรจะใช้จุดแข็งและจุดอ่อนมาร่วมมือกันจะดีกว่า อย่างเอาเม็ดเงินการลงทุนมาแข่งกัน เพราะอุตสาหกรรมหนักที่เข้าไปลงทุนเวียดนามเช่นโรงถลุงเหล็กก็มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทแล้ว แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงส่วนใหญ่จะมีเม็ดเงินลงทุนไม่มาก”

ควรเน้นไทยลงทุนนอก

นอกจากนี้ ควรจะเน้นการส่งเสริมให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศเพื่อขยายตลาด แบบประเทศญี่ปุ่นหรือไต้หวัน ซึ่งหาก 20 ปีก่อน ไต้หวันไม่เร่งออกมาลงทุนในไทยและอาเซียน

ทั้งนี้ไทยควรมองประเทศที่พึ่งจะก้าวนำไทยเป็นแบบอย่างและเป็นเป้าหมายในการแข่งขันจะดีกว่า เช่น ประเทศไต้หวัน มาเลเซีย ยุโรปตะวันออก เม็กซิโก ชิลี จะดีกว่า โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง จึงควรไปศึกษาเพื่อนำมาปรับปรุงเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยจะเป็นประโยชน์มากกว่า รวมทั้งการเร่งพัฒนาคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคที่จะเข้ามาลงทุน และพัฒนาค่านิยมคนไทยให้อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ

สศอ.ศึกษามาตรการเวียดนาม ดึงอุตฯย้ายฐานหนีสงครามการค้า